วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“ยกระดับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” : ความท้าทายที่รอคลี่คลายและสานต่อ

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

หลังเสร็จสิ้นจากการประชุมที่มีชื่อยากๆ (และอ่านแล้วอาจไม่เข้าใจสำหรับคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานนี้) ว่า “เราจะยกระดับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร????” ตะวันกำลังใกล้ลับฟ้า แดดผีตากผ้าอ้อมสาดส่องชวนให้นึกถึง “ผีซ่อนแอบ” ยามเล่นซ่อนหากับเพื่อนๆในวัยเด็ก

ผมปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามสวนมะพร้าวที่ยืนสูงเด่น แผ่ก้านให้ร่มเงาปกคลุมเส้นทางที่ขนานไปกับสายน้ำแม่กลองซึ่งกำลังไหลรินเอื่อยๆ ลงสู่ปากอ่าวไทยในอีกไม่กี่กิโลข้างหน้า สองข้างทางมีอาคารพาณิชย์และบ้านเรือนปลูกสร้างขึ้นใหม่มิใช่น้อย นี้คือวิถีการเปลี่ยนแปลงที่ย่างเยือนเข้ามาสู่พื้นที่สีเขียวของเมืองสมุทรสงครามแห่งนี้อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

คงไม่แตกต่างจาก “กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ จวบจนปัจจุบัน ที่ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้วในเรื่อง "คุณค่า" สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่ “แก้วสารพัดนึก” ที่จะดลบันดาลได้ทุกประการ แต่เราทุกคนต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ระหว่างที่สองขาปั่นจักรยานไป ใจก็หวนคิดถึง “วิธีการ” ที่จะนำไปสู่การคลี่คลายประเด็นท้าทายนี้ดั่งที่ "นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ" กล่าวไว้ เพื่อนำไปสู่การ “ยกระดับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ให้เครื่องมือชิ้นนี้พัฒนาจนกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สังคมไทยสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาสำคัญของบ้านเมือง เหมือนยามใดที่จะ “ลงมือทำข้าวหม้อแกงหม้อ” เราก็จะหยิบ “พริกแกงสำเร็จรูป” ไปใช้ปรุงรสได้อย่างง่าย ๆ และทันท่วงทีทุกครั้งไป

ย้อนไปเมื่อเช้าวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๗ กรรมการจาก ๓ คณะ อันประกอบด้วย คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ ๖ และครั้งที่ ๗ รวมทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) เดินทางมากันพร้อมหน้า ณ โรงแรมเดอะ เกรซ อัมพวา รีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ที่ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

เป้าหมายของการมาพบกันครั้งนี้ เพื่อระดมความเห็นกันว่า “เราจะยกระดับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร”

ผมขอย้อนทบทวนอีกครั้งสำหรับคนที่เพิ่งรู้จักกับคำว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ”

“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยกำหนดให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดไปแล้ว ๕ ครั้ง มีมติออกมาทั้งหมด ๕๑ เรื่อง

“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” จึงไม่ใช่เวทีประชุม แต่เป็นกระบวนการพัฒนา “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม”

โจทย์ท้าทายสำคัญอยู่ตรงคำว่า “มีส่วนร่วม”

นั้นหมายความว่า ตลอด “วงจรนโยบายสาธารณะ” ตั้งแต่การเกิดประเด็นนโยบาย การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การตัดสินใจเชิงนโยบาย การนำไปสู่การปฏิบัติ และการติดตาม ประเมินผลและรายงานผล ต้องคำนึงถึงการ “มีส่วนร่วม” ทุกขั้นตอน

ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ก็พยายามปรับปรุงพัฒนาจากปีแรก ๆ จนทุกวันนี้เริ่มเป็นระบบมากขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นท้าทายต่อการ “ยกระดับ” ให้ดีขึ้นในอีกหลายประการ

