๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖
ถือเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง ที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปกราบนมัสการและรับพรปีใหม่จากพระภิกษุรูปหนึ่งที่ผมรักและศรัทธา ก่อนที่ปี ๒๕๕๖ จะเดินทางผ่านไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ผมเรียกพระรูปนี้ว่า "หลวงตา" จนติดปาก นับตั้งแต่ที่ผมรู้จักมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ ซึ่งต่อมาในปีถัดไปจึงได้มีโอกาสทำงานร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “สุขภาวะพระสงฆ์” ที่หลวงตาเป็นหัวเรือใหญ่
แม้ว่าปีนั้นเรื่องที่หลวงตาพัฒนาจะยังคงไม่ได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ไม่ได้ทำให้หลวงตาลดละความพยายามลง กลับยิ่งเพิ่มความมุ่งมั่นใจตั้งใจยิ่งขึ้น จนในที่สุดเรื่องนี้ก็ได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ และคณะรัฐมนตรีก็รับทราบมติดังกล่าวเพื่อพัฒนาให้เกิดกลไกการดำเนินการต่อไปในอนาคต
เหตุผลสำคัญที่ หลวงตาพยายามผลักดันเรื่องนี้ เพราะประสบการณ์ทำงานพัฒนาที่ยาวนานหลายสิบปี กอปรกับการหารือกับกรมอนามัย จึงได้ทราบว่าปัจจุบันพระชั้นอาวุโสเกิดเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก อย่างน้อยกว่า ๑ แสน ๕ พันรูป ที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน นอกจากนั้นยังพบว่ามีวัดไม่ถึง ๑๐ % ของวัดทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัดในประเทศไทย ที่มีการจัดสภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามเกณฑ์ “วัดส่งเสริมสุขภาพ”
สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความมุ่งหวังที่ปรารถนาจะเห็นระบบการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ให้มีสุขภาพดี สามารถเป็นกำลังหลักในการสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปได้ เพราะโดยปกติแล้วพระสงฆ์ก็เป็นกลุ่มเครือข่ายที่มีพลัง มีพระนักพัฒนาจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ ประสบการณ์และความสามารถในการเข้าไปพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ อย่างมากมายด้วยอยู่แล้วเช่นเดียวกัน
หลวงตาที่ผมกำลังพูดถึงท่านนี้ คือ “หลวงตาแชร์ พเนจรพัฒนา” หรือ “หลวงตาแชร์” เจ้าอาวาสวัดอาศรมธรรมทายาท ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นั่นเองครับ
“หลวงตาแชร์” เดิมชื่อ “ชฎิล ทับเพ็ชร” วุฒิทางธรรมขั้นสูงสุดถึงนักธรรมเอก ส่วนวุฒิทางโลกท่านได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เดิมหลวงตามีฉายาทางสงฆ์ว่า “พระชฎิล อมรปัญโญ” และได้เลื่อนฐานะเป็น “พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปัญโญ” ในปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระครูอมรชัยคุณ”
เมื่อช่วง ๓ เดือนก่อนหน้าจัดงานในวันนี้ หลวงตาเกิดอาพาธหนักต้องเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ด้วยหลายโรคทั้งไฮเปอร์ไทรอยด์ ไฮโปไทรอยด์ และโรคเกี่ยวกับลำไส้ ต้องผ่าตัดและเรียงลำไส้ใหม่
