วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ท่าข้าม : ตำบล “จัดการกันเอง”

๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๖

ผมมีความเชื่อว่า “อนาคตกำหนดได้”
ดังจะเห็นรูปธรรมจากวงบริหารยุคใหม่ ที่จะออกมาในรูปของ “วิสัยทัศน์” ที่กำหนดเป้าหมาย หรือเป้าประสงค์ที่คาดหวัง อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ไว้ในองค์กรตนเอง
หลักการดังกล่าวนี้จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีกับงานในชุมชนท้องถิ่น

๑๐ ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ วันที่รำลึกถึงการที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกรอบการดำเนินงานทางการเมือง การปกครองและการบริหารของประเทศไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ณ ตำบลแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย
“ตำบลท่าข้าม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา” ได้ใช้โอกาสวันสำคัญที่มีความหมายอันยิ่งใหญ่นี้ พร้อมใจกันประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาวะตำบลท่าข้าม" เพื่อเป็นกรอบและกติการ่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตำบล

แม้ผมจะไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงานที่สำคัญยิ่งครั้งนี้ แต่ก็รู้สึกดีใจมิใช่น้อยที่เห็นคนในพื้นที่ต่างๆ ลุกขึ้นมาป่าวประกาศว่า “ขอกำหนดอนาคตตัวเอง ว่าอีก ๕ ปี ๑๐ ปี จะพัฒนาพื้นที่ของตนเป็นอย่างไร

ชาคริต โภชะเรือง แกนนำคนสำคัญในพื้นที่ได้ส่งสารมาให้ทราบว่า
ธรรมนูญสุขภาวะตำบลท่าข้าม มีจุดเด่นอยู่ที่
เป็นการทำงานในมิติการปกครองร่วมกับมิติการพัฒนา โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับท้องที่เป็นอย่างดี
มีกระบวนการที่สร้างกติกาจากชุมชนระดับหมู่บ้านขึ้นสู่กติการะดับตำบล
ครอบคลุมการพัฒนาทุกด้าน อันมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนตำบลท่าข้าม
ใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมจากคนท่าข้ามอย่างกว้างขวาง อันเป็นรากฐานประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับหมู่บ้านและระดับตำบล

เขายังได้อธิบายต่ออีกว่า
“ธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่เน้นการใช้อำนาจบังคับสั่งการ หากแต่เป็นข้อตกลงร่วม เป็นสัญญาประชาคมหรือพันธะสัญญาร่วมกันที่ทุกคนภาคส่วนพร้อมปฏิบัติ เพราะมีการนำภูมิปัญญามาปรับใช้อย่างหลากหลาย บนฐานจารีตประเพณี คุณธรรม จริยธรรมกำกับ เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านต่างๆของชุมชน อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของชุมชม ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภาวะ รวมถึงยังยึดกระบวนการมีส่วนร่วมแบบเข้มข้น ลงลึกในระดับตัวบุคคลและครัวเรือน หวังทำให้ชุมชนเป็นเจ้าของ และเกิดความงดงามอันหลากหลายขึ้นเต็มพื้นที่
ธรรมนูญท่าข้ามจึงเป็นตัวอักษรที่กินได้ อยู่ในวิถีชีวิต มิใช้หยิบยืมมาแต่รูปแบบจากต่างถิ่น เนื้อหาทุกตัวอักษรเกิดขึ้นจากคนท่าข้าม มิใช่ถูกกำหนดมาจากผู้อื่น”

ว่าไปแล้วที่ผ่านมาประเทศไทยมีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพไปแล้วในหลายพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และระดับหมู่บ้าน กระจายอยู่ทั่วประเทศทุกภาค
และทุกแห่งต่างยืนยันตรงกันว่า “ธรรมนูญสุขภาพของพวกเขา” นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคล ใช้เป็นกรอบการทำงานของคน คณะบุคคล และองค์กรต่าง ๆในพื้นที่นั้น เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีขึ้นของคนในชุมชนได้จริง
นี้จึงนับเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์สำคัญว่า ชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพ สามารถที่จะดูแลและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่กันเอง ด้วยฝีมือของเขาเองได้ และประโยชน์ก็เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ท่ามกลางข้อเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศที่หลากหลายอยู่ในขณะนี้ ผมจึง (แอบ) หวังไว้อย่างสูงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ตำบลท่าข้ามในวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในปีนี้ จะเป็นตัวอย่างที่สำคัญนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหารบ้านเมือง จากเดิมที่คุ้นชินกับการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไปสู่การกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่นเสียที !!!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น