วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนาม ตอนที่ ๓ : มนต์ขลังเมืองเว้.....เสน่ห์ประวัติศาสตร์อันตรึงใจ

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกชายที่น่ารัก

ระหว่างที่พ่อเขียนจดหมายหาลูกฉบับนี้ พ่อได้กลับมาถึงประเทศไทยตั้งแต่คืนวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์แล้วครับ แต่ภาพของกระทงที่ลอยไปบนแม่น้ำหอม (Song Houng river) แม่น้ำแห่งสัญลักษณ์เมืองเว้ แม่น้ำที่ไม่ว่าใครๆก็ตามที่เดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้ก็ต้องหาเวลามาล่องเรือชมแม่น้ำแห่งนี้ให้จงได้ ภายใต้ค่ำคืนที่ท้องฟ้าแต้มประดับด้วยหมู่ดาว ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพ่อมิเสื่อมคลาย

ระหว่างที่เรือมังกรสองหัว (Dragon Boat) ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ในราชสำนักของเวียดนามเมื่อหลายร้อยปีก่อน กำลังล่องไปและมาหยุดกลางแม่น้ำหอม เสียงขับกล่อมบทเพลงอันเพราะพริ้งของนักร้องประจำชาติในชุด “อ๋าวหย่าย” พร้อมกับเสียงบรรเลงจากพิณน้ำเต้า และเครื่องดีดสีตีเป่าอื่นๆตามแบบฉบับของนาฎลีลาเก่าแก่ของเวียดนาม ก็ดังประสานขึ้นอย่างกลมกลืนไปกับการไหลของสายน้ำ โดยเฉพาะกับ “เพลงพระราชนิพนธ์สายฝน” ที่ได้รับเสียงปรบมือมากเป็นพิเศษ

มนต์สะกดของสายน้ำหอม และหญิงสาวเอวบางร่างน้อย เนื้อผ้าอันบางพลิ้วรัดรูปภายใต้แสงวิบวาววามของค่ำคืนแห่งท้องน้ำ ยิ่งฉายให้เห็นความงามในอีกมิติอย่างไม่ต้องสงสัย

มนต์เสน่ห์ของสายน้ำหอมจึงติดตามพ่อกลับมายังประเทศไทยและไหลรินอยู่ในดวงใจ ดั่งการไหลของสายน้ำหอมที่ไหลผ่านผืนดินและป่าเขามายาวไกล ผ่านเซาะแมกไม้ทั้งที่อยู่บนบกและใต้ผืนน้ำจำนวนมากจนแม่น้ำถูกปรุงแต่งด้วยสมุนไพรจนมีกลิ่นหอมไปโดยปริยาย และทำให้ชาวเมืองเว้พร้อมใจกันเรียกชื่อแม่น้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำหอม” สืบมาจนปัจจุบัน

อีกทั้งสายน้ำหอมยังมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับราชวงศ์เหงียนที่มีกษัตริย์ยาลองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ซึ่งได้สถาปนาเมืองเว้เป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ และสร้าง "พระราชวังไดนอย" (Dai Noi ) ขึ้นอย่างใหญ่โตริมฝั่งแม่น้ำหอมแห่งนี้อีกด้วย

ทำให้พ่ออดไม่ได้ที่จะต้องเล่าเรื่อง “มนต์ขลังเมืองเว้ เสน่ห์ประวัติศาสตร์อันตราตรึงใจ” ให้ลูกฟังในครั้งนี้

พ่อมานอนพักที่เมืองเว้ถึง ๒ คืน จึงได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่นี้ที่น่าเรียนรู้หลายด้าน โดยเฉพาะการสัญจรไปมาที่ยังใช้จักรยานเป็นพาหนะกันเต็มท้องถนน เสียงกระดิ่งดังลั่นเพื่อบอกสัญญาณขอทาง พ่อออกไปยืนดูบริเวณสี่แยกซึ่งไม่มีไฟแดงเหมือนกลับที่บ้านเรา แต่ก็น่าแปลกใจเป็นอย่างมากที่รถยนต์ จักรยานยนต์และจักรยานที่มากมาย ก็สามารถแล่นไปได้อย่างคล่องตัว ทำให้พ่ออดคิดไม่ได้ว่า “ถ้าเป็นบ้านเรา ป่านนี้คงชนกันระเนระนาดกันไปแล้ว”