ดังนั้นกิจกรรมหนึ่งในงานนี้ คือ “เวทีเสวนา” ที่เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมพูดคุยรวม ๔ ท่าน ได้แก่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ศ.(เกียรติคุณ) พญ.สยมพร ศิรินาวิน และนายเจษฎา มิ่งสมร โดยมี นส.ณนุต มธุรส เป็นคนชวนคุย

ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านต่างเสนอมุมมองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสาระต่อการยกระดับงานที่ท้าทายยิ่ง

เพราะว่าไปแล้วประเด็นท้าทายจากวงเสวนานี้ คงไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งที่จะสงวนไว้ในอ้อมอกของตน จำเป็นต้องขยายวงและตีแผ่ให้กระจายไปให้ภาคีเครือข่ายและสังคมได้รับรู้ร่วมกัน โดยวาดหวังว่าจะถูกนำไปเป็นประเด็นในการพัฒนาร่วมกันต่อไป

"นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ" อดีตประธานจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ และอดีตประธานจัดสมัชชาปฏิรูป ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงมากต่อกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ได้สรุปประเด็นสำคัญ ท้าทาย แหลมคม ตรงประเด็น และชัดเจนยิ่งนัก รวม ๓ ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติสามารถนำไปใช้ในการปฏิรูปประเทศไทยได้อย่างแน่นอน เพราะหลักการสำคัญ ๓ ประการ คือ การเน้นการมีส่วนร่วม การยึดข้อมูลวิชาการที่มีเหตุผลเป็นพื้นฐาน และการมี “ฉันทามติ” เป็นหลักการที่สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม จุดที่ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญ คือ

ข้อที่ 1 การส่งเสริมการรวมตัวกันและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ยังต้องการการทำงานอีกมากในทุกๆ ด้าน และค่อยๆขยายผลออกไป เราเพิ่งทำงานมาได้ไม่ถึง ๑๐ ปี เดินมาได้ขนาดนี้ถือว่าดีแล้ว แต่ต้องไม่หยุดทำ ต้องทำไปเรื่อย ๆ ขยายผลไปเรื่อย ๆ

ข้อที่ 2 การพัฒนากลไกทางวิชาการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น แต่ต้องบอกว่าปัจจุบันดีกว่าเมื่อ ๙ ปีก่อนมาก ต้องพัฒนาและวางเป้าหมายว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้าต้องดีกว่านี้

ข้อที่ 3 การพัฒนากลไกและกระบวนการให้ได้มาซึ่ง “ฉันทามติ” ยังต้องเร่งพัฒนาอีกหลายด้าน

ประเด็นที่สอง

การทำความเข้าใจต่อคำว่า “ฉันทามติ” ว่ามีความเข้มข้นอยู่ ๓ ระดับ คือ ระดับสูงสุด ทุกคนทุกกลุ่มเห็นด้วย ระดับที่สอง เสียงส่วนใหญ่เห็นไปอย่างนี้ และเสียงส่วนน้อยคือไม่คัดค้านอะไร และ ระดับที่สาม ขับเคลื่อนอยู่ในกลุ่มเสียงส่วนน้อย โดยเสียงส่วนใหญ่ยินดีที่จะเข้ามาร่วมวงด้วย

ซึ่งที่ผ่านมา “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” จะอยู่ในกลุ่มที่สามเป็นส่วนใหญ่

ฉะนั้นคำว่า “ฉันทามติ” ไม่ใช่ทุกคนทุกเสียงต้องเห็นตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเอาเรื่องนั้นทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าไม่มีใครค้าน แล้วคนที่เคลื่อนพร้อมจะฟังความเห็นของคนอื่นแล้วไปปรับ นั้นคือคนในสมัชชาสุขภาพ

