๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
อาจเป็นเพราะ "โรคหัวใจและหลอดเลือด" เป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตของคนไทยสูงเป็นอันดับ ๓ รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุจราจร โดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละประมาณ ๑๘,๐๐๐ ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากปัญหาหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน
ดังนั้นทุก ๆ วันในหลายโรงพยาบาล พยาบาลเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดจึงต้องรับภาระหนักหน่วงในการดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนไม่น้อย รวมถึงยังต้องเท่าทันการดูแลรักษาที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ และเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย
จากสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้ ตั้งแต่การประเมินปัญหาสุขภาพ วิเคราะห์ภาวะ
แทรกซ้อน การรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสุขภาพและพัฒนาศักยภาพผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลได้อย่างเหมาะสม จึงจัดให้มีหลักสูตร “การพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลโรคหัวใจและหลอดเลือด” ขึ้นมา เพื่อให้พยาบาลได้เข้ารับการอบรม ระยะเวลารวมทั้งสิ้น ๔ เดือน
ทำให้ในช่วง ๔ ปีมานี้ ผมจึงได้รับเชิญจากสถาบันโรคทรวงอก ไปเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “National Health Policy” ให้กับผู้เข้ารับการอบรมในทุกปี
ผมอ่านเนื้อหาของหลักสูตรบางส่วนที่แนบมากับหนังสือเชิญ แต่ละหัวข้อจะใกล้ตัวกับกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็นอย่างมาก อาทิ Discharge Planning & Case Management in Cardiovascular, Nursing Outcome in Cardiovascular Patient, การแปลคลื่นไฟฟ้าหัวใจสำหรับพยาบาล, Chest x ray interpretation Computed Tomography Angiography เป็นต้น
สำหรับผมแล้ว นี้คือความท้าทายอย่างยิ่ง อาจเป็นเพราะคนใกล้ตัวที่บ้านก็เคยเป็นพยาบาลด้วยอยู่แล้ว เราจึงแลกเปลี่ยนกันบ่อยครั้งว่า “การพยาบาลแบบเดิมที่เน้นเพียงการตั้งรับ คือ มุ่งเน้นการรักษาที่ตัวโรค ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวด้านสุขภาพได้ การมุ่งเน้นการป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดโอกาสเจ็บป่วย รวมถึงความร่วมมือกันในชุมชน องค์กรและเครือข่าย นี้คือการทำงานเชิงรุกที่สำคัญยิ่ง และเป็นการทำให้วิชาชีพพยาบาลเกิดการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น”
บ่ายโมงตรงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผมเดินทางมาถึงสถานที่บรรยาย ณ ตึกใหม่ ชั้น ๔ ของสถาบันโรคทรวงอก แม้จะเป็นเวลานัดหมายแล้ว แต่ห้องยังว่างอยู่ อาจารย์ที่เป็นผู้ประสานงานแจ้งว่า วันนี้เป็นวันเปิดหลักสูตรอีกห้องหนึ่งที่ผู้อำนวยการสถาบันกำลังปฐมนิเทศพยาบาลที่เข้าอบรมกลุ่มนี้อยู่ เลยทำให้ผมมีเวลาสำหรับการเตรียมบรรยายในช่วง ๓ ชั่วโมงต่อจากนี้เพิ่มขึ้น
