วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เมื่อพลังมดล้มช้างที่สระบัว

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“เพราะทะเล คือ ชีวิต และชีวิต คือ ทะเล ออกทะเลจับปูได้กินปู ลงอวนปลาได้กินปลา เราภูมิใจที่คนท่าศาลาสามารถเลี้ยงชาวนครศรีธรรมราช และคนไทยได้ทั้งประเทศ”

นี้คงไม่ใช่คำพูดกล่าวเกินจริง เบื้องหน้าผม คือ ท้องทะเลอ่าวไทยสีคราม ขอบฟ้าเบื้องหน้าจรดขอบน้ำดูไกลสุดตา บริเวณชายหาดมีเพิงไม้ปลูกเรียงรายไปทั่วบริเวณ บางเพิงมีเรือประมงลำเล็กจอดทิ้งไว้ มองไปบนเรือเห็นเครื่องมือหาปลาเตรียมพร้อมสำหรับการออกไปหากินยามน้ำทะเลขึ้น

ผมกำลังอยู่ที่หมู่บ้านสระบัว ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอท่าศาลา นี้คือ ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในนครศรีธรรมราช

ตลอดแนวยาวของพื้นที่ชายฝั่งอำเภอท่าศาลา ชาวบ้านเรียกที่นี่ว่า “อ่าวทองคำ” เป็นพื้นที่ที่ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของอ่าวไทย สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี และสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยโดยรวมกว่า ๕๐๐ ล้านบาทต่อปี

ดังนั้นหากเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผมและคณะ อันประกอบด้วย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการบริหาร (คบ.) เจ้าหน้าที่จากสำนักงบประมาณ สื่อมวลชน และจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมกว่า ๔๐ คน ได้เดินทางมายัง ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อเรียนรู้ถึงเรื่องราวการต่อสู้ของคนในพื้นที่จากสิ่งคุกคามต่าง ๆ เพื่อปกปักรักษาผืนแผ่นดินแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานในอนาคต

ผมอดนึกถึง “โครงการจัดการน้ำมูลค่า ๓.๕ แสนล้าน” ที่ได้รับการต่อต้านจากประชาชนทั่วประเทศขึ้นมาไม่ได้โดยทันที แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ จะมีการระบุไว้ในมาตรา ๖๖ ว่า “บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน”

แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าแทบทุกรัฐบาลต่างละเลยต่อบทบัญญัติดังกล่าว มิหนำซ้ำกลับมีการกระทำที่ตรงกันข้าม เราจึงได้เห็นนโยบาย แผนงาน โครงการต่าง ๆ ที่มองข้ามความสำคัญของเรื่อง “สิทธิชุมชน” ดังกล่าวไป

ณ ริมทะเลบริเวณบ้านสระบัว อันเป็นที่ตั้งของ “สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา” ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จได้ไม่นาน เป็นอาคารชั้นเดียวก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน ด้านหน้าของตัวอาคารหันหน้าสู่ท้องทะเลสีคราม ภายในตัวอาคารมีโต๊ะและเก้าอี้ไว้พร้อมสำหรับการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้

วิดีทัศน์ “คืนชีวิต ให้ทะเล” ถูกนำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่ร่วมกันเป็นอันดับแรก และตามติดด้วยเวทีเสวนาจากนักเล่าเรื่องผู้ทำจริงที่พรั่งพรูเรื่องราวไม่ขาดสาย

๑๐ ปีที่ผ่านมา จึงเป็น ๑๐ ปี ของการเดินทางอย่างยืนหยัดของคำว่า “สิทธิชุมชน” ณ พื้นที่แห่งนี้

ช่วงแรก เป็นการแย่งชิงทรัพยากรในทะเล ทั้งระหว่างชาวบ้านภายในหมู่บ้านด้วยกันเองที่นำเครื่องมือประมงที่ไม่ถูกกฎหมาย อาทิ ยาเบื่อ ระเบิด มาใช้ และระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มประมงพาณิชย์ ที่มีการนำเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาทำการคราดหอยลายวันละ ๕๐ – ๖๐ ลำ จนทำให้ระบบนิเวศน์สูญเสียไป สิ่งมีชีวิตภายใต้ท้องทะเล ทั้งปะการัง สัตว์น้ำ และพืชน้ำต่าง ๆ ถูกทำลาย

สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในชุมชน และเกิดการลอบทำร้ายกัน จนในที่สุดกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” ได้ถูกหยิบยกและนำเข้าไปใช้แก้ไขปัญหา เชื้อเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมปรึกษาหารือ มีการออก “ข้อบังคับตำบลท่าศาลา ว่าด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” กำหนดกติกาและบทกำหนดโทษการทำประมงที่ทุกฝ่ายยอมรับ