อาจเป็นเพราะที่นี่เป็นเมืองจักรยาน พ่อจึงไม่เห็นคนเวียดนามมีรูปร่างอ้วนเลย จึงอดคิดถึงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปีก่อนที่มีเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันว่า ถ้าเมืองไทยทำได้แบบที่เมืองเว้นี้คงจะดีไม่น้อย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่นั่นมีสุขภาพดี

พ่อขอย้อนเล่าประวัติศาสตร์ให้ลูกฟังในเบื้องต้นก่อนนะครับ

“เมืองเว้” เป็นเมืองเอกของจังหวัดเถื่อเทียน ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม ริมฝั่งแม่น้ำหอม ถัดเข้ามาในแผ่นดินจากริมฝั่งทะเลจีนใต้เพียง ๒ – ๓ ไมล์ ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้ประมาณ ๕๔๐ กิโลเมตร และห่างจากนครโฮจิมินห์ (เดิมชื่อเมืองไซ่ง่อน) ไปทางเหนือประมาณ ๖๔๔ กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ซึ่งเต็มไปด้วยหินภูเขาไฟ หาดทราย เนินทราย และทะเลสาบ นอกจากนี้ยังเป็นเขตพื้นที่ป่าไม้สำคัญที่สุดของเวียดนาม

เคยเป็นเมืองหลวงเก่าในสมัย “ราชวงศ์เหงียน” ช่วงปี ๒๓๔๕ – ๒๔๘๘ “เมืองเว้” จึงมีชื่อเสียงจากโบราณสถานที่มีอยู่ทั่วเมือง และได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖

หลังจาก “อาณาจักรจามปา” ล่มสลายลง “เมืองเว้” เมืองเล็กๆที่อยู่ในความปกครองของ “ขุนนางเหงียนฮวาง” ในแผ่นดินของ “ราชวงศ์เล” แต่ “ราชวงศ์เล” ปกครองได้ไม่นานก็เกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนขึ้น ทางตอนเหนือตกไปอยู่ในการปกครองของ “ขุนนางตริงห์” ทางตอนใต้ตกอยู่ในการปกครองของ “ขุนนางเหงียน”

ต่อมาได้ขัดแย้งกันและได้เกิดสงครามขึ้นมา พี่น้อง “ตระกูลเตยเซิน” ก่อกบฏขึ้นและยึดเวียดนามได้ทั้งหมด “เหงียนฉวาง” หรือที่คนไทยรู้จักพระองค์ในชื่อว่า “องเชียงสือ” ซึ่งเป็นผู้ปกครองเวียดนามใต้อยู่ในขณะนั้น จึงได้ลี้ภัยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชการที่ ๑ ของไทยเรานานถึง ๔ ปี แล้วจึงกลับไปปราบกบฏลงได้ ในปี ๒๓๔๕ และรวบรวมดินแดนทางตอนเหนือและตอนใต้เข้าไว้ด้วยกัน โดยเรียกชื่อเสียใหม่ว่า “เวียดนาม” พร้อมกับสถาปนาตนเองเป็น “จักรพรรดิยาลอง” แห่ง “ราชวงศ์เหงียน” ขึ้นปกครอง และใช้เมืองเว้เป็นราชธานี

หลังจากที่ “จักรพรรดิยาลอง” ปกครองได้เพียง ๓๓ ปี ฝรั่งเศสก็บุกเข้าโจมตีเมืองเว้ ในช่วงระยะเวลานี้จักรพรรดิแต่ละองค์ต่างผลัดกันขึ้นสู้ชิงบัลลังก์ในช่วงสั้นๆ การเดินขบวนต่อต้านฝรั่งเศสและการต่อสู้กับลัทธิจักรพรรดินิยม รวมถึงเหตุการณ์ต่อมาคือ การยึดครองของญี่ปุ่นในมหาสงครามเอเชียบูรพาเมื่อปี ๒๔๘๘

เหตุการณ์ในปี ๒๔๘๘ ทำให้ “จักรพรรดิบาวได๋” ทรงตัดสินใจสละราชสมบัติ “เมืองเว้” เป็นจุดเริ่มต้นแห่ง “ราชวงค์เหงียน” จึงกลายเป็นราชธานีสุดท้ายของ “ราชวงศ์เหงียน” เช่นเดียวกัน

