วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เขียนเป็น : ไม่ยากอย่างที่คิด

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

อย่างที่ผมย้ำกับใครหลายๆคนว่า “ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้” แค่เริ่มต้นตัดคำว่า “อยาก” ออก ให้เหลือแต่คำว่า “เขียน” จากนั้นก็อย่ารอช้า ลงมือโดยทันที

“ไม่ยากอย่างที่คิด…………………วันละนิดถ้าเริ่มเขียน
อะไรก็น่าเรียน………………………. มันวนเวียนอยู่รอบตัว
อธิบายสิ่งที่เห็น…………………….. หยิบมาเป็นเรื่องจั่วหัว
วันนี้เริ่มออกตัว………………………รับรองชัวร์คุณเขียนเป็น”

นี้คือกาพย์ยานี ๑๑ ที่ผมแต่งขึ้นสด ๆ จากเวที We Can Do ที่จัดขึ้นสำหรับ “ชาวสุชน-คนทำงานในสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)” ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ กับตอนที่ว่า “การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง” ด้วยความเชื่อว่า งานเขียนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ ทำอย่างไรคนเริ่มฝึกเขียนในครั้งแรกๆจะเกิดแรงบันดาลใจและลงมือเขียนเรื่องเล่าได้โดยไม่ยากจนเกินไปนัก

ให้แปรเปลี่ยน “ยาขมในงานเขียน” เป็น “กาแฟหอมหวานที่จักชวนลิ้มลอง”

ต้องบอกว่านี้เป็นความโชคดียิ่งนัก ที่การจัดเวทีในครั้งนี้ได้วิทยากรในฐานะ “คนต้นเรื่อง” ที่มากประสบการณ์และทักษะในการเขียนเรื่องเล่าอยู่แล้ว ทำให้สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดให้กับผู้เข้าร่วมวงยิ่งขึ้น ทั้ง "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ" และ "คุณสัณหกิจ รัตนกุล" ที่มาแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการเขียนเรื่องเล่าที่หลากหลาย รวมถึงตัวผม ที่ร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องประสบการณ์ตรงในการเขียนเรื่องเล่า และอะไรเกิดขึ้นเมื่อได้เขียน

วิทยากรคนแรก คือ “สัณหกิจ รัตนกุล” น้องจาก “งานทรัพยากรบุคคล” ได้ชี้ให้เห็น ๔ วิธีการในการเขียนเรื่องเล่า

วิธีที่ ๑ เขียนเล่าถึงเหตุการณ์และพัฒนาการในการทำงานและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

วิธีที่ ๒ เขียนแบบ AAR เป็นการสรุปผลจากการทำงานกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเมื่อสิ้นสุดลง ว่ามีอะไรเป็นไปตามความคาดหวัง ต่ำกว่าความคาดหวังและข้อเสนอแนะหากต้องทำกิจกรรมนั้นอีกในอนาคต

วิธีที่ ๓ เขียนโดยเล่าเหตุการณ์ที่มีการดำเนินการที่เป็นเลิศในเรื่องนั้น หรือ Best Practice

วิธีที่ ๔ เขียนเพื่อสรุปความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน ที่สะท้อนความคิดเห็นหรือแนวคิดในการปฏิบัติงาน

วิทยากรคนที่สอง คือตัวผมเอง ที่ได้เล่าประสบการณ์การเขียน “เรื่องเล่า” นำเสนอผ่านสังคมออนไลน์ในรูปแบบ Blog http://bwisutttoto.blogspot.com/ กว่า ๑๒๐ เรื่อง โดยชี้ให้เห็นหลักการ ๗ ข้อ ที่ “นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์” ได้แนะนำไว้ ซึ่งก็คือ

หลักการที่ ๑ บอกกับตัวเองเสมอว่า ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้

หลักการที่ ๒ เริ่มจากสิ่งที่ “กำลังเห็น” หรือ “รับรู้” อยู่ตรงหน้า

หลักการที่ ๓ เขียนให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ทุกที่ ทุกเวลา

หลักการที่ ๔ ไม่ต้องสนใจถูกผิด ดีหรือไม่ดี แค่เขียนแล้วจดจ่ออยู่กับการเขียน

หลักการที่ ๕ สังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะกำลังเขียนให้มาก ๆ