ช่วงที่สอง มีแผนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือโครงการเซ้าท์เทิร์นซีบอร์ด เข้ามาในพื้นที่ นำมาซึ่งการต่อต้านของคนในพื้นที่อย่างหนัก ผลของการต่อสู้อย่างหนักหน่วงนำมาสู่การจัดทำ “สัญญาประชาคม” ร่วมกันของภาครัฐและคนในพื้นที่

ช่วงที่สาม มีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจากบริษัทข้ามชาติ “เชฟรอน” เข้ามาดำเนินการที่นี่ ถือเป็นอภิมหาโปรเจกต์

การต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ เครื่องมือทุกอย่างถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ ทั้งการเดินขบวน ร้องเรียน การเข้าพบ เพื่อคัดค้านโครงการทุกรูปแบบ และในที่สุดเครื่องมือที่ชื่อว่า “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “เอชไอเอชุมชน” ก็ถูกนำมาปรับใช้ เพื่อยืนยันว่า ที่นี่ คือ อ่าวทองคำ คือ แหล่งผลิตอาหารทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของอ่าวไทย แม้ปัจจุบันโครงการนี้ยังไม่หยุดการดำเนินการ แต่ทิศทางที่เห็นชัดคือ ทางเชฟรอนได้ประกาศชะลอโครงการบนพื้นที่นี้ไปแล้ว

ถ้อยคำจากนักเล่าเรื่องทั้งจาก “ทรงวุฒิ พัฒแก้ว” หรือ “หนู” ชายหนุ่มวัย ๓๐ ปีเศษ แกนนำคนสำคัญในพื้นที่ กับ “ประสิทธิชัย หนูนวล” นักวิชาการภายนอกที่ลงมาทำงานในพื้นที่ โดยยอมทิ้งเป้าหมายการเรียนปริญญาเอกไว้เบื้องหลัง ได้ปลุกเร้าคนฟังให้ตื่นตัว ทึ่ง และศรัทธาต่อการต่อสู้ของคนในพื้นที่เสียยิ่งนัก

ภายหลังการนำเสนอ มีผู้เข้าประชุมคนหนึ่งได้ตั้งคำถามต่อคนในพื้นที่อย่างน่าสนใจว่า

“มองประสิทธิชัย ซึ่งเป็นคนภายนอกที่เข้ามาทำงานในพื้นที่อย่างไร ?”

“เขาเหมือนอากาศครับ เป็นผู้เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างพื้นที่กับระดับชาติได้เป็นอย่างดี มีอะไรใหม่ๆจากภายนอกเขาก็นำเอาเข้ามาให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ และปรึกษาหารือกัน และเป็นผู้นำพาข้อมูลและความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ไปสู่หน่วยงานต่าง ๆ ภายนอก ให้เข้าใจเรื่องราวของคนที่นี่มากขึ้น เขาจึงเหมือนอากาศที่คอยเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ให้มาเจอกัน”

หลังจากนั้น "นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ" เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

หนึ่ง ได้เห็นกระบวนการทำงานของคนที่นี่ ที่พวกเขาไม่คิด “จะฝากปัญหา” ไว้กับคนอื่น แต่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาด้วยสองแรงและพลังเล็ก ๆ ที่กล้าแกร่งของตัวเอง

สอง คนที่นี่มีการทำงานตามกลยุทธ์ของซุนวู ที่ว่า “รู้เรา รู้เขา รบร้อย บ่พ่าย” ซึ่งจะเห็นได้จากเริ่มต้นด้วยการ “รู้เรา” ก่อน มีการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ ที่รอบด้าน แล้วจึง “รู้เขา” โดยการศึกษาข้อมูลจากสิ่งคุกคามต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับใช้ในการกำหนดวิธีการทำงานต่อไป

สาม ปัจจัยคุกคามที่ถาโถมเข้ามาในพื้นที่ เนื่องมาจาก
(๑) สงครามแย่งชิงฐานทรัพยากรโดยละเลย “สิทธิชุมชน”
(๒) โครงสร้างฐานอำนาจ ที่อำนาจการตัดสินใจยังอยู่ที่ข้างบน ฉะนั้น ทางออกที่สำคัญก็คือ “การกระจายอำนาจ” ลงไปยังข้างล่างหรือพื้นที่โดยเร็ว และ
(๓) นี้คือปัญหาที่เกิดจาก “ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ที่เมื่อได้อำนาจไปแล้ว ก็คิดว่าประชาชนมอบอำนาจมาให้ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่เป็นฐานเสียงอย่างจริงจัง ทางออกที่ดีก็คือการสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ให้ขยายวงให้มากที่สุด

สี่ แนวทางสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ก็คือ การเสริมสร้าง “พลังพลเมือง” ให้เข้มแข้ง ให้พลังพลเมืองเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการ “เฝ้าระวัง เป็นธุระและสนใจไปทุกเรื่อง”

