วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สมัชชาสุขภาพหยั่งรากแก้วที่ กทม.

๒ ธันวาคม ๒๕๕๖
เปลี่ยนแปลงไปเยอะมากทีเดียวกับการเจริญเติบโตของกระบวนการ "สมัชชาสุขภาพ" สำหรับคนกรุงเทพมหานคร จากเมื่อ ๓ ปีก่อน ยังจำกัดวงอยู่ในวงแคบ ๆ แต่วันนี้ได้แผ่ขยายไปครอบคลุมทุกเขตของนครหลวงแห่งนี้แล้ว สมัชชาสุขภาพได้หยั่งรากแก้วที่นี้แล้วจริง ๆ

ภาพที่ผมเห็นผู้คนที่มาร่วมประชุมกันคึกคักเกือบ ๑๐๐ ชีวิต ภายในห้องประชุมไพบูลย์ ศิริวัฒนธรรม ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. นั้นดูเกินคาดกว่าที่ผมตั้งใจไว้มากทีเดียว เพราะผมคิดว่าคงไม่แตกต่างจากภาพในสมัยที่ผมรับผิดชอบงานนี้โดยตรงเมื่อ ๓ ปีก่อน
ในสมัยนั้นผมและทีมงานต่างพยายามชักชวนผู้คนเข้ามาปรึกษาหารือเพื่อขับเคลื่อนเครื่องมือ "สมัชชาสุขภาพ" ในการนำไปพัฒนานโยบายสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า เหนื่อยและยากเย็นแสนเข็น ทั้งนี้เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจนั่นเอง
แต่วันนี้ผมได้เห็นผู้คนหน้าใหม่ ๆ ผมสอบถามดูจึงรู้ว่าส่วนใหญ่เป็นแกนเครือข่ายจากสภาองค์กรชุมชน ที่กระจายอยู่ใน ๕๐ เขต ของ กทม. ที่มาร่วมในเวที "สานพลังเครือข่ายสร้างสุขภาวะคน กทม." กัน

เวทีที่จัดขึ้นวัตถุประสงค์สำคัญ ๒ ประการ คือ การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ และการระดมสมองในการนำเครื่องมือสมัชชาสุขภาพไปขับเคลื่อนในพื้นที่
กระบวนการเพื่อตอบวัตถุประสงค์ข้อแรก มีการแบ่งกลุ่มเป็น ๘ กลุ่ม นำร่างมติไปพิจารณากัน แล้วนำมาเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา โดยมีการเลือกประธานและเลขานุการกันเอง ซึ่งดูแข็งขัน มีรูปแบบเฉพาะ และข้อเสนอก็มีเหตุมีผลที่ดี
สำหรับวัตถุประสงค์ประการที่สอง นั้นใช้วิธีการตั้งวงเสวนา โดยเชิญคนทำงานในพื้นที่มาบอกเล่าว่าที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง และกำลังทำอะไรอยู่ นอกจากนั้นยังได้เชิญ ผอ.พอช. มาร่วมเวทีด้วย และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้

สาระที่ผมได้นำเสนอไปนั้นได้อธิบายให้เห็นความหมายของคำว่า "สุขภาพ" ว่ามันครอบคลุมกว้างขวางมาก โดยยกตัวอย่างสถานการณ์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องของสุขภาพด้วย ได้อธิบายเรื่องของ "นโยบายสาธารณะ" ว่าทุกคนสามารถเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาได้ และยังได้อธิบายให้เข้าใจหลักการพื้นฐานของกระบวนการ "สมัชชาสุขภาพ" อีกด้วย
สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานในภายภาคหน้า ซึ่งผมนำเสนอในลักษณะ "ปุจฉา-วิสัชชนา" ดังนี้
ปุจฉา : ควรมีการสร้างช่องทางเพื่อนำเสนอประเด็นเชิงนโยบายต่อกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้ง่ายขึ้น
วิสัชชนา : ขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการให้ง่าย รับแม้กระทั่งการเขียนใส่กระดาษทิชชู่ก็รับ ซึ่งได้มอบหมายให้น้องทีมงานจัดส่งรายละเอียดมาให้แล้ว

