วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนามตอนที่ ๒ : การศึกษา....ขุมพลังขับเคลื่อนคนเวียดนาม

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกรัก

คืนนี้พ่อมานอนอยู่ที่เมืองฮอยอัน เมืองท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม จดหมายฉบับที่แล้วพ่อได้เกริ่นไปคร่าวๆบ้างแล้วว่า การเดินทางครั้งนี้พ่อเดินทางร่วมกับคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตร “นักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” หรือ “นนส.” ซึ่งเป็นการอบรมที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาได้อบรมผ่านไปแล้ว ๓ โมดูล

สำหรับทริปนี้ คือ โมดูลที่ ๔ เป็นการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และทิศทางการพัฒนาของประเทศเวียดนามสำหรับการเตรียมตัวก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ศกนี้ โดยมีผู้ร่วมเดินทางเป็นเครือข่ายคนทำงานในพื้นที่ จาก ๑๙ จังหวัด รวมกว่า ๖๐ ชีวิต

คณะของเราเริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ หลายคนต้องมาขึ้นเครื่องพร้อมกันที่สนามบินดอนเมืองตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง เพื่อเตรียมตัวเดินทางโดยสายการบินนกแอร์ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ในเวลา ๐๖.๐๕ น. ความกระปรี้กระเปร่าจึงแปรเปลี่ยนเป็นความง่วงเหงาหาวนอนมิใช่น้อย

ปลายทางแรกของการเดินทางวันนี้อยู่ที่ "โรงแรมอันนาวานารีสอร์ทแอนด์สปา" จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมสำหรับเตรียมความพร้อมชาว “นนส.” และคณะพี่เลี้ยงก่อนออกเดินทางสู่ประเทศเวียดนามในวันรุ่งขึ้น

น้องวินคงจำโรงแรมนี้ได้นะครับ เมื่อ ๓ ปีก่อนที่เราจะเดินทางไปเวียดนามกัน เราก็มานอนพักที่นี่

บรรยากาศการเตรียมความพร้อมชาวคณะ ต้องบอกลูกว่าเป็นไฮไลท์สำคัญเลยทีเดียว เมื่อได้รับเกียรติจาก “ดร.สิริวงษ์ หงส์สวรรค์” อาจารย์สอนภาษาเวียดนาม ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้เสียสละเวลามาพูดคุยทั้งเต็มไปด้วยสาระที่เข้มข้น แต่ก็แกมไปด้วยความสนุกสนานมิใช่น้อย

อาจารย์สิริวงษ์ได้เล่าเรื่องราวต่างๆจำนวนมาก แต่ที่พ่อสนใจเป็นพิเศษ คือ เรื่อง “การศึกษา” คนเวียดนามยึดถือกันว่า “การศึกษาคือสิ่งสำคัญสำหรับคนเวียดนาม”

ว่าไปแล้ววิธีคิดของคนไทยและคนเวียดนามคงไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก หากเทียบกับคำขวัญ (slogan) ของคนไทยที่เคยอบรมสั่งสอนลูกหลานในสมัยก่อน และยังใช้ได้มาจนถึงปัจจุบันว่า “รากฐานของบ้านคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา” คนเวียดนามส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า “การศึกษาจะช่วยสร้างคนให้เป็นคน มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ และมีทุกอย่างตามที่ตนเองต้องการ”

หลังจากที่เด็กเวียดนามถือกำเนิดมา ครอบครัวชาวเวียดนามจะคิดถึงการศึกษาของลูกไปพร้อมๆกับการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของครอบครัวตน เศรษฐกิจของครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้สามารถเลี้ยงดู และส่งเสียลูกของตนได้เล่าเรียนถึงชั้นสูงสุด

เนื่องจากคนเวียดนามส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องประสบกับความยากลำบาก “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” มีแต่ความยากแค้นลำเค็ญ ดังนั้นชาวเวียดนามส่วนใหญ่จึงไม่ต้องการให้ลูกของตนประสบกับวิถีแบบบรรพบุรุษ

วิธีการที่จะทำให้ลูกของตนพ้นจากความยากลำบากได้นั้น มีวิธีการเดียวและเป็นวิธีการที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ สร้างรากฐานการศึกษาให้แก่ลูก