สี่ข้อเสนอของ "นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ" ทำให้ผมนึกถึง “พลังมด” ขึ้นมา เราคงเคยเห็นมดต่างช่วยกันขนย้ายอาหารที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันหลาย ๆ เท่าไปยังรังของพวกมันได้ ซึ่งมีสัตว์ไม่กี่ชนิดที่มีความสามารถเช่นนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านสระบัวนี้ สามารถนำมาเปรียบเปรยกับการต่อสู้ของมนุษย์ต่อโครงการพัฒนาของรัฐที่มีขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังเป็นรูปธรรมของการปฏิบัติตามมาตรา๖๖ ในเรื่อง “สิทธิชุมชน” ที่ชัดเจนที่สุด

ผลจากการต่อสู้ของชุมชนแห่งนี้ ทำให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ เห็นพ้องกันว่าสมควรประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณะ โดยมอบรางวัล “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๖” กรณีที่มีการนำเครื่องมือ “เอชไอเอชุมชน” ไปพัฒนาจนเกิดเป็นรูปธรรม โดยคนในชุมชนจะเข้ารับรางวัลในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

ก่อนถึงเวลาปิดเวที ณ วันนี้ “คุณรัตนา สมบูรณ์วิทย์” กรรมการสุขภาพแห่งชาติที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ได้ทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวขอบคุณและปิดเวที

ส่วนผมกลับเกิดบางความรู้สึกในใจ ซาบซึ้งและศรัทธาไปกับบทเรียนอันทรงคุณค่ายิ่งครั้งนี้ ในกระบวนการของ “พลังมด” ที่หาญกล้าลุกขึ้นต่อสู้กับ “พลังช้าง” อันเป็นภัยคุกคามทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จึงขอยกมืออ่านบทกลอนที่แต่งขึ้นสด ๆ ในระหว่างที่นั่งฟังการเล่าเรื่องไปด้วย ภายใต้ชื่อ “พลังมดที่สระบัว” ว่า

…..ทอดสายตา แลมุ่ง ไปตรงหน้า........จรดขอบฟ้า ทะเลใส ดูไร้คลื่น
มองเผินเผิน ชีวิต ทุกวันคืน..............ดูราบรื่น มีสุข ไร้คลื่นลม

…..แกะสกัด ย้อนถอย รอยวิถี .......... ณ ที่นี้ ประชา เคยขื่นขม
เป็นพื้นที่ หมายปอง ของทุนนิยม.......... ดาหน้ามุ่ง ถาโถม สู่ชุมชน

…..ถูกรุกราน นานา สารพัด............ สิ่งคุกคาม เปลี่ยนผลัด แสนสับสน
นโยบาย เปลี่ยนพื้นที่ เปลี่ยนชุมชน........ สู่เป้าผล เมืองท่า อุตสาหกรรม

……โรงไฟฟ้า ท่าเรือ มากันครบ........... มาบรรจบ ลงพื้นที่ จนบอบช้ำ
ทำไมหนอ พื้นที่เรา จึงถูกกระทำ...........แสนระกำ สิ้นสูญ เพราะทุนระดม

…..เราจะปล่อย ให้เป็น แบบนั้นหรือ........เราจะปล่อย วางมือ สิ่งถาถม
เราจะปล่อย ให้ความสวย ของคลื่นลม........ธรรมชาติ สวยสม เปลี่ยนได้ไง

…..ขอปลุกคน รวมคน คนพื้นที่...........วางวิธี ต่อสู้ ศัตรูใหญ่
เดินขบวน ร้องเรียน ทุกที่ไป.............. หวังขับไล่ สิ่งชั่วร้าย ให้พ้นมือ

…..เสริมแนวร้อน ด้วยแนวเย็น คู่ขนาน......สร้างสะพาน สานผู้คน ให้เชื่อถือ
ชวนทุกฝ่าย เข้ามารวม มาร่วมมือ...........สมัชชา สุขภาพคือ กระบวนการ

……เอชไอเอ ชุมชน หยิบมาสู้............. สร้างความรู้ ว่านี่คือ แหล่งอาหาร
อ่าวทองคำ มิใช่ อ่าวพลังงาน..............เก็บเอาไว้ ให้ลูกหลาน เถิดคนไทย

…..นี่คือ ตัวอย่าง ความเข้มแข็ง...........การร่วมแรง ของผู้คน คนใจใหญ่
มิยอมแพ้ ยกธง ยอมปราชัย.............. สู้ด้วยใจ ด้วยข้อมูล สันติวิธี

…….หยิบเครื่องมือ จากกฎหมาย สุขภาพ......นำมาขับ นำมาเคลื่อน งานที่นี่
แปลงเปลี่ยนปรับ จากตัวบท บรรดามี.........สู่วิถี จนเกิด รูปธรรม

……ทอดสายตา แลมุ่ง ไปตรงหน้า...........ด้วยศรัทธา บังเกิด แสนสุขล้ำ
ได้บทเรียน จากคุณครู คนผู้ทำ.............ขอเอ่ยคำ ว่า “คุณแน่ แน่จริง ๆ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น