วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สวรรค์มีจริงที่วังหิน

๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

แม้ชื่อของ “หมอวัฒน์ หรือ ธีรวัฒน์ แดงกะเปา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านสี่แยกสวนป่า ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช จะโด่งดังมิใช่น้อยในฐานะ “ผู้ก่อตั้งโรงเรียน อสม.แห่งแรกของประเทศไทย” โรงเรียนนอกสารบบของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นโรงเรียนต้นแบบสำหรับคนขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพจากพื้นที่ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงหลักสูตรการเรียนการสอน ขณะเดียวกันผลผลิตของโรงเรียนก็ได้รับเกียรติคุณแห่งความดีมากมาย ทั้ง อสม. ดีเด่นระดับชาติ ระดับภาค และระดับเขตในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานสุขภาพภาคประชาชน

แต่สำหรับผมแล้ว ได้ยินชื่อเขาเป็นครั้งแรกจากงานประกาศผลรางวัล "คนค้นฅน อวอร์ด " ครั้งที่ ๕ : ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ซึ่ง “ธีรวัฒน์ แดงกะเปา” ได้รับรางวัลในฐานะ “คนนอกกรอบ”

และวันนี้จะมีโอกาสได้พบตัวจริงเสียงจริงเสียที

เช้าวันจันทร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ สายการบิน “นกแอร์” ได้พาคณะอันประกอบด้วย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการบริหาร (คบ.) เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ เจ้าหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสื่อมวลชน รวม ๔๐ ชีวิต เหินฟ้าสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช และเดินทางต่อมุ่งสู่พื้นที่ทำงานของ “หมอวัฒน์”

เมื่อคณะเราเดินทางมาถึงที่นี่ ภาพแรกที่ปรากฏต่อสายตา คือ บนพื้นที่กว่า ๖ ไร่ ที่ตั้งของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสี่แยกสวนป่า นอกเหนือจากอาคารโรงพยาบาลแล้ว พื้นที่โดยรอบยังเป็นที่ปลูกสวนกล้วยสลับกับการปลูกไผ่ การจัดทำกระถางไม้ประดับด้วยพืชผักสวนครัว การจัดทำปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงกบ ไก่ ไก่ เป็ด ปลา ด้วยกรรมวิธีที่ไม่เคยเห็น การสาธิตการปลูกต้นไม้โดยไม่ต้องรดน้ำ การปลูกต้นไม้ที่กินได้เต็มสวน อาทิ ชมพู่ มะนาว มะละกอ ต้นเหลียง เป็นต้น พื้นที่เหล่านี้ คือ “ตำราธรรมชาติ” สำหรับใช้ประกอบเพื่อการศึกษา เป็นแหล่งที่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ฝึกฝน ทดลอง ร่วมร่าง ร่วมสร้าง ร่วมรู้ กันภายในโรงเรียน โรงเรียนที่เรียกกันว่า “โรงเรียน อสม.”

ณ ห้องประชุมภายในรั้วของโรงพยาบาลที่ไร้กำแพงและเปิดรับลมจากทุกทิศ ได้ถูกแปลงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีคนต้นเรื่อง ๖ ชีวิต ภายใต้การนำของ “หมอวัฒน์” ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

สาระสำคัญที่เป็นแก่นความรู้อยู่ที่ยุทธศาสตร์ ๕ ข้อ ในการนำไปสู่ “ชุมชนสร้างสุข” ของชาวตำบลวังหิน คือ

หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการ “สร้างคน” ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชุมชน ผ่านการ “สานพลัง” เชื่อมกับทุนในพื้นที่ ทั้งท้องถิ่น (อบต.) ท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ท้องทุ่ง (กลุ่มคน ชมรม เครือข่าย อาทิ อสม. เป็นต้น) และองค์กรรัฐต่าง ๆในชุมชน (เช่น รพ.สต. เกษตรตำบล วัด โรงเรียน) มุ่งเน้นการทำงานแบบ “จิตอาสา” โดยผลงานที่เป็นผลสำเร็จจนเป็นที่กล่าวขวัญ คือ “หลักสูตรโรงเรียน อสม.” เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการทำงานจริงของเหล่า อสม. ในพื้นที่เกือบ ๑๐๐ คน

สอง การพัฒนาระบบข้อมูลอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการเมืองการปกครอง โดยใช้ อสม. เป็นกลไกสำคัญในการจัดทำ ซึ่ง อสม.ทุกคนจะมีแฟ้มข้อมูลประจำตัวที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

