วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จดหมายถึงเพื่อน ฉบับที่ ๕

๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

บุญส่ง เพื่อนรัก

เป็นอีกวันหนึ่งที่เราคิดถึงนายมาก ตอนนี้เปิดทีวีช่องใดเห็นแต่ “น้ำตาชาวนา” ท่วมจอ แม้ “ข้าว” จะเป็นอาหารที่ทุกคนต้องกิน อีกทั้งยังเป็นผลิตผลหลักทางการเกษตรของประเทศไทยที่ส่งออกและนำเงินตราเข้าประเทศเป็นอันดับต้นๆ จนต่างประเทศเรียกประเทศไทยว่าเป็น “ครัวของโลก”

แต่คำ ๆ นี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ณ วันนี้ ประเทศไทยเรา (อาจ) ไม่สามารถเรียกว่าเป็น “ครัวโลก” ได้เต็มปากอีกต่อไป สาเหตุสำคัญมาจากนโยบาย “รับจำนำข้าว” ของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคนสวยของนายเป็นผู้บริหารประเทศ

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๕๔ จึงได้ดำเนินนโยบาย “รับจำนำข้าว” ในราคาตันละ ๑๕,๐๐๐ บาท ตามที่ได้หาเสียงไว้โดยทันที

เราไม่ค่อยรู้เรื่องในเชิงทางการตลาดที่เกี่ยวกับโครงการนี้เท่าไรหรอก แต่ลองใช้สามัญสำนึกแบบง่าย ๆ ก็จะเห็นว่าโครงการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีนั่นก็คือ ชาวนาขายข้าวในราคาดีขึ้น สมัยก่อนอาจจะราคาตันละไม่เกินหมื่น แต่เมื่อรัฐบาลให้ราคาถึง ๑๕,๐๐๐ บาท แน่นอนว่าโครงการนี้จะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

ในช่วงปีแรก ๆ เราคุยกับพี่ชาย แกเล่าให้ฟังว่าได้เงินเข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำ ทำให้ชาวนาชื่นชอบรัฐบาลชุดนี้กันถ้วนหน้า

แต่เมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสียเช่นกัน

เพราะเมื่อมีแรงจูงใจที่หอมหวานเช่นนี้ ชาวนาจึงเร่งกันทำนากันยกใหญ่ เพื่อให้ได้ข้าวออกมาให้มากที่สุด ปกติทำนาปีละ ๒ ครั้งต่อปี ก็เร่งทำกันเพิ่มขึ้นให้ได้ ๓ รอบ ไปหาพันธุ์ข้าวที่ใช้เวลาน้อยในการปลูกเพื่อเร่งเก็บเกี่ยว ซึ่งจุดนี้เองที่เกิดผลเสียหลายด้าน นั่นก็คือ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อถูกทำลาย ข้าวที่ออกมาไม่มีคุณภาพ มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตกันเพิ่มขึ้นอย่าผิดปกติ ดินเสื่อมคุณภาพ ข้าวล้นตลาด และชาวนาสุขภาพไม่ดี เป็นต้น

ต่อมาเมื่อรัฐบาลรับจำนำข้าวไปแล้ว ก็ต้องหาทางนำข้าวไปจำหน่าย นายลองคิดดูสิ!!!! ราคาที่รัฐบาลรับจำนำก็สูงอยู่แล้ว ถ้าหากจะขายให้ได้กำไรก็ต้องขายในราคาที่สูงตามไปด้วย มิฉะนั้นก็จะขาดทุน แล้วคนซื้อประเทศไหนเขาจะมาซื้อข้าวที่ทั้งมีราคาสูงและข้าวก็ไม่มีคุณภาพล่ะ ผู้ซื้อจำนวนมากจึงหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่น ๆ ในราคาที่ต่ำกว่าและได้ข้าวดีกว่า ทำให้บ้านเราข้าวขายไม่ออก ต้องฝากไปตามโกดัง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปข้าวก็เน่าอีก มีข่าวเล็ดรอดออกมาบ่อยครั้งว่ามีการนำข้าวเน่าไปทิ้งตามที่ต่าง ๆ มากมาย ข้าวบางส่วนก็เร่งรีบขายออกไปในราคาต่ำเพราะกลัวจะเน่า ซื้อมาสูงขายออกไปต่ำ “ยังไงก็ขาดทุนแน่นอน”

เรื่องขาดทุนนี้ แม้มีนักวิชาการหลายคนออกมาเตือนรัฐบาลว่าให้ทบทวนโครงการนี้ ชี้ให้เห็นความน่าจะเป็นของตัวเลขว่าจะขาดทุนหลักหลายแสนล้านบาทอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลก็ไม่เชื่อ ยังจะเดินหน้าต่อ ไม่รู้เป็นเพราะห่วงคะแนนเสียง หรือห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ “คนในรัฐบาล” ที่อาจจะได้กำไรจากการดำเนินการโครงการนี้ด้วยก็เป็นได้

