วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนามตอนที่ ๑ : จากสี่แยกอินโดจีน กับเส้นทางหมายเลข ๙

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกรัก

กว่า ๘ ชั่วโมงจากจังหวัดมุกดาหาร พ่อเพิ่งจะเดินทางมาถึงโรงแรม Camellia Hue ที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม น้องวินคงจำได้ดีเพราะนี้เป็นโรงแรมเดียวกับที่ลูก แม่ และพ่อ มาพักเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว

เช้านี้ระหว่างข้ามแดนมายังสะหวันนะเขต ประเทศลาว ช่วงประทับตราขาออกในพาสปอร์ตพ่อเหลือบไปเห็นวันเดินทางมาเวียดนามของครอบครัวเราครั้งที่แล้วพอดี ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ไม่น่าเชื่อนะครับลูก ๓ ปีผ่านไปรวดเร็วมาก พอ ๆ กับความเปลี่ยนแปลงบนเส้นทางจากตะวันตกจรดตะวันออกสายนี้

พ่อแอบขำทุกครั้งที่น้องวินมักจะหัวเราะ ยามเราขับรถผ่านสี่แยกอินโดจีนหรือสี่แยก “ร้องโพธิ์” ที่จังหวัดพิษณุโลก และน้องวินก็จะหันไปมองหลักกิโลเมตรขนาดใหญ่มากอย่างตั้งใจและบางทีก็อ่านออกเสียงดัง ๆ ซึ่งเขียนบอกไว้ว่า อีกกี่กิโลเมตรจะถึงกรุงเทพ ย่างกุ้ง ดานัง คุนหมิง และสิงค์โปร์

“ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมลูก ที่เราจะสามารถเดินทางข้ามประเทศด้วยรถยนต์”

มันดูเหมือนเป็นเพียงหลักกิโลเมตรธรรมดาที่ไร้ความหมาย แต่จริง ๆ แล้วจากสี่แยกแห่งนี้สามารถเดินทางขึ้นเหนือถึงนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน ลงใต้ถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ไปทางตะวันออกได้ถึงท่าเรือดานัง เวียดนาม และทางตะวันตกถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพราะจุดที่ตั้งของสี่แยกนี้ คือ ศูนย์กลางของ East-West Economic Corridor และ North-South Economic Corridor

น้องวินอย่าเพิ่งทำหน้านิ่วคิ้วขมวดครับ พ่อกำลังจะอธิบายต่อว่าคืออะไร

ย้อนไปเมื่อปี ๒๕๓๕ ประเทศไทยได้ลงนามในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cooperation: GMS) ร่วมกับประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และจีน เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในการสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ สนับสนุนการจ้างงาน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

ผ่านไปร่วม ๑๓ ปี การประชุม GMS ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๔-๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่นครคุนหมิง ประเทศจีน ผู้นำทั้ง ๖ ประเทศได้ออก "แถลงการณ์ร่วมคุนหมิง (Kunming Declaration)" เรื่องหนึ่งในแถลงการณ์ฉบับนี้ คือ การพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) ๓ แนว คือ แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East -West Economic Corridor) เชื่อมโยงพม่า ไทย ลาว เวียดนาม แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงจีน -ลาว–ไทย กับ จีน-เวียดนาม และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) เชื่องโยงไทย กัมพูชา เวียดนาม เข้าด้วยกัน

ซึ่งวันนี้พ่อได้กลับมาอยู่บนเส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตกนี้อีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่า “เส้นทางหมายเลข ๙” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแนวที่เกิดขึ้นจากแถลงการณ์ร่วมคุนหมิงนั่นเอง

ต้องบอกลูกว่า เพราะสะพานมิตรภาพแห่งที่สอง ที่จังหวัดมุกดาหาร ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทยกับแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายปี ๒๕๔๙ นี้เอง ที่ทำให้เส้นทางสายนี้ที่มีความยาวกว่า ๑,๔๕๐ กิโลเมตร บรรจบเข้าหากัน

เส้นทางนี้เริ่มจากเมืองท่าดานังของเวียดนาม ผ่านเมืองเว้ กวางจิ ดองฮา และเข้าสู่เมืองลาวบาว อันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามซึ่งติดกับชายแดนลาว จากนั้นผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขตในลาว และข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ ๒ ข้ามแม่น้ำโขงสู่ประเทศไทยที่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย จนไปสุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเข้าต่อไปยังประเทศพม่าที่เมืองมะละแหม่ง ขณะนี้เส้นทางจากไทย-เวียดนามใช้ได้สมบูรณ์แล้ว มีเพียงบางช่วงในพม่าที่ยังก่อสร้างอยู่เพียงเท่านั้น