สาม การใช้เครื่องมือ “แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์” เป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาสุขภาพ เป็น “ชุมชนสร้างสุข” ที่เกิดขึ้นการคิดร่วมกันของคนในตำบล

สี่ การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาหรือสร้างความสุขในทุกระบบย่อย ๆ ของระบบสุขภาพชุมชน ประกอบด้วย ระบบอาสาสมัครสร้างสุขชุมชน ระบบสุขภาพภาคประชาชน ระบบเกษตรเพื่อสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร ระบบวิสาหกิจชุมชน ระบบองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน ระบบการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ห้า มีการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน ปรึกษาหารือและทบทวนวิธีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้

ผลจากความสำเร็จของโรงเรียน อสม. ทำให้องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARO) ยกให้ “โรงเรียน อสม.แห่งนี้” เป็นพื้นที่พัฒนา “ระบบสุขภาพชุมชน” ที่เข้มแข็ง และเป็นศูนย์การเรียนรู้ของประเทศองค์กรสมาชิกอีกด้วย

อีกทั้งการลงแรงกายแรงใจมากว่า ๑๐ ปี เมื่อมีคำสั่งย้าย “หมอวัฒน์” ไปปฏิบัติงานที่อื่น ชาวบ้านทั้งตำบลจึงออกมาเดินขบวนคัดค้าน ในที่สุดผู้บังคับบัญชาต้องยินยอมระงับการย้ายตามข้อเสนอของชาวบ้าน นี้นับเป็นเครื่องหมายเชิงรูปธรรมที่แสดงถึงผลงานและความประพฤติปฏิบัติของหมออนามัยรายนี้ได้เป็นอย่างดี จนนำมาสู่การได้รับรางวัล “คนค้นคนอวอร์ด” ประจำปี ๒๕๕๖ รวมถึง “รางวัลชัยนาทนเรนทร” ประจำปี ๒๕๕๖ ประเภทบริการ

การพัฒนาตามแนวทางนี้จึงไม่ต่างจากที่ "นายแพทย์ประเวศ วะสี" ได้กล่าวไว้บ่อยครั้งว่า “เราสร้างเจดีย์จากยอดก็จะพังลง เพราะว่าฐานไม่แข็งแรง แต่ถ้าเราสร้างจากฐานได้ก็จะมั่นคง ฐาน คือ ชุมชนท้องถิ่น เสริมให้แข็งแรงทุกด้าน องค์พระเจดีย์ คือ ระบบต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา ยุติธรรม การเมืองการปกครอง หากเราจับตรงนี้ได้ เราจะแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ” เพราะฐานล่างของประเทศ คือ ชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด หากเรารู้จักวิถีของผู้คน รู้จักทุน รู้จักปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน การแก้ไขปัญหาก็จะสอดคล้องกับบริบทของชุมชน

เมื่อได้เห็นได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับ “ชุมชนเข้มแข็ง” ลักษณะนี้ ผมจึงรู้สึกมีความสุขและอิจฉาคนในชุมชนนั้น ๆ ตามไปด้วย

ในช่วงท้ายของการประชุม นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวเน้นย้ำใน ๓ ประเด็นสำคัญคือ

(๑) การทำงานที่นี่เป็นรูปธรรมของบทสรุปที่สำคัญว่า “ทางออกของประเทศไทยอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น”
(๒) เป็นแนวนโยบายที่ คบ. ได้ให้ไว้ว่า ต้องสร้างรูปธรรมที่พื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้กำลังจะเชื่อมโยงกับกองทุนสุขภาพตำบลที่ดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
(๓) นี่คือรูปธรรมของการพัฒนา “นโยบายสาธารณะ” ที่มีความหมายว่า “ทิศทางที่สังคมโดยรวมเชื่อว่าเป็นหนทางสู่การสร้างสุขภาวะ โดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งการจากกลไกอำนาจแต่อย่างไร”

ผมสนใจบทสรุปที่ “พี่รัตนา สมบูรณ์วิทย์” กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้บอกสูตรสำเร็จการสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” ด้วยหลัก ก ข ค ง และ จ นั่นก็คือ