หลวงตาได้เล่าตอนเริ่มการประชุมว่า “ตอนที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล นึกว่าจะไม่รอดเสียแล้ว หลับตาครั้งใดก็เห็นแต่โลงศพทุกครั้ง”
แม้ร่างกายของหลวงตาดูซูบลงไปมาก น้ำหนักลดไป ๑๐ กว่ากิโลกรัม แต่หลวงตาไม่ยอมไปพัก นั่งประชุมกับเราตลอดวัน
งานในวันนี้ ผมได้นิมนต์พระสงฆ์จากเครือข่ายสังฆพัฒนาทั้ง ๔ ภาค รวม ๑๕ รูป มาร่วมประชุมปรึกษาหารือที่อาศรมที่หลวงตาพักอยู่ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” สู่การปฏิบัติ ซึ่งพระทุกรูปต่างช่วยกันระดมสมองจนได้ร่างแผนการทำงานออกมา และมีนัดคุยกันในครั้งถัดไป ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่จังหวัดชลบุรี
หลังเสร็จสิ้นการประชุม ผมได้มีโอกาสเดินชมสภาพของอาศรม ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ สร้างความร่มรื่นให้กับวัดเป็นอย่างมาก ด้านหลังวัดติดกับ “ซับประดู่” เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีร้านอาหารพื้นขัดแตะหลังคามุงแฝกปลูกเรียงรายริมอ่างอยู่เต็มไปหมด
ภายในวัดมีอาคารขนาดใหญ่หลายหลัง ซึ่งเป็นสถานที่จัดค่ายฝึกอบรมสร้างเสริมคุณธรรมและจริยธรรมแบบมีส่วนร่วมให้กับเด็กและเยาวชนอยู่เนืองๆ โดยตั้งแต่จัดตั้งอาศรมมาเมื่อปี ๒๕๒๖ มีผู้เข้าอบรมนับหมื่นคนมาจากทั้งในและนอกจังหวัดนครราชสีมา
เมื่อเดินเข้าไปดูในกุฏิที่หลวงตาพัก ภายในห้องเต็มไปด้วยหนังสือ เอกสารวางอยู่เต็มโต๊ะและชั้นวางเอกสารนับพันเล่ม มีเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์พร้อมที่จะทำงาน มองไปที่อีกมุมหนึ่งก็จะเห็นแฟ้มเอกสารที่มีข้อความที่สันแฟ้มเขียนให้เห็นชื่อโครงการหรืองานที่กำลังทำอยู่นับสิบแฟ้มวางตั้งเรียงรายอยู่ ซึ่งบ่งบอกว่า “หลวงตาครุ่นคิด ให้ความสำคัญต่อการทำงานเรื่องนี้ยิ่งนัก”
เดินลึกเข้าไปอีกห้อง กลายเป็นห้องสมุดเล็ก ๆ มีหนังสือทั้งธรรมะและหนังสือแนวพัฒนาชุมชนมากมายวางเรียงรายอยู่บนชั้นเกือบ ๑๐ แถว
หลวงตาเคยเล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมามาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เติมหัวใจให้สังคม ที่ร่วมมือกับ ๒๒ เครือข่ายทั่วทั้งจังหวัด คัดสรรเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มานำเสนอและแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง จนพัฒนาเป็นประเด็นขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในจังหวัดขึ้นมา
จากการทำงานพัฒนามาตลอดชีวิต หลวงตาได้เข้ารับพระราชทาน “รางวัลเสาเสมาธรรมจักร” จากพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ผมอดที่จะถามหลวงตาถึงเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศไม่ได้ ซึ่งหลวงตาก็ได้อุปมาอุปไมยไว้อย่างชัดเจนว่า “ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีกาฝากมาเกาะกินเนื้อไม้ ฝังรากลึก การจะเอากาฝากนั้นออกย่อมต้องเจ็บและเสียเลือดเสียเนื้อบ้าง ย่อมเป็นธรรมดา”
วันนี้ผมเดินทางกลับบ้านอย่างมีความสุข ที่เห็นหลวงตามีสุขภาพแข็งแรงขึ้น ได้รับพรปีใหม่จากหลวงตา และได้ทำงานสนองเจตนารมณ์ที่หลวงตาริเริ่มไว้เมื่อ ๓ ปีก่อน
ผมขอกราบนมัสการหลวงตามาด้วยความเคารพ ณ โอกาสนี้อีกคำรบหนึ่งครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น