วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“จุดประกาย (ไฟ) ความคิด” ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

เวลาพูดคำว่า “จุดประกายความคิด” ผมอดที่จะนึกถึงประภาคาร ดวงประทีปแห่งท้องทะเลขึ้นมาไม่ได้ ท่ามกลางความมืดมิดของเวิ้งทะเลกว้าง ประภาคารกำลังทำหน้าที่ส่องแสง บอกทิศทางที่เรือควรมุ่งไป แสงไฟจากยอดประภาคารเป็นเครื่องบอกตำแหน่งแสดงที่หมาย และอำนวยความสะดวกให้เรือเข้าร่องน้ำหรือถึงฝั่งได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังคอยเตือนเวลาที่เรือวิ่งเข้าหากองหิน ที่ตื้น หรือสิ่งกีดขวางซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ

เช่นเดียวกับเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมโดยเครื่องมือ ภายใต้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ข้อ

หนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนการพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในแต่ละพื้นที่

สอง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

สาม เพื่อร่วมกันวางแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ ในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

สี่ เพื่อสร้างความสัมพันธภาพที่ดีระหว่างภาคีเครือข่าย และการช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ระหว่างจังหวัดและภายในภาค

น้องสาวร่วมงานที่รับผิดชอบในเวทีได้ชวนผมให้ไปช่วย “จุดประกายความคิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” กับผู้เข้าร่วมที่เป็นตัวแทนภาคีเครือข่ายจาก ๒๖ จังหวัดภาคกลาง ราว ๑๒๐ คน ในภาคบ่าย ๑ ชั่วโมงแรกของวันจัดงาน

แต่ก่อนที่จะไปถึงบรรยากาศในเวทีช่วงที่ผมทำหน้าที่ “จุดประกาย” ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายยิ่งนัก เพราะในฐานะผู้มา “จุดประกายให้เกิดแสงไฟเล็กๆที่จะกระจายส่องแสงไปทั่วทุกพื้นที่” ทำอย่างไรเวลา ๑ ชั่วโมงในภาคบ่าย ที่เป็นเวลาแห่งการ “ง่วงเหงาหาวนอน” จะเต็มไปด้วย “การลุกโชนของ (ไฟ) ความคิด” แทน

ผมขอเริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายคำว่า “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” อีกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จริงๆแล้วในเรื่องนี้ผมได้เคยเขียนไว้ในเรื่องเล่าเรื่อง รู้จัก “นโยบายสาธารณะ” ที่มีชีวิต ไว้แล้ว (http://bwisutttoto.blogspot.com/2014/01/gdgdsgd.html)

“นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” ก็คือ “ทิศทางหรือแนวทางที่สังคมโดยรวมเห็นว่าหรือเชื่อว่า ควรจะดำเนินการไปในทิศทางนั้น ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ/สุขภาวะ มุ่งเน้นที่กระบวนการของการดำเนินการให้ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะ มากกว่าคำประกาศหรือข้อเขียนที่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นทางการ”

๑๓.๑๕ น. ผมมาถึง ณ ห้องประชุม “แคทรียา ๑” ผู้เข้าร่วมประชุมต่างกำลังให้ความสนใจต่อการนำเสนอผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่จัดขึ้นในช่วงเช้า ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีอย่างมาก ที่ผมได้มีโอกาสรับฟังประเด็นในช่วงเช้า และสามารถนำมาต่อเชื่อมกับสิ่งที่ผมเตรียมมาได้เป็นอย่างดี

ผมกวาดสายตามองไปรอบๆห้อง ที่เต็มไปด้วยหญิง ชาย หนุ่ม สาว ผู้สูงอายุ ราว ๓๐ % เป็นคนที่ผมเคยพบเจอมาในเวทีประชุมต่างๆ บ้างแล้ว แต่คนอีกกลุ่มใหญ่ คือ “ภาคีหน้าใหม่ล้วน ๆ” ทำให้ผมต้องปรับวิธีการนำเสนอให้ง่ายที่สุดแทน