หลักการที่ ๖ ฝึกเขียนติดต่อกันให้ได้ สัก ๒๑ วัน

หลักการที่ ๗ ค่อย ๆ ขยายขอบเขตการเขียนตามคำถามดี ๆ

นอกจากนั้นแล้วผมยังได้ชี้ให้เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ๗ ประการที่เป็นผลมาจากการเขียนเรื่องเล่า ได้แก่ (๑) บันทึกไว้เพื่อเป็นการทบทวน (๒) เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นคว้า (๓) ได้พัฒนาทักษะการเขียน (๔) เป็นการตกผลึกทางความคิด (๕) ได้เผยแพร่งานและแนวคิดของตนเอง (๖) ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น และ (๗) ได้เรียนรู้และรู้จักคนอื่นๆมากยิ่งขึ้น

วิทยากรคนที่สาม “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เน้นย้ำว่าเรื่องการเขียน เป็น ๑ ใน ๔ เรื่องของ “หัวใจนักปราชญ์” นั่นก็คือ “สุ (ฟัง-อ่าน) จิ (คิด) ปุ (ถาม) ลิ (ลิขิต)”

และหลังจากนั้นคุณหมอได้นำตัวอย่างงานเขียนในเรื่อง “ไปดูฟุตบอลยุโรป” ๒ ลีลา มาให้ผู้ร่วมวงได้วิพากษ์วิจารณ์กัน

ภายหลังจากที่วิทยากรทั้ง ๓ คนนำเสนอเรียบร้อยแล้ว ไฮไลท์สำคัญของการจัดเวทีครั้งนี้คือ การให้ทุกคนฝึกทดลองเขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตตนเอง “โดยเขียนเรื่องอะไรก็ได้ให้เสร็จภายใน ๑๕ นาทีต่อจากนี้”

อดทึ่งไม่ได้จริง ๆ ครับ กับผลงาน “เรื่องเล่าที่หลากหลาย หลากสไตล์ หลากสีสัน หลากเรื่องราวที่เรียงร้อยถ้อยคำ” กว่า ๓๐ เรื่อง ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน ๒ ชั่วโมงนี้ ที่ครอบครัวสุชนได้รังสรรค์ออกมาร่วมกัน รวมถึงตัววิทยากรเองด้วย และขออาสาให้อ่านผลงานให้ฟังซึ่งกันและกัน

เรื่องเล่าที่ถูกอ่านจากปากของผู้เขียนราว ๑๐ เรื่อง บางเรื่องเรียกรอยยิ้ม บางเรื่องเรียกเสียงหัวเราะ บางเรื่องก็เรียกน้ำตาให้ซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว

เหล่านี้คือตัวอย่าง “เรื่องเล่า” ๕ เรื่อง ที่ผมมีอยู่ในมือขณะนี้

เรื่องที่ ๑ : ลูกอม ๓ เม็ดบาท สอน-คิด ชีวิต ของ “เตชิด ชาวบางพรหม”

เจดีย์ยอดแหลมตั้งตรงเฉียดฟ้า เป็นบ้านเกิดของผม ความคุ้นชินในวิถีชาวพุทธ การจับจ่ายซื้อของ เป็นกิจวัตรแบบตลาดสด สังคมดิ้นรน หาเช้ากินค่ำ

ผมเดินตลาด ตะเวนขายขนมตั้งแต่ ๑๐ ขวบ หาเงินเรียนไปวันๆ ไม่ได้คิดเรียนได้เกรดดี ไม่ต้องเอาที่ ๑ หรือที่ ๒ ไปอวดใคร สิ่งที่คิดในสมองตอนนั้นมีคำที่ท่องอยู่ในสมองว่า “ต้องขายให้หมด”

เช้าก็ไปเรียนเจอเพื่อนๆ ไม่ให้อายเด็กข้างบ้านก็พอ แต่ก็ไม่วายพกลูกอม ๓ เม็ดบาท จากร้านข้างบ้านไปขายเพื่อน ๒ เม็ดบาท ทำแบบนี้ทุกวัน ต้นทุน ๒๐ บาท จะได้ลูกอม ๖๐ เม็ด ถ้าขายหมดจะได้เงิน ๓๐ บาท กำไรเห็นๆ ทันที

ฉะนั้นเรื่องการค้าขายหาเงิน ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิตผม ในวัยเด็กก็ต้องดิ้นรนกันไป เมื่อวันหนึ่งเราพบว่า เรื่องเงินเป็นเรื่องง่าย มันขึ้นอยู่กับปัจจัยความขยันและพื้นที่ที่ทำการค้าได้ เรื่องอื่นๆ จึงตามมา

“คุณภาพชีวิต” และ “ทักษะชีวิต” จึงเป็นเรื่องที่ตามมาสมัยเริ่มเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

วิธีคิดปกติ คือ ต้องเรียนที่ไหน? จบแล้วทำมาหากินอะไร? มีชีวิตอยู่กับอาชีพแบบไหน? อนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร?

