วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"บอกรักประเทศไทย" กับ "ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง"

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

ณ ที่ชุมนุมของ กปปส. บริเวณสี่แยกอโศก หลังเลยเวลาเคารพธงชาติช่วงเย็นย่ำไปเล็กน้อยของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ “วันมาฆบูชา” และวันแห่งความรักหรือ “วันวาเลนไทน์” หรือวันที่ชาว กปปส. เรียกกันว่า “วันบอกรักประเทศไทย” "ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล" ได้ขึ้นเวทีและมีบางช่วงของการปราศรัยพูดขึ้นมาว่า

“....ประเทศไทยไม่ใช่ Full Democracy แต่เป็น Flawed Democracy Flawed Democracy แปลว่า ประชาธิปไตยแบบมีตำหนิ ประเทศไทยจึงจัดเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำเป็นลำดับที่ ๕๘ ของโลก จาก ๑๖๗ ประเทศ ประชาธิปไตยของไทยภายใต้ระบอบทักษิณ บกพร่อง ล้มเหลวในทุกดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย....”

ผมนึกในใจ “อาจารย์สมเกียรติใช้คำยากจังเลยครับ แล้วชาวบ้านจะเข้าใจไหมเนี่ย!!!! เพราะนี่เป็นศัพท์เฉพาะที่จำเป็นต้องอธิบายและขยายความมิใช่น้อย” ต้องไม่ลืมว่าการถ่ายทอดสดผ่านช่องบลูสกายได้กระจายไปทุกหัวระแหงหย่อมหญ้า จากในกลางเมืองหลวงสู่ท้องทุ่งบ้านลุงปัง ช่างตัดผมประจำตัว และบ้านยายที่ซักผ้าให้ครอบครัวผม

พอเห็นคำอภิปรายวันนี้ ผมเลยอดนึกถึงความทรงจำส่วนตัวตอนเป็นนักศึกษารามคำแหงขึ้นมาไม่ได้ สมัยนั้นผมทำกิจกรรมตลอด ๔ ปีในรั้วมหาวิทยาลัย สมัยที่ประเทศไทยยังเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” กองทัพยังมีบทบาททางการเมืองสูงมาก มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” กับ “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” เป็นยุคที่รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ “อยากตั้งใครก็ตั้งได้เลย”

กิจกรรมนักศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นไปเพื่อการเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เพราะนี่คือสัญลักษณ์หนึ่งของประชาธิปไตย "รัฐบาล" ต้องมาจาก "เสียง" ของ "ประชาชน" ไม่ใช่มาจากเสียงของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เสียงข้างมากในสภามากแค่ไหนก็ต้องฟัง

แต่พอมาถึงช่วงสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร" และยุคปัจจุบันที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" คำว่า “ประชาธิปไตย” ในความหมายของเขา มีความหมายเพียง “เป็นเครื่องมือในการเถลิงอำนาจ การเลือกตั้ง กลายเป็นกระบวนการเปลี่ยนบุคคลในครอบครัวทักษิณขึ้นมาครองอำนาจ” เราจึงพบการเข้าไปแทรกแซงระบบราชการ ระบบการเมือง องค์อิสระต่าง ๆ ด้วยระบบพวกพ้องและเงินตรา และนำไปสู่การคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ในประเทศไทย

และนี้เป็นที่มาสำคัญของคำว่า “Flawed Democracy ที่แปลว่า ประชาธิปไตยแบบมีตำหนิ” ดั่งที่ "ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล" ได้ปราศรัยไว้ ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนที่ประเทศไทยได้รับจากการจัดอันดับผ่าน “ดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย” นั่นเอง

ผมลองหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า “ดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย” เขาวัดกันอย่างไร ถึงทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมากเช่นนั้น
มีเอกสารวิชาการเรื่องหนึ่งจัดทำโดย “ยุวดี เทพยสุวรรณ” จากสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง “ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย” เมื่อปี ๒๕๕๑ ซึ่งเรียบเรียงมาจากเรื่อง The Economist Intelligence Unit’s index of democracy เผยแพร่ในวารสาร The Economist เขียนโดย "Laza Kekic" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจาก Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการศึกษาและวิจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

EIU ได้คิดค้นเครื่องมือวัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ หรือที่เรียกว่า “ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย” (Democracy Index) ใน ๕ ประเด็น คือ

๑) กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral process and pluralism)
๒) เสรีภาพพลเมือง (Civil liberties)
๓) หน้าที่ของรัฐบาล (Functioning of government)
๔) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) และ
๕) วัฒนธรรมทางการเมือง (Political culture)