การท่องเที่ยวดูจะได้รับอานิสงส์จากถนนสายนี้มากที่สุด ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยหลายสิบคันรถใช้เส้นทางจากมุกดาหาร ผ่านลาวเพื่อมุ่งไปเที่ยวเวียดนาม เพราะนี้เป็นการเที่ยว “เมืองนอก” ในราคาที่ถูกที่สุดและสะดวกที่สุดแล้ว

แม้ว่าตอนนี้จะ ๙ โมงกว่าแล้ว แต่อากาศยังหนาวเย็นอยู่มากจนพ่อต้องใส่เสื้อถึง ๒ ชั้น พวกเรา พ่อหมายถึง พี่ป้าน้าอา ในนามของนักเรียน “โครงการพัฒนาศักยภาพนักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม รุ่นปี ๒๕๕๖” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “นนส.” ที่ถือว่าการเดินทางในครั้งนี้คือการปิดหลักสูตรโครงการ

และการเดินทางมาประเทศเวียดนาม คือ การเรียนรู้ความเป็นอาเซียนผ่านประเทศเวียดนามแห่งนี้ เพราะในปี ๒๕๕๘ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัว เวียดนาม คือ ประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องเรียนรู้ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี รากเหง้าโบราณกาล และความทันสมัยของทุนนิยมที่ถาโถมเข้ามา และเวียดนามรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้ดีประเทศหนึ่งเลยทีเดียว

กว่า ๒๔๐ กิโลเมตร จากสะพานมิตรภาพแห่งที่ ๒ เวลาผ่านไป ๓ ชั่วโมง พ่อก็เดินทางมาถึงด่านลาวบาว ด่านพรมแดนกั้นระหว่างประเทศลาว-เวียดนาม และนับเวลาไปอีกจากนี้กว่า ๑ ชั่วโมง ที่ต้องรอคอยการตรวจเช็คตามระบบคนเข้าเมืองของประเทศเวียดนาม อีกทั้งตอนนี้ทางการเวียดนามเข้มงวดเรื่องการป้องกันยาเสพติดเข้าประเทศอย่างมาก จึงต้องรัดกุมในการตรวจสอบคนเข้าประเทศเลยทีเดียว

แค่ผ่านมา ๒ ด่าน ต้องใช้เวลารวมกว่า ๓ ชั่วโมงแล้วกับพิธีการต่างๆในการตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่ด่านไทย – ลาว กับด่านลาว – เวียดนาม จนพ่ออดคิดไม่ได้ว่านี้เป็นเรื่องต้องปรับปรุงเป็นอย่างยิ่งเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” อย่างสมบูรณ์แบบในปีหน้า ต้องหาทางลดเวลาลงมาให้ได้ เพื่อทำให้การไปมาหาสู่กันมีความคล่องตัวมากกว่านี้

สำหรับความน่าสนใจของด่านลาวบาว คือ ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เดิมลาวบาวนั้นเป็นเมืองชายแดนที่ไม่ได้รับความสนใจและเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของจังหวัดกวางจิ ประเทศเวียดนาม แต่เมื่อรัฐบาลเวียดนามตัดสินใจเปิดด่านพรมแดน (ลาวบาว-แดนสะหวัน) อย่างเป็นทางการที่นี่ ทำให้การค้าข้ามแดนระหว่างเวียดนามกับลาว รวมทั้งการลงทุนจากนักธุรกิจไทย มีการเติบโตอย่างมากในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น ลดปัญหาความยากจน พัฒนาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน และความสะดวกในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เศรษฐกิจของลาวบาวยังมีการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรสู่การเป็นแหล่งการค้าที่มีความคึกคัก มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งล้วนแต่มีส่วนช่วยในการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของคนในท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดกวางจิเป็นอย่างยิ่ง

จากด่านลาวบาว พ่อยังอยู่บนถนนหมายเลข ๙ เช่นเดิมครับลูก เรากำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองเว้ เมืองหลวงเก่าของประเทศเวียดนาม แต่เราต้องผ่านเมืองดองฮาก่อน

