วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนตำบลเปือย ขอ "จัดการกันเอง"

๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๖

“คนตำบลเปือย อยู่ดีมีแฮง ฮักแพงแบ่งปัน สร้างสรรค์เฮียนฮู้ อยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้า ภายในปี ๒๕๕๙”
เป็นภาพฝันที่คนตำบลเปือยร่วมกันกำหนดสิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ในอนาคตข้างหน้าไว้

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งชาวตำบลเปือยได้ร่วมกันจัดทำและประกาศใช้มาตั้งแต่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔

รุ่งโรจน์ โฉมรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลเปือย หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญได้เล่าให้ฟังว่า “ด้วยทุนทางสังคมที่หลากหลาย มีความเข้มแข็งเชิงโครงสร้าง กอรปกับความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายในตำบลเปือย ทำให้พื้นที่แห่งนี้สามารถจัดทำธรรมนูญสุขภาพฉบับแรกของภาคอีสานขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ”

ธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย ใช้เวลายกร่างเพียง ๖ เดือนก็บรรลุผล และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยได้มีการบรรจุสาระที่ปรากฏไว้ในธรรมนูญสุขภาพของตำบลเปือย เข้าไปในทุกๆ โครงการ ไม่ว่าต่อยอดโครงการเก่าหรือโครงการใหม่ๆ จนได้ผลลัพธ์อย่างดี

แรงบันดาลใจของการจัดทำธรรมนูญ เกิดขึ้นหลังจากไปศึกษาดูงานสร้างสุขภาวะที่ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จึงได้นำแนวคิดและประสบการณ์กลับมาดำเนินการทันที
ขั้นตอนการทำงานจำแนกเป็น ๓ ขั้นตอนง่าย ๆ อันได้แก่ การประกาศเจตนารมณ์ การสร้างกลไกการขับเคลื่อน และการจัดการเชิงระบบด้วยวิชาการ
ทุกขั้นตอนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วม มีการจัดเวทีระดมความเห็น และเวทีประชาคมภายใต้โครงการ “เปือยรุ่งโรจน์” บนเป้าหมายสูงสุด คือ สุขภาวะของชาวตำบลเปือย

ภายหลังประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพของตำบลแล้ว ได้นำมาเป็นกรอบในการจัดทำโครงการที่จะพัฒนาในตำบล
ที่ผ่านมาเกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการปลอดเหล้าบุหรี่ โครงการประกวดหน้าบ้านสวย หลังบ้านสวย ในบ้านงาม เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนดูแลความสะอาด ส่งเสริมสุขลักษณะที่ดี และโครงการกองบุญสัจจะสวัสดิการไทบ้าน เพื่อส่งเสริมการออมวันละ ๑ บาทเพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับคนในตำบลยามเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น

ความน่าสนใจของธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย ผมพบว่า
ภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องแปลความ หรือใช้ศัพท์ทางวิชาการมากเกินไป ทำให้สามารถเข้าถึงชาวบ้านทุกคนได้ง่าย

ใช้สื่อท้องถิ่น ผ่านวิทยุชุมชนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ทำให้ผู้คนทั่วชุมชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

สร้างความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในชุมชน รวมถึงพระสงฆ์ในพื้นที่ ช่วยกันย้ำเตือนถึงปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาร่วมของทุกคน เรียกว่าใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่อย่างเต็มที่

มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนอย่างจริงจังหลายคณะ โดยดึงศักยภาพจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน

อีกทั้งขณะนี้ยังพบว่า ในพื้นที่ได้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นทุกหมู่บ้าน ปรากฏว่ามีการเสนอประเด็นเพิ่มเติมเข้าไปในธรรมนูญสุขภาพด้วย ๓ เรื่อง คือ
เรื่อง การเตรียมคนในตำบลเปือยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
เรื่อง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากที่ตำบลเปือยมี “เสมาพันปี” อายุกว่า ๑,๓๐๐ ปีอยู่ในพื้นที่ ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงความเก่าแก่ของชุมชน
เรื่อง การส่งเสริมการปลูกและการทำตลาดข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะขยายแนวคิดเรื่องธรรมนูญสุขภาพของตำบลเปือยให้ครอบคลุมทุกตำบลในจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นไปตามธรรมนูญคนอำนาจเจริญจัดการตนเอง ที่ประกาศใช้ไปแล้วเช่นกัน

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ตำบลเปือย แม้นเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่น่าจับตามอง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีกระบวนการขับเคลื่อนสุขภาวะของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน ตามหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง

ทำให้ตำบลเปือยได้รับรางวัล “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ประจำปี ๒๕๕๖ อันเป็นรางวัลสำหรับพื้นที่ที่มีการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรม ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากที่ผมต้องการชื่นชมพื้นที่ต้นแบบตามที่ได้นำเสนอมาข้างต้นแล้ว เจตนาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พื้นที่แห่งนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่า ในหลายชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นพื้นที่ที่เข้มแข็ง เป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการกันเองได้

ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาเอาจริงเอาจังกับ “การกระจายอำนาจ” ไปให้ชุมชนท้องถิ่นเสียที สนับสนุนงบประมาณให้มากขึ้น เปลี่ยนวิธีคิดจากการสั่งการจากข้างบน ให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ ระดมทุน จัดการกันเอง โดยรัฐส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริม เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการปัญหาในชุมชนด้วยรูปแบบและบริบทที่สอดคล้องกับฐานรากของตนเอง อันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับกระแสการปฏิรูปประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

อีกทั้งยังสอดคล้องกับมาตรา ๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น