ปุจฉา : อยากให้มีการขับเคลื่อนเพื่อดูแล "สุขภาพคนเมือง" ที่มีความแตกต่างและหลากหลายของผู้คน
วิสัชชนา : ขณะนี้ สช. กำลังตั้งวงเรื่องนี้อยู่ และคาดว่าจะสามารถกำหนดเป็นเรื่องเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการจัดทำข้อเสนอต่อ กทม. อีกทางหนึ่งด้วย

ปุจฉา : เสนอให้เพิ่มความสำคัญกัยสุขภาพชองกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น กลุ่มขับคนรถมอเตอร์ไซด์ คนขับแท๊กซี่ คนรับงานไปทำที่บ้าน
วิสัชชนา : ที่ผ่านมาได้เคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปแล้ว ซึ่งก็ได้มีการขับเคลื่อนไปมากพอสมควร อาทิ การออกกฎหมายว่าด้วยการรับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น

ปุจฉา : เสนอให้ สช. ขยายงานลงไปให้ถึงพื้นที่ระดับชุมชนให้มากขึ้น
วิสัชชนา : ผมได้ขอความร่วมมือจากผู้แทนชุมชนในแต่ละเขตให้ช่วยขยายงานนี้ให้ด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการขยายงานไปมากทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว

ปุจฉา : เสนอให้มีการรายงานผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมาให้คน กทม.ได้ทราบด้วย
วิสัชชนา : ปัจจุบันได้มีการจัดทำเว็ปไซด์การรายงานผลทาง www.samatcha.org แต่อย่างไรก็ตามจะนำข้อเสนอไปพิจารณาเพื่อพัฒนาช่องทางการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น

ปุจฉา : อยากให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียยนรู้ต่อโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน
วิสัชชนา : ตอนนี้ได้รับการร้องขอจากภาคีเครือข่ายจากจังหวัดต่าง ๆ มากมาย ซึ่งกำลังประสานงานกับทาง พอช. เพื่อจัดเวทีตามข้อเสนออยู่

ปุจฉา : อยากให้มีการเตรียมความพร้อมของเครือข่ายในเรื่องการปฏิรูปการเมืองที่เป็นข้อเสนอจาก กปปส. โดยเฉพาะเรื่อง "สภาประชาชน"
วิสัชชนา : ได้เสนอแนะให้ทาง พอช. เป็นเจ้าภาพ เพราะจะเกี่ยวข้องกับสภาองค์กรชุมชนที่ดูแลอยู่

นอกเหนือจากสาระและกระบวนการที่ผมได้นำเสนอไปข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมถือได้ว่า การขับเคลื่อนงานพัฒนาในเขตเมืองหลวงของประเทศไทยนี้ กำลังเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
สิ่งนั่นก็คือ การจับมือกัยของภาคียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญ ทั้งจาก พอช. จาก กทม. จาก สปสช. จากสภาองคืกรชุมชนทั้ง ๕๐ เขต และจาก สช. ที่มาทำงานร่วมกันอย่างเป็นมิตร ซึ่งเริ่มมีความเข้มแข็งของการสานความร่วมมือเป็นลำดับ

นับว่าการเดินทางที่ยาวนานกว่า ๓ ปี ที่ผ่านมา เป็นการเดินทางที่เปรียบเสมือนสายลำธารเล็ก ๆ หลายเส้น ที่ต่างก็ไหลลัดเลาะมาตามซอกโขดหินที่คดเคี้ยวไปมา จนมารวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ขึ้นและกำลังไหลนำพาความสุขมาสู่คนที่พักอาศัยอยู่บนสองฟากฝั่งของแม่น้ำสายนี้
ต้องขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ได้ร่วมกันสานเสริมลำธารสายเล็ก ๆ ให้มารวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายนี้ และขอฝากให้ทุกคนเฝ้าคอยดูแลรักษาแม่น้ำที่ทุกคนเป็นเจ้าของนี้ ให้สะอาดปราศจกมลพิษที่จะมาทำลายความสวยงามของแม่น้ำสายนี้ต่อไปในอนาคตและส่งมอบให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไปด้วย

ดีใจจริง ๆ ครับ กับการที่ได้มีโอกาสมาร่วมเป็นประวัติศาสตร์อันสำคัญของคน กทม. ในวันนี้ แม้นจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของ กปปส. ที่ประกาศให้หน่วยงานรัฐหยุดงานก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น