ดังนั้นการคิดคำนวณแบบ ๓ เม็ดบาท จึงกลับมาเป็นต้นทุนความคิดที่จะร้อยเรียงการคำนวณ เพื่อเรียงร้อยเรื่องราวชีวิตใหม่เสมอ

เรื่องที่ ๒ : กินกับนุช ของ “ชญาดา ฟักน่วม”

เป็นคนชอบกินค่ะ …. แต่ก็จะกินเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบ (งงมั้ย ๕๕๕)

พี่ ๆ ที่ สช. จะยกให้กับการสรรหาของกิน ไปกินที่ไหน แถวไหนมีอะไรอร่อย ถ้าไม่ถามเจ้เก๋มือทองอันดับหนึ่ง ก็จะได้ยินว่า “ถามไอ้นุชมัน ซิ”

อาหารหลัก ๆ ที่ชอบกินก็ “กุ้ง” คะ “ต้มยำกุ้ง" นี้ถือว่าเป็นของโปรดที่สุดแล้ว

ถ้าให้ยกตัวอย่างร้านโปรดแถวนนท์ ที่ถ้าถามว่า “จะกินต้มยำกุ้งไปกินที่ไหนดี” นุชก็จะมีคำตอบให้คำตอบเดียว คือ “ต้มยำกุ้งท่าน้ำนนท์ไง” ร้านนี้อร่อยตรงไหน มาลองดูกันค่ะ

ร้านต้มยำกุ้งท่าน้ำนนท์ อยู่บริเวณศาลเจ้าตรงท่าน้ำนนท์ จากวงเวียนหอนาฬิกาไปทางซ้ายมือจะสุดทางพอดี เป็นร้านอาหารตามสั่งธรรมดานี่ล่ะค่ะ เพียงแต่ของขึ้นชื่อของร้าน คือ “ต้มยำกุ้ง” และอีกเมนูที่ต้องสั่งคู่กันตลอด คือ “ไข่เจียวกากหมู”

รสชาติของต้มยำกุ้งแท้ ๆ คือเป็นน้ำใส แบบไทย ๆ ไม่มีการเติมนมสดเหมือนร้านทั่วไปสมัยนี้ เวลาสั่งคนทำจะถามว่า “น้ำข้นหรือน้ำใส”

แม้ร้านจะดูธรรมดาแต่รสชาติอาหารกับบรรยากาศริมน้ำเจ้าพระยาสบาย ๆ (ถ้าอากาศไม่ร้อน) ถ้ามีโอกาสก็มาลองชิมกันได้นะคะ

ร้านนี้จะเปิดวันธรรมดา หยุดเสาร์-อาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็เปรี้ยวปาก คงต้องหาเวลาไปกินในเวลาอันใกล้นี้แน่ ๆ คราวหน้าถ้ามีร้านไหนน่าสนใจ จะเอามาเล่าให้ฟังอีกนะคะ

เรื่องที่ ๓ : น้ำพักน้ำแรง ของ "กรกนก ตันตระกูล"

ครอบครัวของชั้นเป็นครอบครัวเล็ก ๆ พ่อแม่ลูก ชีวิตของเราดูแลลูกกันเอง ไม่เหมือนหลายครอบครัวที่มีปู่ย่าตายายมาคอยเลี้ยงหลานให้ เราจึงบริหารการใช้ชีวิตด้วยตัวของเราเอง บ้านที่อาศัยอยู่ปัจจุบันเป็นบ้านที่พ่อทิ้งมรดกเอาไว้ ก่อนพ่อจะเสียชีวิต พ่อได้สั่งไว้ว่า “ถ้าพ่อตายไปวันไหน ขอให้ยกบ้านหลังนี้ให้น้องชาย เพราะน้องยังเรียน ไม่จบ พ่อไม่มีอะไรจะให้”