๒ ชั่วโมงจากด่าน กับระยะทางเพียง ๘๔ กิโลเมตร เราก็มาถึง ณ ที่แห่งนี้

ภาพของสงครามเวียดนามที่ทำให้คนเวียดนามกว่า ๓ ล้านคนต้องสังเวยชีวิตซ้อนเข้ามา (ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๘) ในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่พ่อเคยดู เราจะเห็นอุโมงค์ที่ชาวบ้านช่วยกันขุดในป่า เพื่อหนีภัยสงครามจากอเมริกาที่เข่นฆ่าชาวเวียดนาม รวมถึงหลบภัยจาก "ฝนเหลือง" หรือ “สารสีส้ม” หรือ “สารไดออกซิน” ที่อเมริกาใช้โปรยลงบนพื้นที่ของเวียดนาม เพื่อกำจัดแหล่งหลบซ่อนของทหารชาวเวียดนาม และทำให้ชาวเวียดนามนับล้านคนล้มป่วยเป็นมะเร็ง ทารกเกิดมาพิกลพิการ ชาวบ้านจึงต้องเข้าไปอยู่และใช้ชีวิตในนั้น

ที่นี่ก็เช่นเดียวกันชาวบ้านวินห์ม๊อคช่วยกันขุดอุโมงค์ที่มีความยาวกว่า ๒ กิโลเมตร ใช้เวลาร่วม ๒ ปีถึงจะเสร็จ และชาวบ้านกว่า ๓๐๐ คน รวม ๖๖ ครอบครัว ลงไปอยู่ในอุโมงค์นานถึง ๕ ปีเลยทีเดียว นับจากปี พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๔ เล่ากันว่ามีเด็กที่เกิดในอุโมงค์ด้วยถึง ๑๗ คน เป็นเด็กที่ไม่เคยเห็นแสงตะวันหรือโลกภายนอกเลย และที่สำคัญเด็กเหล่านี้พูดไม่ได้เลยซักคนเดียว เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง !!!

แต่เป็นที่น่าเสียดายมากที่เสียเวลากับพิธีการที่ด่านไปหลายชั่วโมง รวมทั้งการเดินทางบนถนนที่ชำรุดและมีหลายช่วงที่กำลังปรับปรุง จึงทำให้การเดินทางทริปนี้ต้องตัดรายการไปชมอุโมงค์ดังกล่าวออกไป

เดินทางต่อไปอีก ๖๕ กิโลเมตร เราก็ถึงเมืองเว้เสียทีในตอนเย็นย่ำตะวันเมืองเวียดนามกำลังใกล้ลับฟ้า

ซินจ่าวเวียดนามครับลูก "ซินจ่าว" เป็นภาษาเวียดนาม "ซิน" แปลว่า "ขอ" "จ่าว" แปลว่า "สวัสดี"

ส่วนคำว่า “เวียต” หรือ “เวียด” เป็นคำที่คนจีนเรียกคนเวียดนามหรือ “คนญวน” มีหลายความหมาย เช่น “ไกลออกไป” หรือ “เดินทางข้าม” หรือ “เดินทางผ่านไป” หรือ “เดินทางถึง” หรือ “ลุกขึ้น” หรือ “ทรงตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” คำว่า “นาม” มีความหมายว่า “ทิศใต้” "เวียดนาม" จึงแปลว่า "ทิศใต้ที่ไกลออกไปจากประเทศจีน" นั้นเอง

เว้เป็นเมืองหลวงเก่าของเวียดนามในสมัยราชวงศ์เหงียนช่วงปี พ.ศ. ๒๓๔๕ - ๒๔๘๘ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหอมหรือแม่น้ำเฮือง (ซง แปลว่า แม่น้ำ เฮือง แปลว่าหอม) มีชื่อเสียงมาจากโบราณสถานที่มีอยู่ทั่วเมือง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วย สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเว้ส่วนใหญ่จะเป็นป้อมปราการ พระราชวังหลวง และสุสานจักรพรรดิ หมู่โบราณสถานในเมืองเว้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖

ใคร ๆ มาเวียดนามก็คงไม่พลาดที่จะชม “หุ่นกระบอกน้ำ” กุญแจทางวัฒนธรรมดอกสำคัญที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้ชีวิตและประวัติศาสตร์การสร้างชาติของชาวเวียดนาม