ก : กิจกรรม หมายถึง ต้องมีกิจกรรมดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ข : ข้อมูล หมายถึง ต้องมีการเก็บ รวบรวมและใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบและครอบคลุม
ค : เครือข่าย หมายถึง การเชื่อมโยงกับผู้คน กลุ่มคน และองค์กรต่าง ๆ มาร่วมกันทำงานจนเป็นเครือข่ายที่ไว้วางใจกัน
ง : เงิน หมายถึง มีการระดมเงิน จากแหล่งทุนต่าง ๆ มาเป็นทุนทำงานร่วมกัน
จ : ใจ หมายถึง มีใจในการทำงานร่วมกัน มีจิตสาธารณะ และมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ก่อนที่ “พี่วิไลวรรณ จันทร์พ่วง” กรรมการสุขภาพแห่งชาติ อีกท่านหนึ่งจะกล่าวสรุปและชื่นชม ผมได้ยกมือขออ่านบทกลอนที่แต่งขึ้นสด ๆ ระหว่างที่นั่งฟังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนต้นเรื่องทั้ง ๖ คน ภายใต้ชื่อบทกลอนนี้ว่า “สวรรค์มีจริงที่วังหิน” ว่า

…..แม้นแดดร้อน แต่ใจ ช่างร้อนกว่า………..เหตุเพราะว่า มาอยู่ใกล้ ผู้สร้างสรรค์
ผู้มีไฟ เต็มเปี่ยม นักผลักดัน………………….ผู้เปลี่ยนฝัน สรรสร้างสุข ของชุมชน

……นี่แหละคือ ชุมชน สุขภาวะ………………ด้วยฉันทะ ห้ายุทธศาสตร์ นำสู่ผล
สร้างทีมงาน คนพันธุ์แท้ กำลังพล…………….พัฒนาคน เป็นแก่นแกน สานพลัง

……เร่งระดม เรื่องข้อมูล ที่รอบด้าน…………..ทุกมิติ ทุกเหตุการณ์ ถูกสะสาง
ใช้เป็นทุน ต่อยอด กำหนดแนวทาง…………….ทุกสิ่งอย่าง เป็นระบบ อย่างครบครัน

……ประยุกต์ใช้ เครื่องมือ อย่างเหมาะสม………..ร่วมระดม ร่วมคิด ร่วมวาดฝัน
ใช้เป็นกรอบ ร่วมมือ ร่วมทำงาน…………………..ทุกเขตขาน ว่า “วังหิน” พัฒนา

……ส่งเสริม นวัตกรรม เร่งสรรสร้าง………………ทุกระบบ ช่วยก่อร่าง ช่วยค้นหา
ก่อเกิด สิ่งใหม่ ๆ ที่นำพา…………………………..ชาวประชา มีสุข ทั้งตำบล

……เกิดความรู้ ก็จัดการ อย่างต่อเนื่อง……………ถือเป็นเรื่อง เม็ดเลือด เลี้ยงขุมขน
ทำแล้วเรียน เรียนแล้วรู้ หมุนเวียนวน……………….ผลักดันจน เป็นนิสัย วิถีพลัง

……แม้นแดดร้อน แต่ใจ ช่างเป็นสุข……………….เห็นผู้ปลูก สุขภาวะ อย่างมีหวัง
ประเทศชาติ ต้องเติบโต อย่างถูกทาง………………คือบทเรียน ต้องสร้างฐาน งานชุมชน

……ขอขอบคุณ ทีมงาน อันแข็งแกร่ง………………ที่ลงแรง สรรสร้าง จนเกิดผล
ยุทธศาสตร์ สร้างสุข ที่ชุมชน……………………….เราทุกคน ขอปรบมือ อย่างก้องดัง

ความอิ่มเอมจากการเห็นรูปธรรมความสำเร็จของการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนของตำบลวังหินแห่งนี้ ยังไม่จางหายไป คณะของเรายังหยิบสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้มาคุยกันต่อบนรถตู้ระหว่างเดินทางกลับมายังที่พักอย่างมีความสุข ซึ่งข้อสรุปที่ทุกคนเห็นพ้องตรงกันว่า

“ถ้ารัฐบาลหันมามุ่งเน้นการพัฒนาให้ทุกตำบล สามารถบริหารจัดการจนเข้มแข็งได้อย่างตำบลวังหิน เราเชื่อมั่นว่าเจดีย์ที่ชื่อประเทศไทยองค์นี้จะมั่นคงและเข้มแข็ง นำมาซึ่งความมีสุขภาวะที่ดีของคนบนพื้นแผ่นดินผืนนี้อย่างแน่นอน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น