ผมเริ่มต้นบรรยากาศ “จุดประกายไฟความคิด” ด้วยการชวนคิดชวนคุยใน ๓ เรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง การยกข้อความเพื่อกระตุกต่อมคิด ใน ๓ ข้อ คือ
• เราจะปล่อยให้บ้านเกิดเมืองนอน (หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ภาค ประเทศ) พัฒนาไปอย่างไร ?
• บ้านเกิดเมืองนอนเรา ไม่มีทุกข์ มีแต่สุข ไม่ต้องทำอะไรแล้ว คนเราก็มีความสุขดีอยู่แล้ว
• ทีมงานเรา เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง พร้อมที่จะสรรสร้างงานสาธารณะที่มีเป้าหมายเพื่อ “ลดทุกข์ สร้างสุข” ให้กับผู้คน

แต่ละข้อที่ผมตั้งคำถาม สังเกตว่าผู้เข้าร่วมเวทีมีอารมณ์ร่วมกับประโยคเหล่านี้ บางคนแสดงความคิดเห็นออกมาดัง ๆ บางคนพยักหน้า บางคนส่ายหน้า ผมเริ่มดีใจที่สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีมีการตอบสนองที่ดี

เรื่องที่สอง ฐานความเชื่อ เพื่อโน้มน้าวให้คนร่วมเวทีเห็นคล้อย ๓ ประการ คือ
• เราสามารถกำหนดอนาคต หรือลดทุกข์ สร้างสุข ให้กับบ้านเกิดเมืองนอนได้
• การรวมพลังกัน เป็นพลังอันสำคัญในการพัฒนา
• เรานี้ล่ะ....เป็นบุคคลสำคัญในการทำให้บ้านเกิดเมืองนอนเราเป็นเมืองแห่งความสุข

สังเกตจากแววตาผู้เข้าร่วม ผมคาดคะเนว่าฐานความเชื่อ ๓ ข้อ นี้ น่าจะทำให้พลังในจิตใจของผู้ฟังฮึกเหิม และอยากจะลุกขึ้นมาทำงานเพื่อ “บ้านเกิดเมืองนอน” ได้บ้างไม่มากก็น้อย

ดังนั้นผมจึงเริ่มเข้าสู่เนื้อหา อันเป็นสาระสำคัญที่วางไว้

เรื่องที่สาม เนื้อหาสำคัญใน ๔ มิติ ประกอบด้วย

มิติที่ ๑ มิติเชิงเครื่องมือ โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเรา “ช่างโชคดีเหลือเกิน” ที่มีกฎหมายกำหนดเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ถึง ๓ รูปแบบ ๓ เป้าหมาย อันได้แก่
• เครื่องมือสร้างภาพฝันหรือพิมพ์เขียว ได้แก่ ธรรมนูญสุขภาพ
• เครื่องมือพัฒนากระบวนการอันนำไปสู่การแก้ปัญหา ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ
• เครื่องมือประเมินผลกระทบอันเกิดจากกิจกรรม โครงการ แผนงาน ได้แก่ เอชไอเอ (HIA)
เป้าหมายสำคัญเพื่อชี้ให้เห็นว่า เครื่องมือทั้ง ๓ ชิ้นนี้ คืออะไร และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพได้อย่างรอบด้าน ตั้งแต่การกำหนดอนาคตข้างหน้า การสร้างกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วม และการประเมินผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรม โครงการ แผนงานต่าง ๆ ทั้งที่มาจากภาครัฐและอื่น ๆ ได้ ไว้อย่างพร้อมแล้ว อยู่ที่เราจะหยิบใช้เครื่องมือนี้นำไปใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ

มิติที่ ๒ มิติเชิงพื้นที่ โดยชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือทั้ง ๓ ชนิดข้างต้น สามารถนำไปใช้ได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด อนุภาค ภาค และระดับชาติ