คะแนนชี้วัดในแต่ละประเด็นจะมีตั้งแต่ ๐ ถึง ๑๐ และค่าของคะแนนนี้ถูกใช้เพื่อกำหนดประเทศต่างๆ ออกเป็น ๔ ระบบ คือ

๑) ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (Full democracies) ระดับคะแนน ๘ ถึง ๑๐
๒) ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่บกพร่อง (Flawed democracies) ระดับคะแนน ๖ ถึง ๗.๙
๓) ประเทศที่มีการปกครองแบบผสม (Hybrid regimes) ระดับคะแนน ๔ ถึง ๕.๙
๔) ประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ (Authoritarian regimes) ระดับคะแนนต่ำกว่า ๔

โดยในแต่ละประเด็นจะมีตัวชี้วัดย่อย ๆ ซึ่งรวมแล้วมีทั้งหมด ๖๐ ตัวชี้วัด มีรายละเอียดดังนี้

๑) ตัวชี้วัดของ “กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม” มีทั้งสิ้น ๑๒ ข้อ ได้แก่

๑.๑ การเลือกตั้งของฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติและหัวหน้ารัฐบาลเป็นไปอย่างอิสระหรือไม่ พิจารณาว่าการเลือกตั้งมีการแข่งขันโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระในการออกเสียงและมีทางเลือกได้หลากหลายหรือไม่
๑.๒ การเลือกตั้งสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติและหัวหน้ารัฐบาลมีความยุติธรรมหรือไม่
๑.๓ การเลือกตั้งระดับเทศบาลมีความเป็นอิสระและยุติธรรมหรือไม่
๑.๔ ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ผู้ใหญ่ทุกคนหรือไม่
๑.๕ พลเมืองสามารถออกเสียงเลือกตั้งโดยปราศจากการคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยจากรัฐหรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (Non – state bodies) หรือไม่
๑.๖ กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการรณรงค์หาเสียงอย่างแพร่หลายหรือไม่
๑.๗ กระบวนการในการให้เงินอุดหนุนพรรคการเมืองมีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปหรือไม่
๑.๘ หลังการเลือกตั้ง กลไกของรัฐธรรมนูญในการส่งผ่านอำนาจจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่งมีความชัดเจน แน่นอน และเป็นที่ยอมรับหรือไม่
๑.๙ พลเมืองมีอิสระในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นอิสระจากรัฐบาลได้หรือไม่
๑.๑๐ พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสจริงๆ หรือไม่ในการได้เป็นรัฐบาล
๑.๑๑ พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าถึงตำแหน่งในรัฐบาลหรือไม่
๑.๑๒ พลเมืองมีอิสระในการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและองค์กรภาคพลเมืองหรือไม่ และเป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐและการควบคุมของรัฐหรือไม่

๒) ตัวชี้วัดของ “เสรีภาพพลเมือง” มีทั้งสิ้น ๑๔ ข้อ ได้แก่

๒.๑ ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมีการตัดสินใจได้อย่างอิสระต่อการกำหนดนโยบายรัฐบาลหรือไม่
๒.๒ สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางการเมือง มีอำนาจสูงกว่าฝ่ายอื่นในรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่
๒.๓ มีระบบการถ่วงดุลอำนาจในการบริหารงานของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
๒.๔ รัฐบาลมีความเป็นอิสิระจากอิทธิพลของกองทัพหรือฝ่ายบริการความมั่นคงหรือไม่
๒.๕ พลังอำนาจของต่างประเทศไม่สามารถกำหนดภาระหน้าที่หรือนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลได้
๒.๖ กลุ่มทางเศรษฐกิจ ศาสนา หรือกลุ่มผู้มีอำนาจในประเทศไม่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองที่สำคัญ และขนานไปกับสถาบันประชาธิปไตยหรือไม่
๒.๗ ระหว่างการเลือกตั้ง มีกลไกและสถาบันที่ทำให้รัฐบาลรับผิดชอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งในช่วงระหว่างการเลือกตั้งหรือไม่
๒.๘ อำนาจของรัฐบาลขยายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศหรือไม่
๒.๙ บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลมีความเปิดเผยและโปร่งใสเพียงพอต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสาธารณชนหรือไม่
๒.๑๐ คอร์รัปชั่นมีการแพร่หลายมากน้อยเพียงใด
๒.๑๑ ข้าราชการพลเรือนมีความเต็มใจและมีความสามารถในการนำนโยบายรัฐบาลไปปฏิบัติหรือไม่
๒.๑๒ ความรู้สึกของประชาชนว่ามีทางเลือกที่อิสระและสามารถควบคุมชีวิตตนมากน้อยเพียงใด
๒.๑๓ ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อรัฐบาล
๒.๑๔ ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อพรรคการเมือง