การเกิด “ฉันทามติ” มาจากปัจจัย ๓ อย่าง คือ

หนึ่ง ระดับของ “ฉันทามติ” นั้นอยู่ระดับไหน ถ้าระดับสูงที่ไม่มีความขัดแย้งกันก็จะทำงานกันแบบทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน การทำงานร่วมกันก็จะง่าย แต่ถ้ามีระดับ “ฉันทามติ” น้อย ก็จะเริ่มยากในการทำงานขึ้นเรื่อย ๆ ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะการสร้างงานวิชาการขึ้นมารองรับแล้วใช้กระบวนการ “พูดคุย” กันเป็นเครื่องมือ

สอง ความเป็นเพื่อนเป็นเครือข่ายกันหรือความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน จะนำไปสู่การมี “ฉันทามติ” ได้ง่าย และจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ถ้าเป็นศัตรูกัน ไม่ชอบหน้ากัน ก็จะนำไปสู่การมี “ฉันทามติ” ได้ยาก ฉะนั้นงานสำคัญ คือ ความพยายามในการสร้างกัลยาณมิตรระหว่างคนที่เห็นต่าง ให้ทุกฝ่ายเกิด “ความไว้วางใจ” ซึ่งกันและกันให้ได้

สาม ต้องให้ “เวลา” ที่เพียงพอและเหมาะสม อย่าเร่งรีบ ไม่ใช่เจอหน้ากันครั้งเดียว แล้วต้องการ “ฉันทามติ” เลย ต้องใช้เวลาผ่านกลไกและกระบวนการที่เป็นกัลยาณมิตรและเหมาะสม

ประเด็นที่สาม

ข้อเสนอเพื่อการยกระดับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๓ ข้อ

ข้อที่หนึ่ง ต้องยกระดับในเชิงประเด็น โดยต้องกล้านำประเด็นที่มีความแตกต่าง มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงเข้ามาในกระบวนการนี้บ่อย ๆ เพราะต้องเชื่อมั่นในหลัก “ฉันทามติ” ว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ข้อที่สอง ต้องยกระดับของการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ซึ่งอาจแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับแรก การมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นเชิงนโยบาย และการนำไปสู่การปฏิบัติ ระดับที่สอง การสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มคนที่เห็นต่าง คนที่ไม่เคยมาร่วมขบวน คนที่มาร่วมแล้วถอยออกไป จำเป็นต้องหาวิธีการทำงานดึงผู้คนเหล่านี้เข้ามาร่วมให้ได้ ระดับที่สาม การพัฒนากลุ่มเครือข่ายให้เป็นกลุ่มเครือข่ายที่เข้มแข็ง

ซึ่งจากการประเมินพบว่า กลุ่มเครือข่ายพื้นที่มีความเข้มแข็งพอสมควร กลุ่มภาคประชาสังคม ยังสนใจแต่ประเด็นของตนเอง กลุ่มภาควิชาการ ยังไม่ค่อยสนใจซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนแอที่สุด จำเป็นต้องไปศึกษาถึงสาเหตุของความไม่สนใจของกลุ่มคนเหล่านี้ กลุ่มภาครัฐก็เช่นกันที่ยังไม่ค่อยสนใจเพราะเขามีช่องทางเดินของเขา

ข้อที่สาม การยกระดับการทำงานวิชาการให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ที่เรายังพบประเด็นที่ไม่สามารถหา “ฉันทามติ” กันได้ในปัจจุบัน เป็นเพราะงานวิชาการยังสนับสนุนไม่เพียงพอ ซึ่งในทางปฏิบัติในปีนั้นถ้างานวิชาการยังไม่พอก็ควรเอาแค่ที่วิชาการพอ แล้วมาทำงานวิชาการเพิ่มขึ้น ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เรื่องเดียวอาจจะวนเข้ากระบวนการหลายครั้ง งานวิชาการก็จะเข้มข้นขึ้น ในที่สุดมันก็เกิดการขับเคลื่อนได้

เหล่านี้คือประเด็นที่ต้องการ “การคลี่คลาย” ให้เป็นรูปธรรมเพื่อการ “สานต่อ” ในอนาคตอย่างท้าทายต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น