มิติที่ ๓ มิติเชิงประเด็นปัญหา โดยเน้นย้ำว่าในบ้านเมืองในแต่ระดับมีปัญหาที่หมักหมมในทุกๆด้าน ทั้งด้านสุขภาพ สังคมวัฒนธรรม ประเพณี ปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาทางการบริหารและการเมือง

มิติที่ ๔ มิติทุน โดยชี้ให้เห็นว่าในแต่ละพื้นที่ล้วนมีทุนด้านกำลังคนที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานที่หลากหลาย ฉะนั้นงานสำคัญประการแรก คือ การเชื่อมโยงคนเหล่านั้นให้มาทำมาร่วมกัน ทุนที่ว่า ประกอบด้วย
• ท้องถิ่น อันได้แก่ อบต. เทศบาล อบจ.
• ท้องที่ อันได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล
• ท้องทุ่ง อันได้แก่ กลุ่มคน เครือข่าย ชมรม มูลนิธิ สมาคม ที่ทำงานในพื้นที่
• หน่วยงานองค์กรของรัฐ ทั้งโรงเรียน วัด สถานีอนามัย เกษตรตำบล เป็นต้น

เมื่อบอกเล่าทั้งสามเรื่องจบลง ผมตั้งโจทย์สำคัญให้ผู้แทนของแต่ละจังหวัด ช่วยกันคิดกันว่า “จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพกันอย่างไร” ด้วยโจทย์สำคัญ ๓ ข้อ
• จะนำเครื่องมือชิ้นไหน ไปใช้ในพื้นที่
• ปัญหาสำคัญในพื้นที่ คืออะไร
• แกนนำคนสำคัญในเรื่องนั้น คือใคร

ภายในเวลา ๒๐ นาที ผู้แทนแต่ละจังหวัดก็สามารถค้นหาคำตอบทั้ง ๓ ข้อได้อย่างสมบูรณ์ และบันทึกผลลงในกระดาษใบงานที่มอบให้แต่ละจังหวัดไป ผมอ่านแบบผ่าน ๆ ได้เห็นเป้าหมายทั้งเชิงเครื่องมือ เชิงพื้นที่และเชิงประเด็น ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการหนุนเสริมการทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานใน ๒๖ จังหวัดภาคกลางได้เป็นอย่างดี

“ผมชื่อปราโมทย์ครับ มาจากจังหวัดเพชรบุรี มาเวทีนี้เป็นครั้งแรก แต่หลังจากที่ผมฟังแล้ว ผมสนใจงาน “ธรรมนูญสุขภาพ” ที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นตำบลที่เป็นชาวกะเหรี่ยงเกือบ ๑๐๐ % มีวัฒนธรรมประเพณีที่น่าอนุรักษ์ไว้ สาเหตุที่ผมเลือกพื้นที่นี้ เพราะที่ผ่านมาเคยลงไปทำงานที่นี้ เห็นว่ามีชุมชนมีความเข้มแข็งมาก และสามารถยกระดับจัดทำธรรมนูญสุขภาพของตำบลได้ไม่ยาก”

นี้คือบางข้อความที่ผ่านการนำเสนอของผู้แทนคนหนึ่งในสามคน ซึ่งสรุปผลการพูดคุยกับเพื่อนที่มาจากจังหวัดเดียวกัน และเมื่อเขานำเสนอจบลง เรียกเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมเวทีได้อย่างกึกก้องสนั่นห้องประชุม

๑ ชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว และการทำหน้าที่ของผมในฐานะ “คนจุดไฟ” ก็สิ้นสุดลง ว่าไปแล้ว “การจุดประกายไฟความคิดคนให้คุโชน จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากต่อยาก” แต่หลังจากที่เห็นรอยยิ้มและประกายตาที่ทาบไล้บนใบหน้าของคนกว่า ๑๒๐ คน การทำหน้าที่ของผมในวันนี้จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์และสัญญาณเล็กๆว่า “ประกายความคิดได้เบ่งบานในหัวใจคนในห้องนี้แล้วอย่างแน่นอน” แล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น