ต่อมาในปี ๒๔๙๒ “จักรพรรดิบาวได๋” ทรงได้รับการช่วยเหลือจากชาวฝรั่งเศสในอาณานิคม และทรงก่อตั้งเมืองหลวงใหม่ คือ ไซ่ง่อน ทางใต้ของประเทศ

ในช่วง “สงครามเวียดนาม” “เมืองเว้” อยู่ในอาณาเขตของเวียดนามใต้ซึ่งอยู่ใกล้กับเวียดนามเหนือ ผลของสงครามในปี ๒๕๑๑ จึงทำให้ตัวเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะโบราณสถานหลายแห่งที่ถูกยิงและถูกระเบิดจากกองทัพอเมริกัน

แม้หลังสงครามสงบลงแล้ว เหล่าโบราณสถานก็ยังไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ เนื่องจากถูกกลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์และชาวเวียดนามบางส่วนมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของระบอบศักดินาในอดีตแต่หลังจากที่แนวคิดทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ก็เริ่มมีการบูรณะโบราณสถานบางส่วนมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่า “เมืองเว้” จะได้รับความเสียหายจากพิษภัยของสงครามรวมชาติเวียดนามไปบ้าง แต่ก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของนครจักรพรรดิอยู่อีกไม่น้อยเช่นกัน แต่ละแห่งล้วนมีเรื่องราวน่าสนใจมากมายให้นักเดินทางได้เข้าไปเยี่ยมชม ตั้งแต่พระราชวัง สุสานจักรพรรดิที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองในอดีต โบราณสถานอันงดงามและทรงคุณค่า วัฒนธรรมที่มีแบบฉบับของตนเอง

ในการเดินทางครั้งนี้พ่อได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งเลยทีเดียว

“วัดเทียนมู่” เป็นวัดพุทธมหายาน สร้างขึ้นในปี ๒๑๔๔ ในสมัย “ขุนนางเหงียนฮวาง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหอม เป็นอาคารทรงเจดีย์แปดเหลี่ยม ๗ ชั้น แต่ละชั้นเป็นตัวแทนของชาติภพต่างๆ ของพระพุทธเจ้า สูง ๒๑ เมตร ส่วนทางฝั่งซ้ายและขวาเป็นที่ตั้งของศิลาจารึกและระฆังสำริดขนาดใหญ่หนักถึง ๒,๐๐๐ กิโลกรัม ถัดมาทางด้านหลังของเจดีย์เป็นประตูทางเข้าสู่บริเวณภายในวัด มีรูปปั้นเทพเจ้า ๖ องค์ คอยยืนเฝ้าปกป้องไม่ให้ความชั่วร้ายเข้ามาเยือน

วัดแห่งนี้เองมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมืองในช่วงยุคหลังของเวียดนาม เมื่อพระภิกษุ “ทิจ กวาง ดิ๊ก” เจ้าอาวาสของวัดเทียนมู่ได้ใช้รถออสตินสีฟ้าคันเล็กเป็นพาหนะไปเผาตัวเองที่กลางกรุงไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน ในช่วงสายของวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ เพื่อประท้วงรัฐบาลที่บังคับให้ประชาชนไปนับถือศาสนาคริสต์ และการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล “โงดินห์เดียม” ที่เป็นคาทอลิก รวมทั้งใช้ความรุนแรงขัดขวางการฉลองวันวิสาขบูชาของประชาชนในประเทศ ปัจจุบันรถออสตินสีฟ้าคันนั้นได้ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ภายในวัดแห่งนี้

คณะของเราได้เดินทางต่อไปที่พระราชวังหลวงของกษัตริย์ “ราชวงศ์เหงียน” ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดเทียนมู่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นมรดกตกทอดอันยิ่งใหญ่และงดงามของเมืองเว้ พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ๒๓๔๘ ใน “สมัยจักรพรรดิ์ยาลอง” แล้วเสร็จในปี ๒๓๗๕ ในสมัยจักรพรรดิมิงห์หม่าง รวมระยะเวลาก่อสร้าง ๒๗ ปี เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์เหงียน ๑๓ พระองค์