พ่อไม่รู้ว่าคนอื่นมองหุ่นกระบอกน้ำกันอย่างไร แต่สำหรับพ่อแล้ว หุ่นกระบอกน้ำสอนให้พ่อได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาของคนเวียดนามในการจัดการกับภัยคุกคาม ทั้งที่เป็นภัยธรรมชาติและภัยมนุษย์

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้สอนให้คนเวียดนามกล้าแกร่งไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และไม่ก้มหัวให้แก่ศัตรูผู้รุกราน โดยเฉพาะศัตรูชาวต่างชาติ

ความโกรธ เกลียด เคียดแค้น และชิงชังศัตรูต่างชาติฝังรากลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรม และวิธีคิดของคนเวียดนามอย่างแยกไม่ออก บทเรียนประวัติศาสตร์สอนให้คนเวียดนามมองคนต่างชาติด้วยความหวาดระแวง พวกเขารักอิสรภาพและเอกราชของตนเองเหนือสิ่งอื่นใด

อีกทั้งอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีต่อวิถีชีวิตของคนเวียดนาม ภัยธรรมชาติ เช่น พายุใต้ฝุ่น น้ำท่วม ความแห้งแล้ง หมอกเค็ม และความหนาวเย็น คือสิ่งที่คนเวียดนามต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา ภัยธรรมชาติเหล่านี้อยู่ใกล้ตัว พร้อมที่จะสร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรและบ้านเรือนได้ทุกเมื่อ แต่คนเวียดนามก็รู้ว่าพวกเขาไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากธรรมชาติเหล่านี้ เพราะธรรมชาตินั้นมีทั้งด้านคุณและโทษอยู่ในตัว พวกเขาต้องเตรียมความพร้อมและต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าเพื่อจะเอาตัวรอดในท่ามกลางภัยคุกคาม

นอกจากนั้นแล้วคนเวียดนามมีคติความเชื่อที่สัมพันธ์กับน้ำอย่างแนบแน่น จากนิทานปรัมปราคนเวียดนามเชื่อว่าตนเองมีเชื้อสายมาจากพญามังกรจากท้องมหาสมุทร และยังมีสุภาษิตที่ถ่ายถอดความเชื่อว่าน้ำเป็นบ่อเกิดของความสุข ความทุกข์ หรือความยากดีมีจน น้ำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของความเป็นชาติเวียดนาม

เหล่านี้จึงปรากฏผ่านการแสดงหุ่นกระบอกน้ำ เล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเวียดนามได้อย่างน่าตื่นตาและอลังการ และยังคงเป็นปริศนาของชาวเวียดนามที่คนทั่วไปไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า กรรมวิธีการชักหุ่น การละเล่นหลังม่านไม้ไผ่นั้น เขาทำกันอย่างไร

เวียดนามวันแรก กับการเดินทางครั้งที่สอง ด้วยวัยวันและมุมมองที่ต่างไปจากเดิม เรื่องที่พ่อเล่าให้ลูกฟังจึงเต็มไปด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ เราอยากรู้จักประเทศใดในวันนี้ รากของอดีต คือ คำตอบในการเรียนรู้ครับลูก

อ้อ ! พ่อลืมเล่าให้ลูกฟังไปเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ การเดินทางมาครั้งนี้ พวกเรามีการเตรียมตัวสำหรับ นนส. ทุกคน ที่ต้องอ่านหนังสือมาล่วงหน้า ๒ เล่ม คือ เรื่อง “บูรพาภิวัฒน์” ของ “อเนก เหล่าธรรมทัศน์” กับ “ยลญวน” ของ “พิษณุ จันทร์วิทัน” และระหว่างเดินทางชาว นนส.ก็จะหยิบยกสาระจากการอ่านหนังสือมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

ตอนนี้ก็ดึกมากแล้ว เวลาที่เวียดนามไม่ต่างจากเวลาที่บ้านนครสวรรค์ พรุ่งนี้มีอีกหลาย ๆ สถานที่ที่พ่อจะไปเยี่ยมชม จะได้เก็บเกร็ดต่าง ๆ มาเขียนจดหมายถึงลูกในฉบับต่อ ๆ ไป และที่พ่อเล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ลูกได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ในเพื่อนบ้านของเรา แต่มีความสำคัญมากที่ลูกต้องเรียนรู้อย่างใกล้ชิดและอย่ากระพริบตาเลยทีเดียวครับ

รักลูกมาก

“พ่อโต”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น