๓) ตัวชี้วัดด้าน “การมีส่วนร่วมทางการเมือง” มีทั้งสิ้น ๙ ข้อ ได้แก่

๓.๑ การมีส่วนร่วม (อัตราการออกเสียงเลือกตั้งโดยคิดตามสัดส่วนอายุของประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง)
๓.๒ เชื้อชาติ ศาสนา และคนกลุ่มน้อยต่างๆ มีความเป็นอิสระอย่างเหมาะสมหรือไม่ และมีสิทธิมีเสียงในกระบวนการทางการเมืองหรือไม่
๓.๓ ผู้หญิงในรัฐสภา (เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เป็นผู้หญิง)
๓.๔ ระดับของการมีส่วนร่วมทางการเมืองสมาชิกของพรรคการเมืองและองค์กรที่มิใช่รัฐ (NGO) ทางด้านการเมือง
๓.๕ การเกี่ยวข้องของประชาชนทางด้านการเมือง
๓.๖ ความพร้อมของประชากรในการมีส่วนร่วมในการประท้วงที่อยู่ในขอบเขตตามที่กฎหมายกำหนด
๓.๗ การอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่
๓.๘ ประชากรผู้ใหญ่ที่มีความสนใจและติดตามข่าวการเมืองมีระดับมากน้อยเพียงใด
๓.๙ เจ้าหน้าที่รัฐมีความพยายามอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมือง

๔) ตัวชี้วัดด้าน “วัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย” มีทั้งสิ้น ๘ ข้อ ได้แก่

๔.๑ มีระดับฉันทามติของสังคมและการร่วมกันสร้างความมั่นคงให้ระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดีหรือไม่
๔.๒ ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ (สัดส่วนของประชากรที่ต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง โดยมองข้ามรัฐสภาและการเลือกตั้ง)
๔.๓ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองโดยทหาร (สัดส่วนของประชากรที่ปรารถนาจะให้กองทัพมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง)
๔.๔ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองโดยผู้เชี่ยวชาญหรือรัฐบาลแบบเทคโนเครต (technocratic government) (สัดส่วนของประชากรที่ปรารถนาการปกครองโดยผู้เชี่ยวชาญหรือเทคโนเครตมากกว่า)
๔.๕ ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและความสงบเรียบร้อยของสังคม (สัดส่วนของประชากรที่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ดีต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน)
๔.๖ ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจ (สัดส่วนของประชากรที่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยเอื้อต่อการสร้างผลงานทางเศรษฐกิจ)
๔.๗ ระดับของประชาชนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
๔.๘ มีประเพณีที่เคร่งครัดต่อการแบ่งแยกระหว่างศาสนจักรและรัฐ

๕) ตัวชี้วัดด้าน “เสรีภาพพลเมือง” มีทั้งสิ้น ข้อ ได้แก่

๕.๑ มีสื่อแบบอิเลคโทรนิคส์ที่เป็นอิสระหรือไม่
๕.๒ มีสื่อ สิ่งพิมพ์อย่างอิสระหรือไม่
๕.๓ มีเสรีภาพในการแสดงออกและการประท้วงหรือไม่
๕.๔ การรายงานข่าวของสื่อมีความเที่ยงตรงหรือไม่ มีการเปิดโอกาสและให้อิสระในการถกเถียงปัญหาของสาธารณะด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกันหรือไม่
๕.๕ มีข้อจำกัดทางการเมืองในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหรือไม่
๕.๖ พลเมืองมีอิสระในการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพและสหภาพแรงงานหรือไม่
๕.๗ สถาบันให้โอกาสพลเมืองในการยื่นร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขความเดือดร้อนหรือไม่
๕.๘ การใช้วิธีการทรมานโดยรัฐ
๕.๙ ระดับของอำนาจตุลาการที่อิสระจากอิทธิพลของรัฐบาลพิจารณาถึงมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศและการตรวจสอบอำนาจตุลาการ และศาลเคยตัดสินเรื่องสำคัญที่ขัดต่อรัฐบาลหรือข้าราชการระดับสูงหรือไม่
๕.๑๐ ระดับของการยอมรับในศาสนาอื่นๆ และเสรีภาพในการแสดงออกในศาสนาต่างๆ ทุกศาสนามีโอกาสดำเนินกิจกรรมอย่างอิสระหรือไม่ หรือมีข้อจำกัดหรือไม่ ทั้งโดยปัจเจกบุคคลและสาธารณะมีสิทธิในการนับถือหรือไม่ และแม้ว่ากฎหมายให้ความเท่าเทียมและการคุ้มครอง แต่บางศาสนาถูกข่มขู่หรือไม่
๕.๑๐ ระดับพลเมืองที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายพิจารณาว่ามีสมาชิกของใดที่ได้รับความคุ้มครองจะไม่ถูกฟ้องร้องตามกฎหมายหรือไม่
๕.๑๑ พลเมืองพอใจระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานหรือไม่
๕.๑๒ ระดับของสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนตัวและธุรกิจเอกชนมีความเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐบาล
๕.๑๓ ระดับของพลเมืองที่พอใจในเสรีภาพของปัจเจกบุคคล พิจารณาถึงความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิในการเดินทาง การทำงานและการศึกษา
๕.๑๔ ความคิดเห็นของประชากรต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน (สัดส่วนของประชากรที่คิดว่าสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานได้รับการคุ้มครองอย่างดี)
๕.๑๕ ไม่มีการขีดกันด้วยเหตุผลของเชื้อชาติ สีผิวหรือความเชื่อทางศาสนา
๕.๑๖ ระดับของรัฐบาลที่อ้างถึงความเสี่ยงและการคุมคามใหม่ๆ เพื่อควบคุมเสรีภาพพลเมือง