พระราชวังนี้สร้างตามแบบพระราชวังต้องห้ามของประเทศจีนแต่ได้ย่อส่วนลงมาจากต้นแบบ แม้ว่าจะถูกย่อส่วนแต่ก็ยังใหญ่โตไม่น้อย เช่น กำแพงวังมีความยาวถึง ๑๑ กม. (ด้านละประมาณ ๒.๕ กม.) มีความสูง ๖ เมตร หนา ๒ เมตร มี ๑๑ ประตู มี ๒๔ ป้อมปราการ พระราชวังนี้ได้ออกแบบให้มีกำแพงล้อมรอบถึง ๓ ชั้น แต่ละชั้นจะประกอบไปด้วยพระราชวังและตำหนักต่าง ๆ

พระราชวังแห่งนี้ถูกเผาจากฝรั่งเศสในปี ๒๔๘๘ ซึ่งได้รับความเสียหายเป็นอันมาก จากนั้นก็กลายเป็นพระราชวังร้าง ครั้นถึงปี ๒๕๑๑ หรือสมัยสงครามเวียดนามก็ถูกเครื่องบินสหรัฐทิ้งระเบิด เนื่องจากเป็นที่ซ่องสุมของพวกคอมมิวนิสต์ เมื่อสงครามสงบ องค์การยูเนสโกจึงเข้ามาบูรณะและได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ๒๕๓๖

จุดน่าสนใจของการเที่ยวชม หลังจากที่นักท่องเที่ยวข้ามสะพานเดินลองผ่านซุ้มประตูหรือกำแพงชั้นนอกเข้าไป จะได้พบกับ “ซุนทานกง” หรือ “ปืนใหญ่” ๙ เทพเจ้า ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ หมายถึงเทพ ๕ องค์ ตัวแทนของธาตุทั้งห้า คือ โลหะ น้ำ ไม้ ไฟ และดิน ส่วนอีก ๔ องค์ เป็นตัวแทนของฤดูกาลทั้ง ๔ ฤดู ใน ๑ ปี

ถัดมาเป็นกำแพงเหลือง ซึ่งเป็นกำแพงชั้นกลางที่ล้อมรอบนครของจักรพรรดิ พระราชวัง วัด และสวนดอกไม้เอาไว้ ในส่วนนี้มีประตูทางเข้าที่ตกแต่งเอาไว้อย่างสวยงาม ๔ ประตู ประตูที่สำคัญที่สุด คือ “โหงะโมน” หรือ “ประตูเที่ยงวัน” ที่สร้างขึ้นครั้งแรกด้วยหินแกรนิตในสมัยพระเจ้ามิงห์หม่าง

เมื่อพ่อเดินผ่านลอดประตูชั้นที่สองโดยข้ามสะพานน้ำทอง ซึ่งเคยถูกสงวนไว้เฉพาะจักรพรรดิเท่านั้น จะเจอกับพระราชวังไทเฮา อันเป็นวังที่สำคัญที่สุดในนครจักรพรรดิ ใช้สำหรับต้อนรับเชื้อพระวงศ์ระดับสูง และนักการทูตต่างประเทศ นอกจากนั้นราชสำนักยังใช้เป็นที่จัดงานฉลองสำคัญต่างๆ เช่นกัน

ส่วนวัดวาอารามภายในกำแพงแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับขุนนางหลายคน วัดสำคัญคือ “วัดเถเหมียว” ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดี สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับผู้ปกครองในราชวงศ์เหงียน

ถัดมาส่วนในสุดของนครจักรพรรดิ คือ “ตือกามแทงห์” หรือนครต้องห้ามของจักรพรรดิ ที่ถูกสงวนไว้เฉพาะจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์นั้น

ในขณะที่พ่อเข้าไปเที่ยวชมในบริเวณราชวังครั้งนี้ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์ จึงได้เห็นช่างหลายสิบคนมาทำงานกระจายอยู่ทั่วบริเวณราชวัง ซึ่งในบางจุดที่เสร็จแล้วดูสวยสดงดงามยิ่งนัก ซึ่งพ่อคิดว่าเมื่อบูรณะและทาสีใหม่เสร็จสิ้นแล้ว พระราชวังแห่งนี้คงกลับมาสวยงามเหมือนเมื่อครั้งอดีตเป็นแน่แท้