มีช่วงหนึ่งที่รัฐบาลออกมาประกาศต่อสาธารณะว่า ได้นำข้าวไปแลกสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ที่เรียกว่า จีทูจี (G2G) แต่เมื่อเดือนก่อนทาง ปปช.ก็ออกมาแถลงข่าวว่า “ไม่มีการทำจีทูจีแต่ประการใด”

ผลจากการบริหาร “ข้าว” ตามที่เราเล่ามา ตอนนี้จึงส่งผลสำคัญก็คือ อันดับและปริมาณการส่งข้าวออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศลดลงมา ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างน่าใจหาย

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้มีการปรับปรุงวิธีการรับจำนำข้าวใหม่ในช่วงปีหลังๆ โดยกำหนดโควตาวงเงินการขายข้าวให้ชาวนาแต่ละครัวเรือน พี่ชายเราเล่าให้ฟังว่า “ตอนแรกจำกัดวงเงินครัวเรือนละ ๕ แสนบาท แต่ต่อมาปรับลดเหลือ ๓๕๐,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือนแทน”

ดังนั้นจึงทำให้ชาวนาหลายคนที่ปลูกข้าวเกินไปจากวงเงินนี้จึงต้องยอมขายข้าวแบบขาดทุนให้โรงสี นี้ไม่นับว่าบางพื้นที่เจอภัยธรรมชาติ ทั้งฝนแล้ง เพลี้ยกระโดดลง ระบาดไปทั่ว ทำแล้วก็ไม่ได้ผลผลิต สำหรับรอบสุดท้ายนี้ หรือจะเรียกว่ารอบ “แจ๊คพอต” ก็ว่าได้ คือ ขายข้าวไปแล้วแต่ไม่ได้รับเงินเลยมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๖

นี้ไม่นับว่าข้าวที่เข้าโครงการ แท้จริงแล้วบางพื้นที่ชาวนาก็ได้ไม่ถึง ๑๕,๐๐๐ บาทจริง ๆ หรอก มากสุดก็แค่ ๑๑,๐๐๐ บาท มีชาวนาบางคนที่โรงสีให้ตันละไม่ถึงหมื่นบาทก็มี โดยอ้างว่าหักค่าความชื้น และค่าอื่น ๆ อีกมากมาย นี่ละ...น้ำตาชาวนาจึงท่วมประเทศไทย

อีกทั้งพอมาทำแบบนี้ จึงมีช่องโหว่ให้ทุจริตมากมาย เช่น

ชาวนาคนใดขายข้าวไม่ถึงโควตาที่ให้ไว้ ก็จะมีการนำเอาโควตาของชาวนาคนอื่นที่มีข้าวเกินโควต้ามาฝาก ได้ผลประโยชน์ก็แบ่งปันกัน

เกิดชาวนาปลอม เพื่อจะได้เพิ่มโควตา คนที่ไม่เคยทำนา ก็ไปแจ้งว่าทำ เพื่อจะได้เป็นชาวนา และได้โควตาเพิ่มขึ้น

ทางพ่อค้าคนกลางก็ทำหน้าที่ในการบริหารโควตา ยักย้ายโควตาชาวนาคนนั้นไปให้กับชาวนาคนนี้ เช่น รับซื้อข้าวในส่วนที่เกินโควตามาราคาไม่ถึงตันละ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่เอามาเป็นโควตาของชาวนาอีกคนหนึ่ง ราคากลายเป็น ๑๕,๐๐๐ บาท กำไรก็เกิดขึ้นทันทีตันละ ๕,๐๐๐ บาท

แค่นี้นายก็คงเห็นว่ามันมีอะไรที่น่าสงสัยมากมาย ????

ที่สำคัญเมื่อนักวิชาการถามเรื่องระบบบัญชีรายรับรายจ่าย ทางกระทรวงพาณิชย์เจ้าของเรื่องก็ไม่สามารถอธิบายได้ จนขณะนี้ทาง ปปช. ได้ชี้มูลความผิดต่อรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยไปแล้ว รวมทั้งกำลังพิจารณาคดีกับนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวอีกด้วย เราค่อนข้างมั่นใจว่างานนี้จะได้เห็นนักการเมืองติดคุกแน่นอน (ถ้าไม่หนีออกไปอยู่ต่างประเทศเสียก่อน)

มีอีกเรื่องหนึ่งที่เราอยากจะเล่าให้นายฟังก็คือ เมื่อช่วงกลางปี ๒๕๕๖ ชาวนาส่วนใหญ่ได้นำข้าวไปจำนำกับทางรัฐบาลตามโควตาที่ได้รับ โดยผ่านทางโรงสีที่เป็นตัวแทนของรัฐเหมือนเดิม ทั้งนี้มี “ใบประทวน” เป็นหลักฐานให้ชาวนาถือไว้ แต่เนื่องจากรัฐบาลหมุนเงินไม่ทัน จึงไม่มีเงินไปจ่ายชาวนา และยิ่งเกิดสถานการณ์ชุมนุมและรัฐบาลประกาศยุบสภา ทำให้รัฐบาลไม่สามารถไปกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ มาจ่ายให้กับชาวนาได้เพราะผิดกฎหมาย เรื่องก็เลยลุกลามกันไปใหญ่