จากจุดนั้น ทำให้ได้ซื้อบ้านเก่า ๆ เนื้อที่ ๙๒ ตารางวา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เอาไว้ ๑ หลังด้วยราคาที่แสนถูก สภาพบ้านเก่าจนถ้ามีพายุแรง ๆ คงพัง

จากเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี ๒๕๕๔ ที่แทบจะทุกบ้านทุกครอบครัวต้องได้รับความเดือดร้อนในครั้งนั้น บ้านของชั้นอยู่ในเขตบางซื่อถือว่ารอดหวุดหวิด แต่ก็เกิดผลกระทบเรื่องการอยู่การกิน จึงทำให้หัวอกแม่อย่างเราคำนึงถึงความลำบากของลูก ครอบครัวเราจึงย้ายที่ตั้งไปอาศัยอยู่บ้านแม่สามีที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย นับแล้วระยะเวลาประมาณ ๑ เดือน ทำให้ได้คิดว่า การที่เราอาศัยบ้านคนอื่นอยู่มันรู้สึกไม่สะดวกใจ จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจเราต้องทำอะไรสักอย่าง เราต้องวางแผนสร้างบ้านใหม่ ซึ่งก็ได้เพื่อนลุงช่วยจัดการหาช่าง ซื้อวัสดุในการสร้างบ้าน

๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ วันที่ลงเสาเอกก็มาถึง ก่อนเดินทางมาตัวเองได้ตั้งจิตจุดธูปเชิญดวงวิญญาณพ่อไปร่วมในพิธีด้วย วันนั้นอากาศดีมาก มีฝนโปรยละออง ทำให้รู้สึกว่าเทวดาอวยพร พิธีดำเนินไปตามประเพณีของคนอีสาน

การสร้างบ้านหลังนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง วาดแปลนบ้านเอง ได้รู้ว่าลงเสาเอกต้องทำเดือนไหน รู้ข้อดีข้อเสียของการเลือกวัสดุก่อสร้าง รู้ว่าทรายที่ถูกที่สุดคือ "ทรายริมโขง" ได้รู้ว่าการเลือกสีบ้านต้องเลือกให้ถูกโฉลกกับเจ้าของบ้าน เราเกิดวันจันทร์ตัวบ้านสีเหลือง หลังคาบ้านสีน้ำเงิน การเลือกต้นไม้ถูกโฉลกต้องเลือกต้นโมก ต้นแก้ว ต้นมะลิ และยังมีอีกหลายอย่างที่เราก็เรียนรู้จากบ้านหลังนี้

วันเวลาผ่านไปกว่า ๖ เดือนการสร้างบ้านดำเนินไปจนแล้วเสร็จเดือนธันวาคม ๒๕๕๕

๑ มกราคม ๒๕๕๖ เป็นวันเข้าบ้านใหม่ ได้อัญเชิญสมบัติของพ่อไปอยู่ที่บ้านหลังนี้ด้วย คือ หลวงพ่อฉิม พระพุทธรูปที่พ่อรักมาก ให้ท่านปกปักรักษาดูแลบ้านหลังนี้ให้ร่มเย็นเป็นสุข และตัวเองก็รู้ว่าพ่อก็มองลูกอยู่ข้างๆ และภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงของลูกคนนี้

เรื่องที่ ๓ : ลูกหลง ของ "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ"

พ่อผมเป็นทหาร เติบโตมาจากนายสิบ ตอนพ่อตายอายุได้ ๕๐ ปี มียศเป็นพันโท แม่เป็นลูกแม่ค้า ทำหน้าที่แม่บ้าน ทั้งพ่อแม่เป็นคนราชบุรี

ผมมีพี่น้อง ๖ คน เป็นคนสุดท้อง

แม่ท้องผมตอนที่พ่อย้ายไปอยู่โคราช ตอนนั้นมีพี่ชาย ๓ คน พี่สาว ๒ คน แม่ตั้งใจว่าจะพอแค่นั้น เพราะมีลูกมากแล้ว พ่อเป็นทหารเงินเดือนน้อย ต้องค้าขายโน่นนี่มาจุนเจือครอบครัว

พ่อแม่เลือกคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย แต่สมัยนั้นถุงยางอนามัยคงยังคุณภาพไม่ดี วันหนึ่งถุงยางรั่ว ทำให้แม่ตั้งท้องที่ ๖ คลอดออกมาเป็นผม