เมื่อทราบตัวชี้วัด “ความเป็นประชาธิปไตย” แล้ว เรามาดูผลการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ กันดีกว่า รวมถึงประเทศไทยด้วย

(๑) ในปี ๒๕๓๙ ประเทศสวีเดนถูกจัดให้อยู่ในอันดับ ๑ จากทั้งหมด ๑๖๗ ประเทศ โดยมีคะแนนรวมทั้งสิ้น ๙.๘๘ ในขณะที่ประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ ๙๐ โดยมีคะแนนรวมทั้งสิ้น ๕.๖๗ ซึ่งหมายความว่าเป็นประเทศที่ยังมีการปกครองแบบผสม (Hybrid regime) คือยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

(๒) ในการสำรวจเมื่อปี ๒๕๕๓ พบว่าประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุด คือ นอร์เวย์ ด้วยคะแนนรวม ๙.๘๐ ในขณะที่ประเทศไทย เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ ๕๘ ด้วยคะแนนรวม ๖.๕๕ ซึ่งตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยที่บกพร่อง (Flawed democracies) อยู่

(๓) ล่าสุดผลการสำรวจในปี ๒๕๕๕ ยังพบว่าประเทศนอร์เวย์ ยังอยู่อันดับที่ ๑ และประเทศไทยก็ยังยืนในอันดับที่ ๕๘ เหมือนเดิม

(๔) หากวิเคราะห์ประเทศที่มี “ความเป็นประชาธิปไตย” สูงสุด ๑๐ อันดับแรก ซึ่งได้แก่ ประเทศนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ จะพบว่า มีถึง ๗ ประเทศ ที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข หาใช่ประเทศที่มีระบอบแบบประธานาธิบดีไม่

(๕) สำหรับประเทศมหาอำนาจที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างออกหน้าออกตาอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา นั้นจัดอยู่ในอันดับที่ ๑๙ ส่วนอังกฤษ อยู่ในอันดับที่ ๑๘ และญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ ๒๑

(๖) สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จัดอยู่ในอันดับที่ ๕๘ นำหน้าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย (๖๐) มาเลเซีย (๗๑) ฟิลิปปินส์ (๗๕) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ และนำหน้าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น ฮ่องกง (๘๐) สิงคโปร์ (๘๑) กัมพูชา (๑๐๑) เวียดนาม (๑๔๓) ลาว (๑๕๖) และพม่า (๑๖๑)

แต่อย่าเพิ่งดีใจกับอันดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนะครับ เพราะผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ประเทศต่าง ๆ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นหากประเทศไทยยังหยุดนิ่งอยู่กับที่หรือเดินถอยหลัง วันนั้นประเทศไทยเราอาจมีอันดับเป็นเลขสามตัวก็ได้

อีกทั้งเมื่อพิจารณา “ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย” ทั้ง ๕ ประเด็น แล้ว ก็จะเห็นชัดเจนว่า “การเลือกตั้ง” นั้นเป็นเพียง ๑ ใน ๕ องค์ประกอบของ “ความเป็นประชาธิปไตย” เท่านั้น

ฉะนั้นจึงอย่าติดหล่มกับคำว่า “การเลือกตั้ง” เพียงคำเดียวว่านี้เป็นความหมายของ “ประชาธิปไตย” เพราะยังมีอีกหลายดัชนี้ชี้วัดที่จะบ่งบอก “ความรักประเทศไทย” ที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยได้มากกว่า “การไปเลือกตั้ง” เพียงอย่างเดียวเท่านั้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น