ในภาษาเวียดนาม มีคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของคนเวียดนามในการเลี้ยงดูลูกซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบันคือ “เติ๊ท ก่า หวี่ กอน ก๋าย” ที่หมายถึง “ทุกอย่างก็เพื่อลูก” ตีความได้ว่า “พ่อแม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้เพื่อลูก ไม่ว่าตนเองจะลำบากหรือเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม พ่อแม่ก็สามารถยอมเหนื่อยเพื่อนำเงินไปลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก”

สำหรับครอบครัวชาวนาหรือครอบครัวเกษตรกรผู้ยากไร้นั้น มีความคิดกันว่า ถ้าให้ลูกประกอบอาชีพ เกษตรกรรมหรือเป็นชาวนาเช่นเดียวกับตน ลูกจะไม่สามารถพ้นไปจากห้วงวิถีของความยากลำบาก แร้นแค้นลำเค็ญไปได้ ดังนั้นเพื่อความก้าวหน้าในอนาคตของลูก ครอบครัวจึงยอม “อดทน และ ทนอด” เพื่อผลักดันลูกให้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เพราะนี้คือเกียรติยศ หน้าตา ศักดิ์ศรีของครอบครัวและวงศ์ตระกูลอย่างยิ่ง

คนเวียดนามหลายๆ คนยังมีการเปรียบเทียบอาชีพของตนกับอาชีพของลูกหลานที่เกิดมาในรุ่นหลัง ยิ่งถ้าหากว่าพ่อแม่เป็นชาวนา แต่ลูกได้ดิบได้ดีเป็นถึงข้าราชการ ยิ่งจะเป็นผลดีในการผลักดันเชื้อสายและวงศ์ตระกูลของตนให้สูงขึ้น ผู้คนก็จะนับหน้าถือตา และให้เกียรติในฐานะที่สามารถทำให้ลูกเป็นอภิชาตบุตรได้

การอบรมเลี้ยงดูลูกของคนเวียดนามจะเน้นเรื่องของการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ที่เห็นได้ชัด หลายๆ บ้านจะบังคับให้ลูกเรียนเป็นหลัก โดยเฉพาะจะเน้นให้ลูกต้องเรียนเก่งไว้ก่อน มีการนำไปเปรียบเทียบกับเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง หากลูกทำไม่ได้ก็จะว่ากล่าวค่อนข้างแรง เช่น “งู ญือ จ๋อ” ที่หมายถึง “โง่เหมือนหมา” หรือ “งู ญือ บ่อ” ที่หมายถึง “โง่เหมือนวัว” โดยไม่ได้สนใจว่าลูกจะเสียใจหรือน้อยใจหรือไม่

พวกเขามองว่า ยิ่งว่ากล่าวประชดประชันแบบนี้ ยิ่งจะทำให้ลูกเกิดความคิดที่จะสู้หรือมีใจสู้ต้องเรียนให้เก่งขึ้น หรือทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม จะได้ไม่โดนพ่อแม่ดุด่าว่าโง่อีกต่อไป

มีบางบ้านที่ทุ่มเทให้กับลูกมาก ๆ ถึงขั้นเสียใจหรือจะเป็นจะตายกับผลการเรียนของลูกเลยทีเดียว หากออกมาไม่ตรงใจพ่อแม่หรือลูกสอบตก ดังนั้นหลายๆบ้านจึงจัดหาติวเตอร์หรือครูพิเศษมาสอนที่บ้าน หรือส่งลูกไปเรียนพิเศษในสถานที่ที่มีชื่อเสียง แม้ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายมากเท่าใด พ่อแม่ก็ยอม

นอกจากนั้นแล้วแทบทุกครอบครัวจะเข้มงวดกวดขันเรื่องการเรียนของลูกอย่างมาก พ่อแม่จะสอบถามและตรวจสอบการเรียนของลูกทุกวัน “ทำการบ้านวิชานั้นวิชานี้เสร็จหรือยัง วันนี้ไปเรียนพิเศษกับคุณครูคนนี้หรือไม่ อย่างไร ครูให้การบ้านอะไรมาบ้าง”