ตอนท้องแก่ แม่อุ้มท้องผมจากโคราชไปคลอดที่ศิริราช และทำหมัน

ที่จริงพ่อไม่อยากให้แม่ทำหมัน เพราะคนสมัยนั้นเชื่อว่า ทำหมันแล้วจะไม่แข็งแรง พ่อคงกลัวแม่ทำงานหนักไม่ได้

แต่แม่ก็ตัดสินใจทำหมัน แล้วอุ้มผมขึ้นรถไฟกลับไปเลี้ยงดูที่โคราช

ชีวิตผมได้เกิดมาเป็นลูกหลง ก็เพราะถุงยางอนามัยไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้มี “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ในวันนี้

เรื่องที่ ๔ : ความลับ ของ “วิสุทธิ บุญญะโสภิต”

ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป การเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่งย่อมมีเหตุผลรองรับเสมอ แม้แต่ “ชื่อของผม” ก็ยืนอยู่บนหลักการดังกล่าว

ย้อนหลังกลับไปเมื่อกว่า ๕๐ ปี ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีชื่อแปลก ๆ ว่า “ท่าฬ่อ” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร สภาพของหมู่บ้านยังเต็มไปด้วยป่า มองไกลสุดตาออกไปจะเห็นทุ่งนา สลับกับเรือกสวนกล้วย ส้ม ขนุน มะพร้าว ถนนหนทางก็ยังเป็นทางเดินเล็ก ๆ ที่เกิดจากการที่ผู้คนเดินไปมาหาสู่กันเป็นประจำ

ณ บ้านหลังนั้น เด็กน้อยเพศชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ในยามย่ำรุ่งของเช้าวันอังคารที่ ๖ มิถุนายน ปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ท่ามกลางครอบครัวที่พ่อ แม่ เรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่า “เกษตรกร”

“แม่จ๋า ทำไมผมจึงชื่อโต” ผมเอ่ยถามแม่เมื่อเติบโตรู้ความในวันหนึ่ง

“ก็เอ็งหัวมันโต มันใหญ่มากเลยตอนลูกคลอดมาใหม่ ๆ”

ตั้งแต่นั้นมา ผมก็อดภูมิใจในชื่อเล่น “โต” ที่พ่อและแม่ได้ตั้งใจตั้งให้ผมมาจนถึงวันนี้

“เอ็งรู้ไหมว่า ทำไมเอ็งชื่อว่า “วิสุทธิ” เป็นคำถามที่พ่อเอ่ยถามขึ้นหลังจากที่ครอบครัวเราที่มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ล้อมวงกินข้าวเย็นในอีกวันหนึ่ง

“ผมก็สงสัยมานาน พ่อช่วยบอกผมหน่อยสิ”

“ก็ไม่มีอะไรมากหรอกลูก ตอนนั้นรัฐบาลรณรงค์ให้ครอบครัวไปทำหมันกัน ใครมีลูกมากจะยากจน พอแม่คลอดเอ็ง พ่อก็เลยไปทำหมันที่สุขศาลาข้างบ้าน จึงคิดกันว่าเอ็งจะเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อกับแม่จึงช่วยกันคิดว่า จะตั้งชื่ออะไรดีที่บ่งบอกว่าเป็นคนสุดท้าย พากันไปหาพระที่วัด พระท่านก็บอกว่า “สุด สุด สุด วิสุทธิ ดีที่สุด” พ่อก็เลยตั้งชื่อ “วิสุทธิ” ให้กับเอ็งไง”

เสียงหัวเราะดังขึ้นมาจากสมาชิกในวงอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมินัดหมายกับที่มาของชื่อเล่นและชื่อจริงของผม “วิสุทธิ บุญญะโสภิต”

ในช่วงสุดท้ายก่อนปิดเวที “นพ.อำพล” ได้แนะเคล็ดลับการเป็นนักเขียน ๗ ประการ ที่เรียงร้อยอย่างคล้องจองว่า “มีหัวข้อ ย่อหน้า ภาษา ลีลา ลูกเล่น เน้นบางจุด สุดท้ายสรุป” อีกทั้งยังได้กล่าวชื่นชมผลงานที่ผลิตกันออกมาได้อย่างดีเยี่ยมภายในเวลาที่จำกัด บ่งบอกว่า “ใคร ๆ ก็เขียนเรื่องเล่าได้” และได้มอบหมายให้จัดรวมเล่มเป็นอีบุ๊ค (e-book) เผยแพร่ให้คนในครอบครัวสุชนได้อ่านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น