๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
“น้องวิน” ลูกรัก
นี้เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่พ่อจะเล่าเรื่อง "เวียดนาม" ที่พ่อได้ไปเรียนรู้มาในช่วงันที่ ๒๐ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ในช่วงบ่ายจนถึงย่ำค่ำของวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ คณะของพ่อได้เดินทางมาถึง “เมืองฮอยอัน” หรือที่คนเวียดนามเรียกว่า “โห่ยอาน” เมืองเล็กๆริมฝั่งทะเลจีนใต้ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม ในเขตจังหวัดกว๋างนาม
ย้อนไปในสมัย “อาณาจักรจามปา” บริเวณนี้เคยเป็นเมืองท่าชื่อว่า “ไฮโฟ” ตั้งอยู่บนปาก “แม่น้ำทูโบน” เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ จะมีชาวต่างชาติมาตั้งถิ่นฐานและค้าขายในเมืองนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งชาวจีน ญี่ปุ่น ดัตซ์ และอินเดีย
เดิมทีเมืองนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งโดยมีคลองสายหนึ่งคั่นอยู่กลางเมือง มีสะพานญี่ปุ่นทอดข้ามคลองเพื่อกั้นแบ่งเขตชุมชนของชาวญี่ปุ่นกับชุมชนที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ตัวสะพานสร้างโดยชาวญี่ปุ่น มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
จนถึงมาถึงช่วงศตวรรษที่ ๑๙ บริเวณปาก “แม่น้ำทูโบน” เกิดตื้นเขิน ประกอบกับเรือบรรทุกสินค้ามีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ไม่สะดวกในการเดินเรือ จึงย้ายท่าเรือไปอยู่ที่ “เมืองดานัง” ซึ่งห่างออกไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตรแทน
แต่ด้วยความเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จึงทำให้ “องค์การยูเนสโก” ได้ขึ้นทะเบียนเขตเมืองเก่าของฮอยอันให้เป็นมรดกโลกในปี ๒๕๔๒ ด้วยเหตุผลว่าเป็นตัวอย่างของเมืองท่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๙ ที่มีการผสมผสานศิลปะและสถาปัตยกรรมทั้งของท้องถิ่นและของต่างชาติไว้ได้อย่างมีเอกลักษณ์ และอาคารต่าง ๆ ภายในเมืองได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี
บ้านโบราณ ตึกเก่าที่เคยเป็นร้านค้าในสมัยนั้น วัดเซน (วัดญี่ปุ่น) ศาลเจ้า(แบบจีน) ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก บ้านบางหลังยังมีผู้สืบทอดมาจนถึงรุ่นที่ ๖ และเครื่องใช้ไม้สอยบางอย่างมีอายุถึง ๒๐๐ ปี บางคนกล่าวว่า “ฮอยอันเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต”
สำหรับคนไทยแล้ว ภายหลังที่มีละคร “ฮอยอัน ฉันรักเธอ” เมื่อปลายปี ๒๕๕๕ ออกมา ทำให้คนไทยหลายคนต่างรู้จัก “ฮอยอัน” มากขึ้น และเดินทางมาเที่ยวที่นี่มากขึ้นเช่นกัน แม้กระทั่งเพื่อนๆที่มากับพ่อในครั้งนี้ก็จะพูดชื่อละครเรื่องนี้กันแทบทั้งนั้น
ทุกวันนี้ “ฮอยอัน” ได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนเป็นจำนวนมาก บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมีร้านอาหารเปิดเรียงรายอยู่มากมาย บางร้านก็ขายอาหารดั้งเดิมที่มีอายุนับร้อย ๆ ปี และราคาไม่แพง ซึ่งยังรักษาเอกลักษณ์ของรสชาติอาหารมาจนทุกวันนี้
มีร้านค้าที่ขายของที่ระลึกโดยเฉพาะภาพเขียนที่มีราคาถูก และร้านโคมไฟที่สร้างสีสันให้ถนนสายนี้น่าเดินเล่นมากยิ่งขึ้น ยิ่งในยามค่ำคืนแล้วโคมไฟหลากสีสว่างไสวสวยงามเต็มท้องถนนไปหมด
ในการมาเที่ยวครั้งนี้ พ่อได้ไปเยือน “สะพานญี่ปุ่น” (Japanese Covered Bridge) อีกครั้ง สะพานแห่งนี้สร้างโดยชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี ๒๑๓๖ หรือเมื่อประมาณ ๔๐๐ กว่าปีมาแล้ว รูปทรงของสะพานมีลักษณะโค้ง มีหลังคามุงกระเบื้องเป็นคลื่น ตรงกลางสะพานมีเจดีย์ทรงจัตุรัส ถือเป็น “สะพานแห่งมิตรไมตรี” ที่ด้านหน้าของสะพาน เป็นลายปูนปั้นรูปทับทิม มีความหมายว่า “ความเจริญรุ่งเรือง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง” สะพานญี่ปุ่นแห่งนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Pagoda Bridge” เนื่องจากมีห้องสำหรับประกอบพิธีกรรมและประดิษฐานสิ่งที่ควรบูชาไว้ด้วย
บริเวณสะพานญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอันมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างพากันถ่ายรูปแน่นขนัด
พ่อและเพื่อน ๆ ได้เดินข้ามสะพานไปยังอีกฟากหนึ่ง พบเห็นบ้านเรือนเก่าสไตล์ญี่ปุ่น จีน และเวียดนามผสมผสานกัน ทอดยาวไปตามถนนทางเดิน ทุกหลังต่างมีเอกลักษณ์พิเศษเป็นของตนเอง ทั้งรูปทรงและลักษณะการออกแบบในรายละเอียดของหน้าต่างและประตูแกะสลัก ลวดลายปูนปั้น หลังคา การประดับโคมไฟ การตกแต่งหน้าร้านขายของสินค้าและของที่ระลึก
สินค้าและของที่ระลึกก็มีหลากหลาย ทั้งผลงานทางศิลปะ หัตถกรรมพื้นเมืองนานาชนิด เช่น ภาพเขียน โคมผ้าไหม เครื่องจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ ผ้า เซรามิก กระเป๋าแผ่นพับที่ส่องกระจก ตลอดจนเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และอีกมากมาย
มีอยู่ร้านหนึ่ง ซึ่งพ่อจำได้ว่าเมื่อ ๓ ปีก่อนพ่อไปแวะซื้อกระเป๋าที่ร้านนี้ จึงเข้าไปชวนคุย และชวนเพื่อน ๆ ที่ไปด้วยเข้าไปซื้อสินค้าประเภทกระเป๋าเสื้อผ้าที่ราคาถูกมาก จนเพื่อนๆซื้อติดไม้ติดมือไปเกือบทุกคน ก่อนออกจากร้านแม่ค้าหยิบของชำร่วย ๓ ชิ้นมาส่งให้ พร้อมกับบอกว่า “ให้” พ่อคิดว่าคงเป็นการแสดงความขอบคุณพ่อที่ช่วยแกขายของได้เงินหลายบาทเลยทีเดียว
คณะของพ่อยังได้เข้าเยี่ยมชมบ้านเก่าแก่ประจำตระกูล ที่ยังคงความงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นบ้านของลูกหลานชาวจีนเก่าแก่อายุเกือบ ๓๐๐ ปี ซึ่งอยู่อาศัยมาถึง ๖ รุ่นแล้ว ภายในบ้านทั้งผนังและคานใต้หลังคามีงานไม้แกะสลักตกแต่งอย่างวิจิตร ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี และยังเป็นที่อยู่อาศัยของทายาทรุ่นที่เจ็ดของตระกูล
ภายในตัวบ้านมีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นสัดส่วนต่างๆ อย่างลงตัว ตั้งแต่ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องสมุด ส่วนที่เป็นหลังคาด้านนอกมุงกระเบื้องสไตล์ฮอยอัน แต่คานเพดานด้านในเป็นไม้ มีโต๊ะเก้าอี้ฝังมุกมีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ฉากไม้ฝังมุกอายุ ๑๕๐ ปี ที่แขวนบนเสาจรดเพดาน เขียนบทกวีบรรยายถึงฤดูกาลทั้งสี่ด้วยตัวอักษรจีนหนึ่งร้อยตัว หากแต่เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะสังเกตเห็นว่าตัวอักษรแต่ละตัวล้วนเป็นมุกที่สลักเป็นรูปนกที่โผผินในลีลาต่างๆ ประกอบขึ้นมาเป็นตัวอักษรจีนแต่ละตัว
คณะที่เดินทางไปด้วยแยกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งก็ชอบช๊อปปิ้ง ก็จะไปซื้อของกัน แต่ละคนหิ้วถุงใส่ของเดินขึ้นรถกันหลายถุงมิใช่น้อย
ส่วนอีกกลุ่ม ๑ ซึ่งพ่อรวมอยู่ในกลุ่มนี้ ก็จะนั่งตามร้านขายเครื่องดื่ม ซึ่งหนีไม่พ้นการนั่งจิบเบียร์ ๒ ยี่ห้อ คือ “ฮูดา” กับ “ลารู” ไปเรื่อยๆ ซึ่งราคาก็ถูกมาก แค่ ๕ กระป๋อง ๑๐๐ บาท รสชาติก็อร่อยไปอีกแบบ
หลังจากเดินจับจ่ายใช้สอยกันอย่างสนุกสนานแล้ว รถก็พาเรากลับที่พัก แต่บางคนก็ยังออกมาเดินเที่ยวชมเมืองยามราตรี ส่วนพ่อนอนเล่นอินเทอร์เน็ตและหลับไปอย่างมีความสุข ท่ามกลางอากาศค่อนข้างเย็น และความอ่อนเพลียที่แฝงจากการเดินทาง
จดหมายทั้ง ๕ ฉบับที่ผ่านมารวมถึงฉบับนี้ น้องวินคงได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ อย่างน้อยภาพสถานที่ต่างๆก็คือ ภาพความทรงจำเดิมที่ ๓ ปีก่อนที่ครอบครัวเราได้เดินทางไปมาแล้ว ครั้งนี้จึงคือการย้อนรอยทางเดิม แต่เป็นทางเดิมในมุมใหม่ มุมที่มีเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์และที่มาที่ไปของสถานที่แต่ละแห่งที่ได้ไปเยือน
อย่างที่พ่อย้ำกับลูกเสมอมา ปัจจุบัน คือ ภาพสะท้อนอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันจะยั่งยืนเพียงใดก็เป็นเพราะอดีตที่วางรากฐานไว้คงมั่นมาก่อนนั้นเอง
รักลูกเสมอ
“พ่อโต”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น