พลันสิ้นเสียงที่อาจารย์ของสถาบันแนะนำผมกับผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง ๗๒ คน ซึ่งมีผู้ชายเพียงคนเดียวเท่านั้น ผมจึงเริ่มต้นการบรรยายด้วยการฝากฝังสาวๆ ทั้งสาว (อายุ) น้อย และสาว (อายุ) มาก ให้ช่วยดูแลและทะนุถนอมชายหนุ่มหนึ่งเดียว เสียงหัวเราะจึงดังลั่นห้อง พร้อมกับความเครียดของผู้บรรยายที่บรรเทาลง
เรื่องราวที่ผมนำเสนอ ประกอบด้วยสาระสำคัญ ๔ ส่วน ได้แก่
(๑) ความหมายของคำว่า “สุขภาพ” ในมิติใหม่
(๒) ความเชื่อมโยงระหว่าง “ระบบบริการสุขภาพ” กับ “ระบบสุขภาพ”
(๓) สาระสำคัญโดยย่อของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
(๔) สาระธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ หมวดระบบบริการสาธารณสุข
ทั้งนี้มีการใช้สื่อวีดีโอ ร่วมกับการตั้งประเด็นคำถามให้ผู้เข้าอบรมได้ช่วยกันวิเคราะห์และเสนอความเห็นตามหัวข้อดังกล่าวตลอดเวลา
จากสายตาของผู้เข้าอบรมที่มองมายังผู้บรรยาย และบ่งบอกถึงความสนใจในเนื้อหา อีกทั้งคำตอบหรือข้อคิดเห็นที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเต็มไปด้วยมุมมองที่แปลกใหม่ สอดคล้องกับสิ่งที่ผมบรรยายไปนั้น แต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไป ความตึงเครียดจึงค่อย ๆ หายไป และความสนุกเข้ามาแทนที่ จนเวลาก็หมดลงไปอย่างรวดเร็ว
ผมทิ้งประเด็นสุดท้ายด้วยข้อความว่า “ระบบสุขภาพแนวใหม่มีผลกระทบต่อวิชาชีพของท่านอย่างไร ?” โดยขอให้ผู้เข้าอบรมเขียนใส่กระดาษส่งกลับมา น่าสนใจมากครับกับคำตอบที่ได้รับ ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม
กลุ่มแรก ถือเป็นเรื่องปกติที่คำตอบจะออกมาในลักษณะที่ว่า “ได้รับรู้ ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ได้รู้ว่ามีกฎหมายใหม่ ๆ ได้เห็นทิศทางการทำงานแนวใหม่”
กลุ่มที่สอง อาจจะออกไปในเชิงลบสักหน่อย เช่น เมื่อประชาชนมีสิทธิมากขึ้น จะทำให้พยาบาลมีความเครียดมากขึ้น
กลุ่มที่สาม ออกมาในเชิงบวกและชี้ให้เห็นว่า บทบาทใหม่ของพยาบาลกับระบบสุขภาพแนวใหม่ที่เปลี่ยนไป และพยาบาลต้องปรับตนเองอย่างไรบ้าง
ดังเช่นบางข้อความที่สะท้อนออกมาว่า
“ความตื่นตัวในการส่งเสริมสุขภาพ มากกว่าการตั้งรับผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาล”
“การเปิดรับวิทยากรใหม่ ๆ หรือแนวคิดใหม่ ๆ จากหลายองค์กร ทั้งในวิชาชีพทางการแพทย์ ทางสังคม จากนักเรียน หรือแม้แต่พระสงฆ์”
“ทำให้มีบทบาทในวิชาชีพเพิ่มขึ้น ไม่รอให้ประชาชนมีปัญหาทางสุขภาพเกิดขึ้นก่อน แต่ต้องลงไปค้นหาต้นตอของปัญหาสุขภาพนั้น ๆ”
“เปลี่ยนบทบาทเป็นตัวประสานระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนและสังคมมากขึ้น”
“เราต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการ จากการทำงานเชิงรับเป็นการทำงานในแนวรุก การลงพื้นที่ชุมชน การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีและมีความยั่งยืน สร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลซึ่งกันและกันได้ สามารถจัดการกับปัญหาได้แบบองค์รวม”
“บุคลากรทางสุขภาพต้องปรับเปลี่ยนบทบาทที่นอกจากให้บริการในโรงพยาบาล มุ่งไปสู่การให้บริการเชิงรุกมากขึ้น หาเครือข่ายในส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น”
“วิชาชีพสุขภาพทำงานได้ง่ายขึ้น ปรับตัวทำงานเชิงรุกมากขึ้น ถ้าระบบสุขภาพแนวใหม่เข้มแข็งปฏิบัติได้จริงตามแผนที่ตั้งไว้ ก็จะลดภาระงาน แต่มีคุณภาพมากขึ้น ผลกระทบจะเป็นไปในทางที่ดี”