นายก็เป็นลูกชาวนาเหมือนกับเรา...คงรู้นะว่า ชาวนาแต่ละคนต้องไปกู้เงินนอกระบบมาทำนา บางรายต้องไปซื้อพันธุ์ข้าว ปุ๋ย สารเคมี แบบเงินเชื่อไว้ที่ร้านค้า เมื่อไม่ได้เงินจากรัฐบาลก็เดือดร้อน ดอกเบี้ยเงินกู้ก็สูงขึ้น เงินก็ไม่ได้ ก็เกิดความเครียด จนมีข่าวชาวนาเครียดตายไปหลายคน

แม่ยายเราเอง ก็โดนไปด้วย แกมีลูกชายทำนาแล้วเอาข้าวไปจำนำ นี้ผ่านไปเกือบ ๖ เดือนแล้วยังไม่ได้เงินเลย ตอนนี้เจอหน้าแม่ยายคราใด แกก็จะด่ารัฐบาลชุดนี้อย่างแสบร้อนเลยทีเดียว

เมื่อเรื่องราวเป็นแบบนี้ ชาวนาก็เกิดการรวมตัวกันจากทุกสารทิศ นำรถอีแต๋น ยกขบวนเข้ากรุงมาปิดล้อมกระทรวงพาณิชย์ กดดันรัฐบาลให้รีบนำเงินมาจ่าย ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองหนักขึ้นไปอีก เพราะเดิมมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่ม กปปส. อยู่แล้ว เมื่อมีเรื่องนี้มาเสริมเข้าไปอีกยิ่งทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายไปใหญ่

กฎหมายก็ห้ามรัฐบาล (รักษาการ) กู้เงิน เงินก็ไม่มี ม็อบชาวนาก็มา กลุ่มชุมนุมก็ไม่มีทีท่าจะสลายตัว การเลือกตั้งที่ผ่านไปเมื่อ ๒ กุมภาพันธ์ ก็ไม่สามารถประชุมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ นายลองคิดดูเถอะว่า “อวสานของรัฐบาลชุดนี้” คงใกล้เข้ามาทุกขณะ

เราอยากจะชี้ให้นายเห็นต่อว่า หากนำนโยบายนี้ไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักการของ “นโยบายสาธารณะที่ดี” ที่เราเคยเขียนไว้ว่า ต้องประกอบด้วย “กุศล ๓ ประการ” อันได้แก่ กุศลทางปัญญา กุศลทางสังคม และกุศลทางศีลธรรม จะพบว่า โครงการรับจำนำข้าวนี้ไม่มีสักกุศลเลย แต่กลับตรงกันข้ามเพราะมีแต่ “อกุศล” ทั้ง ๓ ประการ นั่นก็คือ

มีอกุศลทางปัญญา ที่ขาดการวิเคราะห์ วิจัย ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคมและสุขภาพ โดยเฉพาะมิติเชิงผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ตามมา

มีอกุศลทางสังคม เพราะขาดการมีส่วนร่วมจากผู้คนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มคิด ขั้นตอนการกำหนดนโยบาย ขั้นตอนการบริหารจัดการ และขั้นตอนการติดตามประเมินผล

มีอกุศลทางศีลธรรม ซึ่งพบว่าโครงการมีเจตนาในเชิงทุจริต ไม่ชอบมาพากล หวังผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจสำหรับกลุ่มตนหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นเครือข่ายของตน ไม่โปร่งใส ขาดระบบการติดตามตรวจสอบที่ดี

จึงนับเป็นตัวอย่างของ “นโยบายสาธารณะ” ที่เต็มไปด้วย “อกุศล” อย่างยิ่ง และเป็นอุทาหรณ์ให้กับนักการเมืองในฐานะผู้กำหนดนโยบายสาธารณะให้พึงสำเหนียกให้มากขึ้น ถึงผลกระทบที่จะติดตามมาเช่น ณ วันนี้

ขนาดเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เรายังไม่เคยได้ยินนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการนี้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารที่ผิดพลาดเลยสักครั้ง มีแต่ออกมาโทษคนโน้นคนนี้ว่าเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ทั้งหมด นี้ล่ะคือภาพสะท้อนถึงรัฐบาลที่ขาดธรรมาภิบาลเสียจริง

เราในฐานะลูกชาวนาคนหนึ่ง รู้สึกอดสูใจต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เมื่อช่วงเย็นเราแวะไปให้กำลังใจกับกลุ่มชาวนาที่มาปักหลักค้างคืนที่กระทรวงพาณิชย์มา ได้พูดคุยกับชาวนา ๒-๓ คน รู้สึกสงสารมาก น้ำตาไหลออกมาแบบไม่รู้ตัว นี่ก็ได้ข่าวว่า ชาวนาจากจังหวัดพิจิตรบ้านเรากำลังรวมตัวกันมาสมทบด้วยในอีกวันสองวันนี้

เราขอจบจดหมายฉบับนี้ไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะ โอกาสหน้าจะเขียนมาเล่าให้นายอ่านอีก

คิดถึงนายเสมอ

“เราเอง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น