๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
“ไปทำงานกรุงเทพมา ๒๐ ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น หาเงินได้เท่าไรก็ใช้หมด แถมยังเป็นหนี้เพื่อนฝูงญาติพี่น้องอีก สุดท้ายชวนภรรยากลับบ้าน ด้วยความตั้งใจจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เอาเงินจากการขายสร้อยคอ ซื้อรถเข็น เครื่องครัว แล้วเริ่มอาชีพขายข้าวที่ตลาดที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
มีรายได้ดีกว่าเดิม แต่ไม่มีเงินเก็บ ชีวิตเหมือนตอนอยู่กรุงเทพเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะอยู่อย่างไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแบบแผน อยากกินอะไรก็กิน อยากซื้ออะไรก็ซื้อ เย็นๆเหนื่อยก็กินเหล้ากับเพื่อนบ้าง กินคนเดียวบ้าง
ผมจึงตัดสินใจมาเรียนที่นี่ เอาชีวิตของตนเองเป็นตัวตั้ง หวังว่าจะเอาสิ่งดีๆมาพัฒนา เอาปัญหาของตนเองมาแก้ เมื่ออาจารย์เห็นความตั้งใจเรา จึงให้เริ่มต้นทำแผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ จึงทำให้รู้ว่าทำไมตนเองไม่มีเงินเก็บ จึงจัดการชีวิตให้มีระเบียบมากขึ้น มีแบบมีแผน
จนในที่สุดก็เก็บเงินไปซื้อนาได้ ๑๓ ไร่ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ชีวิตจึงดีขึ้น เงินก็มีเก็บ เพราะวางเป้าหมายเอาไว้ว่า ชาตินี้ต้องมีนาให้ได้สักผืน”
"จรัล เทพพิทักษ์" นักเรียนของมหาวิทยาลัยชีวิต ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ กับคำถามที่ว่า “เรียนอย่างไรจึงได้นา ได้เงิน ได้ชีวิตที่มั่นคง” ผ่านเอกสารประกอบงาน “มหกรรมวิชาการอุดมศึกษาเพื่อชีวิตและชุมชน ครั้งที่ ๑” ซึ่งจัดขึ้นที่ “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” บนพื้นที่ที่รายรอบไปด้วยสวนมะพร้าว ภายในตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๖-๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗
เช้าวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผมกับ “สุนีย์ สุขสว่าง” น้องที่ทำงาน ได้มีโอกาสมาร่วมงานในวันที่สอง บนเส้นทางถนนลาดยางที่ลัดเลาะคดเคี้ยวไปตามสวนมะพร้าว และร่องสวนขนาบสองข้างก่อนถึงสถานที่จัดงาน รถตู้โดยสารป้ายทะเบียนจากจังหวัดต่าง ๆ ค่อย ๆขยับขับตามกันไป นักศึกษาหญิงชายต่างเดินเกาะกลุ่มเข้าไปในงานอย่างคึกคัก ภายในบริเวณรอบอาคารที่ตั้งสถาบันรายล้อมไปด้วยเต็นท์นิทรรศการต่าง ๆ
ทั้งเต็นท์แสดงความเป็นมาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต) โครงการโรงเรียนแก้หนี้แก้จน มหาวิทยาลัยชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษาสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (ปริญญาชีวิต) การศึกษาที่ควบคู่กับการพัฒนาช่วยให้ “ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง” อย่างไร? ประวัติการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชุมชน รวมทั้งคลินิกเกษตรอินทรีย์ พลังงานทางเลือก วิสาหกิจชุมชน สุขภาพชุมชน และอื่น ๆ
รวมทั้งร้านจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ของนักศึกษาจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ พันธุ์ไม้ และผักผลไม้ปลอดสารพิษ เต็มสองข้างทางเดินเข้างาน
และพอได้ฟัง "จรัล เทพพิทักษ์" เล่าเรื่องจนจบ ยิ่งประจักษ์ชัดถึงคุณค่าของสถาบันแห่งนี้ที่ทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนการสอนโดยเอาชีวิตของนักศึกษาเป็นตัวตั้ง เป็นการเรียนที่ไม่ต้องท่องหนังสือไปสอบ แต่เรียนเพื่อให้เห็นปัญหา แล้วเอาไปพัฒนาชีวิต มากกว่าเรียนเพื่อเอากระดาษปริญญาที่เป็นเป้าหมายการเรียนของสถาบันการศึกษาที่นิยมกัน
ในงานวันนี้ผมได้พบบุคคลที่คุ้นหน้าคุ้นตาหลายคน ทั้ง “รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ” อธิการบดีของสถาบัน “ดร.สุรเชษฐ์ เวชชพิทักษณ์” รองอธิการบดี “นพ.พนัส พฤกษ์สุนันท์” “สินธพ อินทรัตน์” นายก อบต.ท่าข้าม จากจังหวัดสงขลา “วิชิต พุ่มจันทร์” นักวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ทั้ง ๓ คนหลังนี้ ผมเพิ่งทราบว่าได้ดำรงตำแหน่งคณาจารย์ของสถาบันแห่งนี้ร่วมด้วย
บนเวทีกลางจัดให้มีรายการเสวนา “ปริญญาชีวิต” ของนักศึกษารวม ๑๒ คน จำแนกเป็น ๔ ภาค ๆ ละ ๓ คน โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นคนชวนคุย
ผมนั่งฟังเรื่องราวของทั้ง ๑๒ ชีวิตอย่างสนใจยิ่ง ทุกคนต่างเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองหลังจากเข้ามาศึกษาที่ “สถาบันเรียนรู้เพื่อปวงชน” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” แห่งนี้
“มหาวิทยาลัยชีวิต” เป็นวลีที่คิดขึ้นเพื่อบ่งบอกถึงกระบวนการเรียนรู้ที่มาจากประสบการณ์ชีวิต เอาชีวิต เอาปัญหาในชีวิต ในชุมชน ในสังคมเป็นตัวตั้ง เอาศักยภาพของตนเอง ของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานและเป็นทุนเนื้อหาในการเรียน เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาตนเองเป็นประการสำคัญ ไม่ใช่ “เรียนหนังสือ” เพื่อจะได้ไป “สอบ” ให้เรียนจบ แล้วก็เอาปริญญาไปเร่งหางานทำ
"มหาวิทยาลัยชีวิต" คือ “รูปแบบ” หนึ่งของการเรียนรู้ ที่มีการจัดการเรียนรู้อย่างเป็น “กระบวนการ” ที่ทําให้ผู้เรียนคิดเป็น และคิดเป็นระบบได้ สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ ไม่ใช่การสอนให้ท่องจําหรือเพียงการถ่ายทอดวิชาความรู้จากตำราเพียงเท่านั้น