ในบ่ายวันเสาร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ คณะของเรากลับมายังเมืองเว้อีกครั้งหนึ่ง โดยก่อนเข้าพักที่โรงแรมที่พัก ได้แวะเที่ยวชมสุสานของพระเจ้าไคดิงห์ (Tomb of Khai Dinh) ที่เป็นสุสานที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกร่วมกับสถาปัตยกรรมตะวันตก เป็นสถาปัตยกรรมสุดแปลกที่เกิดจากการผสมผสานแบบสุดขั้วระหว่างจีนและยุโรป

สุสานแห่งนี้ถูกสร้างในสมัย “จักรพรรดิไคดิงห์” เพื่อใช้เป็นสุสานของพระองค์ แต่แล้วสุสานไม่ทันสร้างเสร็จก็ทรงสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน ภารกิจสร้างสุสานแห่งนี้ต่อจึงตกเป็นของ “จักรพรรดิบาวได๋” ผู้เป็นพระราชโอรส สุสานแห่งนี้สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี โดยใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๑๑ ปี

“จักรพรรดิไคดิงห์” ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ ๑๒ ของราชวงศ์เหงียน ขึ้นครองราชย์ในปี ๒๔๕๙ โดยการสนับสนุนจากฝรั่งเศส ทั้งนี้เป็นเพราะในช่วงนั้น เวียดนามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ฐานะจริง ๆ ขององค์ไคดิงห์ ก็คือ ผู้ปกครองอันนัม โดยทางฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม) ได้แบ่งเวียดนามออกเป็นสามส่วน มี “ตังเกี๋ย” ทางตอนบน “อันนัม” ในตอนกลาง และ “โคชินจีน” ทางตอนใต้

พระองค์ทรงให้ความร่วมมือกับทางเจ้าอาณานิคมในการต่อต้านขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชกลุ่มต่าง ๆ จนถูกกล่าวหาว่า “พระองค์นั้นขายชาติ” แม้แต่โฮจิมินห์ เองก็ยังเขียนบทละครขึ้นเพื่อล้อเลียนพระองค์ในทำนองว่า “แม้จะดูยิ่งใหญ่ มีชีวิตที่หรูหรา แต่ก็ไม่มีพลังอำนาจอันใด เพราะเป็นเพียงหุ่นเชิดของฝรั่งเศสเท่านั้น”

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเรื่องที่เป็น “ขี้ปากชาวบ้าน” มาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ “รสนิยมทางเพศ” ของพระองค์ ไกด์ชาวเวียดนามถึงกับพูดว่า “พระองค์ไม่ทรงโปรดอิสตรี” จึงทำให้ไม่มีองค์รัชทายาท จึงต้องยกราชสมบัติให้กับ “จักรพรรดิบ๋าวได่” ซึ่งเป็นราชโอรสบุญธรรมของพระองค์

พ่อเดินเที่ยวชมไปตามทางเดินขึ้นสุสานที่ได้รับการตกแต่งเป็นบันไดมังกรอันโอ่อ่า ไปสู่ลานชั้นหนึ่ง จากนั้นมีบันไดต่อไปยังลานชั้นสองที่เรียงรายด้วยรูปปั้นหินของช้าง ม้า ข้าราชการทหารและพลเรือน กลางลานมีแผ่นจารึกเขียนด้วยอักษรจีน นิพนธ์โดย “จักรพรรดิบาวได๋” เพื่อรำลึกถึงพระบิดาของพระองค์

ส่วนด้านบนสุดเป็น “พระราชวังเทียนดิงห์” ภายในมีการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยการใช้กระเบื้องสีปูพื้นจิตรกรรมฝาผนังภาพ มังกรในม่านเมฆขนาดใหญ่ที่วาดโดยใช้ศิลปินที่เขียนภาพด้วยเท้า ประดับอยู่บนเพดานกลางห้องโถง ส่วนทางซ้ายและขวาเป็นภาพอันเต็มไปด้วยสีสันที่ตกแต่งด้วยการฝังกระจก สีและกระเบื้องนับพันชิ้น แสดงถึงเรื่องราวมากมายของสัตว์ ต้นไม้ และดอกไม้

แต่ห้องที่สำคัญที่สุดจะเป็นห้องที่มีรูปหล่อสำริดปิดด้วยทองขนาดเท่าองค์จริง ในพระอิริยาบถนั่ง บนแท่นสูง และบนเพดานจะมีภาพวาดชื่อ "มังกรในม่านเมฆ" อยู่