ผลจากการบรรยายวันนี้ และคำตอบที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมอบรม ทำให้ผมนึกถึง “ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพ” ขึ้นมาโดยทันที
ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการประชุมนานาชาติครั้งที่ ๑ เรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาพ : การเคลื่อนสู่การสาธารณสุขแนวใหม่” ที่จัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๙ ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา จนในที่สุดได้ออกประกาศ “กฎบัตรออตตาวา” หรือ “Ottawa Chater” ที่คนในวงการสาธารณสุขรู้จักกันดี
สาระสำคัญของ “กฎบัตรออตตาวา” เป็นกลยุทธ์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ ให้บรรลุซึ่งสุขภาวะอันสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม บุคคลและกลุ่มบุคคล ซึ่งประกอบไปด้วย ๕ กลยุทธ์คือ
ก. สร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (build healthy public policy)
ข. สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (create supportive environment)
ค. เสริมสร้างกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็ง (strengthen community action)
ง. พัฒนาทักษะส่วนบุคคล (develop personal skills)
จ. ปรับเปลี่ยนบริการสาธารณสุข (reorient health services)
จะเห็นได้ว่าคำตอบที่ผู้เข้ารับการอบรมตอบมานั้น ส่วนใหญ่จะตรงกับกลยุทธ์ที่ ๕ คือ การปรับเปลี่ยนบริการสาธารณสุข ซึ่งในกฎบัตรออตตาวาได้อธิบายไว้ว่า
“ภาระหน้าที่ของระบบบริการสาธารณสุขในการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างบุคคล ชุมชน บุคลากรสาธารณสุข สถาบันบริการสาธารณสุข และรัฐูบาล ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่สุขภาพของประชาชน
นอกเหนือจากงานรักษาพยาบาลแล้ว ภาคสาธารณสุขจะต้องหันมาทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้มากขึ้น โดยจะต้องมีพันธะในการสนับสนุนให้บุคคลและชุมชนมีสุขภาพที่ดีขื้น ในลักษณะที่ไวต่อปัญูหาและสอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชน นอกจากนี้ยังจะต้องเปิดกว้างในการร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น สังคม เศรษฐูกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม
การปรับเปลี่ยนบริการสาธารณสุข จำเป็นต้องให้ความสำคัญในด้านการวิจัยทางสุขภาพ และหลักสูตรการฝึกอบรมของบุคลากรสาธารณสุขสาขาต่างๆ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเจตคติ การปรับทิศทาง และการจัดระบบบริการสาธารณสุขที่เน้นการมองปัญหาของปัจเจกบุคคลในฐูานะคนทั้งคน (องค์รวม)”
แม้จะเป็นเพียง ๓ ชั่วโมงสั้นๆ แต่ในฐานะคนบรรยายก็รู้สึกอิ่มเอมใจมิใช่น้อย เพราะแค่ผู้เข้ารับการอมรมได้มีโอกาสฉุกคิดเรื่องการปรับเปลี่ยนมุมมอง จากบุคลากรที่ทำงานประจำกับการตั้งรับ รอ “ซ่อมสุขภาพ” แปรเปลี่ยนเป็นงานเชิงรุก ที่เป็นอีกด้านของเหรียญ ซึ่งก็คือ “การสร้างสุขภาพ” นี้ก็ถือได้ว่าทั้ง ๗๒ คน ได้เข้าใจเรื่องระบบสุขภาพแนวใหม่ ตามหัวข้อที่ผมบรรยายไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น