เด็ก ๆ จำนวนมากที่ไม่ปฏิบัติตามก็มักจะถูกลงโทษด้วยไม้เรียว พวกเขาถือปฏิบัติตามคำพังเพยของเวียดนามที่สอนกันมาแต่โบราณว่า “เอียว จอ ซอย จอ หวอด แก๊ท จอ หง็อท จอ บุ่ย” ที่แปลว่า “รักต้องให้ไม้เรียว เกลียดต้องให้ความหวานและความมัน” ซึ่งอธิบายได้ว่า “ถ้ารักลูกก็ต้องตีลูก ถ้าเกลียดลูกก็ต้องเอาอกเอาใจหรือตามใจลูก”

เมื่อก่อนระบบการศึกษาของเวียดนามนำรูปแบบมาจากสหภาพโซเวียตรัสเซีย ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม แต่ก็ยังได้รับอิทธิพลจากจีนและฝรั่งเศสอยู่มาก เพราะเคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของสองประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะอิทธิพลในเรื่องของการใช้ตัวหนังสือหรืออักษรที่ใช้ในการเรียนมาจากอักษร “หาน” หรือที่คนไทยเรียกว่า “ฮั่น” จากจีน และตัวอักษรโรมันที่เวียดนามใช้กันปัจจุบันที่เรียกว่า “ก๊วก หงือ” มาจากฝรั่งเศส เพราะในอดีตฝรั่งเศสประกาศให้เวียดนามใช้ตัวอักษร “ก๊วก หงือ” เป็นอักษรทางการ

ส่วนการเรียนการสอนของเวียดนามที่ได้รับอิทธิพลจากสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียนั้น จะปรากฏอยู่ในวิชาบังคับที่ในมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยต้องสอน นั่นคือ วิชาการเมืองซึ่งเน้นลัทธิสังคมนิยมและการปกครองประเทศแบบสังคมนิยม ทั้งแนวคิดของมาร์ก เลนิน และโฮจิมินห์

โดยเฉพาะแนวคิดของมาร์ก เลนินที่ว่า “ห็อก ห็อก ห็อก ห็อก เหนือ ห็อก” ที่หมายความว่า “เรียน เรียน เรียน เรียนต่อไป เรียนตราบชั่วนิจนิรันดร์” ซึ่งเชื่อว่าทุกคนต้องเรียน และการเรียนไม่มีวันสิ้นสุดสำหรับคนเวียดนาม แม้ว่าจะเรียนจบได้ใบปริญญาบัตรแล้ว ก็ยังต้องเรียนกันต่อไป เรียนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ระบบการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของเวียดนามกำหนดไว้ ๑๒ ปี หรือ ระบบ ๕-๔-๓ คือ ระดับ ๑ (ประถมศึกษา) เรียน ๕ ปี ระดับ ๒ (มัธยมศึกษาตอนต้น) เรียน ๔ ปี และระดับ ๓ (มัธยมศึกษาตอนปลาย) เรียน ๓ ปี ซึ่งแตกต่างกันเล็กน้อยกับประเทศไทยที่เรียนในระบบ ๖-๓-๓

สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ไม่ต่างจากที่เมืองไทยเท่าใดนัก จะต่างกันเล็กน้อยตรงที่หากใครที่ความสามารถไม่ถึงขั้นที่จะเรียนมหาวิทยาลัยได้ก็จะเลือกเรียนระดับ “กาว ดั่ง” ซึ่งเทียบได้กับระดับอนุปริญญาของไทย โดยที่เวียดนามจะเรียน ๓ ปี และระดับ “จุง เกิ๊บ” หรือสายวิชาชีพ เรียน ๒ ปี นอกจากนั้น หลังระดับอุดมศึกษาก็มีระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งแยกเป็นระดับปริญญาโท และปริญญาเอกเหมือนประเทศไทย

อาจารย์สิริวงษ์ยังเล่าให้ฟังถึงปัญหาจากวิธีการศึกษาของคนเวียดนามในปัจจุบัน ก็คือ เน้นการเรียนการสอนแบบให้ผู้เรียนต้องเรียนแบบ “ห็อก แหว็ต” ที่แปลว่า “เรียนแบบนกแก้ว” หมายถึง เรียนแบบท่องจำ แต่ปัญหาก็คือว่า พวกเขาไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและได้คะแนนสูง ๆ นั้น เมื่อเริ่มต้นทำงานก็ไม่สามารถนำความรู้ที่ตัวเองได้รับในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยมาปรับใช้ในการทำงานได้