เล่ากันว่าภาพมังกรในม่านเมฆนี้จิตรกรวาดขึ้นโดยใช้เท้าวาด จักรพรรดิไคดิงห์ทรงกริ้วมาก จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิต แต่ก็มีผู้ทูลทัดทานว่า “ถ้าไม่มีจิตรกรผู้นี้แล้ว คงยากที่จะหาผู้ที่มีความชำนาญในการวาดภาพให้งดงามขนาดนี้ได้อีก” อย่างไรก็ตามเหตุผลที่จิตรกรวาดภาพโดยใช้เท้านั้น บ้างก็อธิบายว่าเป็นเพราะความถนัดในการใช้เท้า บ้างก็ว่าเป็นการเลี่ยงที่จะเอาเท้าชี้ลงมาทางด้านล่าง เวลามีผู้เดินทางมาตรวจงาน

ส่วนพระบรมศพของพระองค์นั้น ถูกฝังอยู่ลึกลงไปใต้แท่นสูงในห้องนี้นั้นเอง

แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี สุสานแห่งนี้ก็ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ค่อนข้างมาก รอดพ้นจากการถูกทำลาย ไม่ว่าประเทศเวียดนามจะได้ผ่านศึกสงครามและกลียุค มาแล้วหลายครั้ง

หลังจากออกจากสุสานแห่งนี้แล้ว รถพาคณะของเราไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของราคาถูกที่ “ตลาดนัดดองบา” ที่เป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ของเมืองเว้ ที่อยู่ติดกับแม่น้ำหอม ซึ่งพ่อได้พบคนไทยหลายคนเดินซื้อของ เสียงแม่ค้าเชิญชวนให้ซื้อของด้วยภาษาไทยสำเนียงเวียดนามดังลั่นตลาด

สินค้าที่นี่ต้องต่อรองก่อนซื้อทั้งนั้น เพราะราคาจะบอกผ่านหมดทุกอย่าง บางอย่างก็บอกราคาสูง ข้อควรระวัง สินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง เกรดของสินค้าจึงพอๆกับราคาที่จ่ายไป

หากพ่อจะเปรียบเทียบกับบ้านเรา ก็คือ ตลาดนัดจตุจักรขนาดย่อม ตรงกลางที่เป็นอาคารจะขายพวกเสื้อผ้า กระเป๋า และของฝาก รวมทั้งสินค้าจากประเทศจีน เช่น กระเป๋าเดินทาง ของเด็กเล่น เสื้อผ้าเด็ก ฯลฯ ส่วนด้านข้างและด้านหลังจะเป็นพื้นที่ขายผักขายปลา และอาหารแห้ง ปลาหมึก กุ้งแห้ง เต็มไปหมด

คณะของเราใช้เวลาในตลาดกว่า ๒ ชั่วโมง จนสมใจอยากและเป็นที่ถูกใจแก่คณะของเรามาก แต่ละคนต่างหิ้วของกันเต็มมือกันเกือบทุกราย อ้อ !! ลืมบอกลูกไปว่าที่นี้สามารถจ่ายเป็นเงินบาทได้เลย

พ่อพาพี่ที่ไปด้วยไปต่อรองซื้อเสื้อฝากทางบ้าน “ต่อกันมันมาก ลดลงไปกว่า ๖๐ %” สำหรับพ่อได้เสื้อกันหนาวมา ๑ ตัว ราคาแค่เพียง ๒๐๐ บาทเท่านั้น

บริเวณที่จอดรถจะมีลานกว้างซึ่งมีร้านขายของเต็มไปหมด พวกกลุ่มผู้ชายขณะนั่งรอก็ฆ่าเวลาด้วยเบียร์ “ฮูดา” เบียร์เวียดนาม ๕ กระป๋อง ๑๐๐ บาท “หมดกันไปเป็นโหล”

มีเรื่องสนุกก็คือ ก่อนที่รถจะออกจะมีแม่ค้านำสินค้ามาขายข้างรถ ซึ่งสามารถต่อราคาได้ถูกกว่าซื้อในตลาดอีก จึงทำให้คณะของเราอดไม่ได้ที่จะจ่ายเงินซื้อกันเพิ่มอีก ซึ่งเป็นที่สนุกสนานมากมาย

