วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

จงแข็งแกร่งเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

“บนเส้นทางที่ต้องเลือก ย่อมเลือกเส้นทางที่คิดว่าดีกว่า แม้นไม่ใช่เส้นทางที่เชื่อก็ตามที” เป็นคำพูดที่ผมใช้ปลอบประโลมใจตนเองทุกครั้ง ยามเหนื่อยล้าจากการทำงานในองค์กรที่ “ใหญ่ แข็ง และยาก” เช่นนี้

วันนี้เป็นวันเลี้ยงส่งน้องคนหนึ่งในสำนักงานที่ร่วมงานกันมากว่าสามปี ผมยังจำได้แม่นยำจากวันแรกที่เธอก้าวเข้ามา ณ ที่แห่งนี้ สาวน้อยช่างฝันที่ทำงานในองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ วนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบ “case by case หรือรายกรณี” ทำให้ปัญหาไม่รู้จบสิ้น หนทางเดียวที่ ปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน คือ จักต้องสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย เธอจึงผันตนเองไปเรียนปริญญาโทด้านนี้โดยตรง และก้าวเข้ามาทำงานที่นี่ในฐานะนักนโยบายสาธารณะ

เธอเล่าว่า “ระยะเวลาสามปีที่ได้อยู่ที่องค์กรแห่งนี้ ได้หล่อหลอมให้เธอเข้มแข็ง มีประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นองค์กรที่รักและศรัทธา” แต่นั้นเองในอีกมุมหนึ่ง วัยช่างฝันที่พร้อมโบยบินทะยานกล้า พร้อมออกเดินสู่เส้นทางแสวงหาที่ไม่คุ้นชินและอยู่ในกรอบเพียงเท่านั้น เธอจึงตัดสินใจออกเดินทางเพื่อไปทำงานกับองค์กรต่างประเทศ ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชากรข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านแถวอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากแทน

มากไปกว่านั้น อาจเป็นเพราะที่แห่งนี้ “ใหญ่ แข็ง และยาก” การทำงานจึงดูผกผันและเป็นเส้นขนานกับชีวิตสาวนักแสวงหาที่ต้องมาพร้อมกับ “ความคาดหวัง ความจริงจากการทำงาน และความรู้จากการการเรียน” ไปพร้อม ๆ กันด้วย

“ใหญ่” เพราะงานที่เรารับผิดชอบเป็นงานที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพจากแนวคิดที่สุขภาพเป็นของหมอและเรื่องหยูกยา กลายมาเป็น “สุขภาพเป็นของทุกคน” และที่สำคัญงานที่องค์กรเรากำลังทำอยู่นี้เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เดินช้าๆ ฟังอย่างตั้งใจ และต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงที่ยาวนานเหลือเกิน

“ยาก” เพราะงานที่องค์กรเรากำลังทำ เป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยไม่คุ้นชิน อีกทั้งต้องใช้ยุทธศาสตร์การทำงานแบบใหม่ ที่อาศัยการสานพลังในการทำงาน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมเดิมที่เน้นการสั่งการ และไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วม จึงต้องอาศัยเวลาในการทำงานค่อนข้างมากจึงจะได้เห็นผลเป็นรูปธรรม

“แข็ง” เพราะงานที่องค์กรเราทำเป็นงานที่ทั้ง “ใหญ่และยาก” คนทำงานจึงต้องมีความแข็งแกร่ง ต้องอดทน หมั่นเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเกาะติดไม่ปล่อยวาง รวมถึงแสวงหาความรู้นอกกรอบจากที่เราคุ้นเคย

เพราะ ๓ สิ่งนี้เอง ที่นี่จึงเป็นได้ทั้งพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักทดลอง และเป็นได้ทั้งพื้นที่เพื่อการเดินจากไปสำหรับผู้ไม่คุ้นชิน

“ที่นี่” พวกเราทำงานทำงานกันหนักมากและทุกระดับ เพื่อทำให้งานที่ “ใหญ่และยาก” ได้หยั่งรากอยู่ในสังคมไทยจนเป็นเรื่อง “ปกติ”

เราจึงเห็นเพื่อนหลายคนร้องไห้เพราะเหนื่อย เครียด จากปริมาณงานที่ตนเองรับผิดชอบ

เราจึงเห็นเพื่อนหลายคน บ่น เล่า บอกถึงความอึดอัดในการทำงานและปัญหาครอบครัวที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่และเรียกร้องทับทวี

เราจึงเห็นเพื่อนหลายคน นำความอึดอัดไประบายในหน้ากระดานของตนทางโซเซียลมีเดีย เพื่อหวังว่า “ความปลอบใจจะเป็นยาใจให้ฮึดสู้อีกครั้งหนึ่ง”

และเราอีกหลายๆคนต่างก็ต้องช่วยกันทำหน้าที่เยียวยาใจ ระบายความในใจ ความกังวล ความสงสัย เป็นที่ปรึกษา เสริมซ่อมในจุดที่ผิดพลาดหรือเสนอแนะแก้ไขในจุดบอด เติมกำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้งาน “ใหญ่และยาก” บรรลุผล และยืนยันกันดังๆอีกครั้งว่า “สิ่งที่เราเชื่อและทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่มาถูกทางแล้ว”

ดังนั้นการเดินจากไปของน้องในวันนี้จึงคือ “บททดสอบอีกครั้งทั้งของน้องและพวกเราที่นี่” และนี้เองทำให้ผมหวนย้อนถึงบางอารมณ์ของตนเอง ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นเดียวกัน

วันนั้น.................

เหมือนผมยืนอยู่ท่ามกลางเขาควาย เขาด้านขวาเปรียบเสมือนงานที่ต้องรับผิดชอบ เขาด้านซ้ายเปรียบเสมือนครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าครอบครัว ที่มีภรรยา มีลูก มีพ่อ และมีญาติที่ต้องคอยช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกัน

บางครั้งด้วยภาระงานและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ จำต้องทิ้งภาระทางครอบครัว เหล่านี้คือความกดดันที่เกิดขึ้นเสมอมา

จนบางครั้งสะกิดบอกกับเพื่อน ๆ ว่า คงถึงเวลาแล้วที่ต้องตัดสินใจบางอย่าง แต่เมื่อใกล้เข้ามา ก็เกิดเปลี่ยนใจ เพราะเมื่อเราศรัทธาในสิ่งที่เราทำ เราจึงจะทำงานได้อย่างมีความสุข

อันที่จริงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีข้อดี กระทั่งความทุกข์ที่สุดก็ยังเป็นบทเรียนสอนเราให้มองเห็นและเรียนรู้จากความทุกข์นั้น ที่บอกกับเราว่า "โลกไม่ได้มีแค่หลุมแห่งความทุกข์ที่เรากำลังจมอยู่" ทางที่ดีที่สุด คือ ก้าวออกมา และเดินหน้าต่อไป เพราะความทุกข์ไม่ใช่สัญลักษณ์ของคนอ่อนแอ แต่เป็นแค่ขั้นบันไดของคนที่กำลังจะเข้มแข็งในอนาคต

“เปลี่ยนแปลงตนเองให้แข็งแกร่ง เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในที่สุด” ยังเป็นคำที่ใช้ได้ดีสำหรับทุกคน “ที่นี่” ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น