การเรียนแบบท่องจำหรือ “ห็อก แหว็ต” นี้ เรียกได้ว่าเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่งของการศึกษาของเวียดนามในปัจจุบันนี้เลยก็ว่าได้ แม้ว่ากระทรวงการศึกษาและการฝึกอบรมของเวียดนามจะรับทราบปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นักศึกษาหลายคนจึงจำเป็นต้องเสียเวลาเพื่อไปเรียนปริญญาตรีอีกใบเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของตน แทนที่จะยกระดับของตนโดยการเรียนปริญญาโทต่อแทน

ปัญหาข้างต้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนสำคัญยิ่งนักมาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ตั้งแต่ในวัยเด็ก ที่เน้นสอนให้ลูกเรียนเก่งและได้คะแนนสูง ๆ แต่ไม่ได้สนใจในเรื่องของการนำไปใช้ในอนาคต เพราะคิดว่าต้องเรียนเก่งเพื่อจะได้ประกอบอาชีพรับราชการ เป็นเจ้าคนนายคน และเน้นความร่ำรวยเป็นหลัก

ความคิดดังกล่าวจึงส่งผลมาถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากในปัจจุบันหน่วยงานต่างๆในเวียดนาม โอกาสที่คนเวียดนามไปสมัครงานแล้วจะได้ทำงานดี ๆ ได้รับเงินเดือนสูงๆ มีค่อนข้างน้อยหากได้คะแนนสะสมหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไม่ค่อยดี ดังนั้นในปัจจุบันคนเวียดนามจึงเน้นให้ลูกของตนเรียนให้เก่ง ๆ ให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อที่จะหางานทำให้ได้ดีในอนาคต

พ่อฟังอาจารย์สิริวงษ์เล่าเรื่องนี้ ทำให้คิดไปถึงบางเหตุการณ์เมื่อ ๓-๔ ปีก่อนที่มีน้อง “อานนท์” ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยของประเทศไทย และมาฝึกงานในที่ทำงานที่พ่อทำอยู่ เพื่อหาประสบการณ์จากการทำงานจริง พ่อทราบว่าหลังจบปริญญาตรีที่ประเทศไทยแล้ว เขาได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างของบริษัทในประเทศไทยเลย และมาทราบอีกว่าตอนนี้ได้ทุนไปเรียนระดับปริญญาโทและเอกที่ประเทศรัสเซียแล้ว

พ่อเล่าเรื่องนี้ให้ลูกฟัง นอกจากจะทำให้รู้เรื่องระบบการศึกษาของคนเวียดนามแล้ว แต่สิ่งที่พ่อปรารถนาอย่างยิ่งยวดก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา การต้องการเห็นลูกเรียนสูง ๆ เพราะจะเป็นพื้นฐานในการทำงานเลี้ยงชีพในอนาคตต่อไป

อีกทั้งตอนนี้ประเทศเวียดนามให้ความสำคัญกับการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนมาก สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือ การสนับสนุนในคนเวียดนามสามารถสื่อสารภาษาอาเซียนได้เพิ่มจากภาษาของประเทศตนอย่างน้อยอีก ๑ ภาษา

ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากนั่นก็คือ คนเวียดนามจะสนใจเรียน “ภาษาไทย” กันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเห็นประเทศไทยเป็นตัวอย่างการพัฒนาของประเทศเขา มีการเปิดสอน “ภาษาไทย” เป็นวิชาหนึ่งในระบบการเรียนการสอนกันในหลายมหาวิทยาลัย

ซึ่งตรงนี้พ่อคิดว่าน่าศึกษาเป็นแบบอย่างเลยทีเดียว เพราะประเทศไทยหันไปสนใจภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากประชาชนในอาเซียนจำนวนมากไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ พ่อจึงอยากให้ลูกลองพิจารณาศึกษาภาษาในประเทศเพื่อนบ้านเราบ้าง นอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่ลูกเรียนอยู่แล้วเป็นปกติ

น้องวินครับ ตอนนี้พ่อรู้สึกง่วงมาก คงเพลียจากการเดินทางในวันนี้ พ่อจึงขอจบจดหมายฉบับนี้เพื่อจะเข้านอนเอาแรงไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ แล้วฉบับหน้าจะมาเล่าเรื่องสนุก ๆ ที่แฝงสาระให้ลูกฟังต่อนะครับ
รักลูกมากครับ

“พ่อโต”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น