ความรู้ที่สร้างขึ้นเองเช่นนี้มีประสิทธิภาพสูง มีพลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเรียนในมหาวิทยาลัยชีวิตจึงทำให้ชีวิตดีขึ้นตั้งแต่ขณะที่เรียน เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการระเบิดศักยภาพของคนจากภายใน ไม่ใช่การยัดเยียดจากภายนอก ข้อมูลและความรู้เก่าที่อยู่ในตําราหรือในตัวผู้สอนมีคุณค่าเพียงเพื่อให้นักศึกษาได้ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ใหม่ แต่ไม่ใช่คําตอบสุดท้ายหรือคําตอบสําเร็จรูป
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ “อาจารย์สุรเชษฐ์ เวชชพิทักษ์” รองอธิการบดี ท่านเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า “แผนการเรียนการสอนสำคัญของสถาบันแห่งนี้ คือ การเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงขององค์ในหลวง การเรียนรู้แผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน และแผนสุขภาพ มีนักศึกษาบางคนใช้เวลาเรียนเรื่องแผนชีวิตเป็นปี เพราะไม่เข้าใจเป้าหมายชีวิตตนเอง ซึ่งเมื่อมาถามครู ครูก็จะตอบไปว่าครูก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องของชีวิตใครชีวิตมัน”
สอดคล้องกับปรัชญาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ที่มุ่งหวังเรื่องการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับ เพื่อเป็นการศึกษาทางเลือกเพื่อชุมชน ให้ผู้เรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องออกไปหางานทำที่อื่น สามารถอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างพอเพียง
“สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” วิวัฒนาการมาจากประสบการณ์การทํางานกับชุมชนและการจัดการเรียนรู้เพื่อชุมชน โดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและองค์กรที่ส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ซึ่งได้นำความรู้ที่เกิดขึ้นมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้จากชุมชนที่จะนำไปใช้แก้ไขปัญหาของตนเอง จนพัฒนากลายเป็นหลักสูตร “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”
มีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ คือ มหาวิทยาลัยรามคําแหงและมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยร่วมกันจัดการเปิดหลักสูตรดังกล่าวให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศได้เรียนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยเรียกโครงการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ว่า “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต”
เนื่องจากความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มีข้อจํากัดในการดําเนินงานตามปรัชญาของโครงการ “คณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน” จึงได้ตัดสินใจให้มีการก่อตั้ง “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” ขึ้นมา เพื่อดําเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาตามปรัชญาของโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ทั้งโดยการจัดการหลักสูตรในระดับปริญญาและหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นต่าง ๆ
“มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน” เป็นเจ้าของ “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” อย่างเป็นทางการ โดยมูลนิธินี้เกิดจากความริเริ่มของผู้บริหารมูลนิธิหมู่บ้าน โดยการสนับสนุนของ “ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี” และ “ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม” ร่วมกับบริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือกันก่อตั้ง “สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน” เมื่อปี ๒๕๔๕ และจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อปี ๒๕๔๙
และได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็น “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” จากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
นอกเหนือจาก “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่อําเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงครามแล้ว ยังมีศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนอีกจํานวนหนึ่งกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งประสานงานกับศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ในลักษณะเครือข่ายการจัดการเรียนรู้ เพื่อร่วมกันจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับปรัชญาของสถาบัน และตอบสนองปัญหาและความต้องการของแต่ละท้องถิ่น
หลังจากทานอาหารกลางวันร่วมกับผู้บริหารของสถาบันเรียบร้อยแล้ว ผมกับ “สุนีย์” ก็เดินทางกลับ ในใจก็คิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณ ๓ ชั่วโมงที่ผ่านมานี้ และอดที่จะคิดเชื่อมโยงการทำงานขององค์กรที่ผมทำงานอยู่กับสถาบันที่ทรงคุณค่าแห่งนี้ไม่ได้ เพราะทั้ง ๒ องค์กร ต่างก็มีเป้าหมายที่ไม่แตกต่างกันแม้แต่น้อย คือ “มุ่งสร้างให้เกิดความมีสุขภาวะที่ดีของทั้งบุคคลและสังคม” นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น