หลังจากนั้นก่อนไปกินอาหารเย็น ชาวคณะได้แวะไป “ล่องเรือมังกรแม่น้ำหอม” ชมการแสดงและความบันเทิงตามแบบของราชวงค์ในสมัยก่อน

ในคืนวันเสาร์นี้คณะของเราเข้าพักที่โรงแรม MIDTOWN HOTEL เป็นโรงแรมระดับ ๔ ดาว ซึ่งพ่อประทับใจมาก เพราะมีไวไฟที่แรงมาก ทำให้พ่อได้เข้าไปติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ประเทศไทยได้อย่างใกล้ชิด

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ คณะของเราตื่นแต่ตีสีครึ่ง และออกจากโรงแรมตั้งแต่ ๐๖.๓๐ น. เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยแวะไปชมอุโมงค์หวิงห์ม็อกที่ย้ายโปรแกรมจากวันแรกมา

อุโมงค์แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเว้มาทางทิศเหนือราว ๖๕ กิโลเมตร นับเป็นอุโมงค์ใต้ดินที่คนทั้งหมู่บ้านอาศัยอยู่เป็นเวลาหลายปีเพื่อหลบภัย จากการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องในสมัยสงครามเวียดนาม แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะพากันอพยพไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของประเทศ แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนกว่า ๓๐๐ คน ที่ยังอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์คนรูแห่งนี้เป็นเวลากว่า ๕ ปี นับจากปี ๒๕๐๙ – ๒๕๑๔

ภายในเครือข่ายอุโมงค์ที่มีความยาวกว่า ๒,๐๐๐ เมตร เมตรนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น มีทางเข้าออกทั้งหมด ๑๓ ทาง แต่ละชั้นจะมีการสร้างเป็นห้องต่างๆ ทางซ้ายและขวา โดยชั้นแรกมีจุดเด่นน่าชมอยู่ที่ห้องที่ใช้คลอดเด็กทารก และชั้นที่สองเป็นส่วนที่ใช้ในการประชุมในสมัยสงคราม จากนั้นจะมีทางเดินลงสู่ชั้นที่ ๓ ของอุโมงค์

ลูกชายคงจำได้ที่ครอบครัวเราจับมือกันเดินตามกันไปตามทางเดินภายในอุโมงค์เมื่อ ๓ ปีก่อนได้นะครับ

หลังจากออกจากอุโมงค์คณะของเราก็มุ่งหน้ากลับประเทศไทย โดยใช้ถนนหมายเลข ๙ เส้นเดิมกลับเหมือนตอนขามา

อ่านจดหมายมาถึงตอนนี้ น้องวินคงเริ่มทำหน้าเบื่อและคงนึกในใจ “จดหมายฉบับนี้ พ่อโตเขียนมาเสียยืดยาวเลย” แต่พ่อคิดว่าเรื่องที่พ่อเล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของลูกได้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะจากการที่พ่อได้เที่ยวชมสถานที่ประวัติศาสตร์ที่เมืองเว้ครั้งนี้ ทำให้พ่อคิดไปถึงเรื่อง “รากเหง้า” ของมนุษย์ ว่ากว่าจะมีวันนี้ได้ย่อมมีที่มาที่ไปเสมอ และ “รากเหง้า” เหล่านี้แหละที่เป็นตัวเชื่อมมิติทางใจให้กับผู้คนโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ ณ ที่พื้นที่นั้นเข้าหากัน

ไม่ต่างจากที่ “บ้านท่าฬ่อ” ก็เป็น “รากเหง้า” ที่เป็นจุดกำเนิดให้กับพ่อ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้รากเหง้าที่เมืองเว้แห่งนี้ จึงทำให้พ่อกำลังใคร่ครวญว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษา “รากเหง้า” ที่มีคุณค่านั้นไว้เพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงต่อไปอย่างยาวนาน

ฉบับหน้าพ่อจะเล่าเรื่องเราเกี่ยวกับ “เมืองดานัง” ที่เป็นอีกเมืองหนึ่งที่พ่อได้มีโอกาสไปเที่ยวชมมาให้ลูกชายได้รับรู้ต่อไป

รักลูกเสมอ

“พ่อโต”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น