๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖
แม้ชื่อ "พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย" จะเป็นที่คุ้นชินของหลายๆคนในเครือข่ายคนทำงานด้านแรงงาน แต่สำหรับผมแล้ว การเดินทางครั้งแรกมา ณ ที่แห่งนี้ มิใช่เรื่องง่าย ขนาดป้ายชื่อสูงตระหง่านตั้งเด่นอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ แต่ผมก็ยังขับรถเลยไปจนได้
พลันเปิดประตูห้องประชุมเข้าไป สายตาก็สัมผัสกับภาพและโปสเตอร์กระดาษติดตามผนังห้อง ด้วยข้อความทั้งเชิงรณรงค์และเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานในประเด็นต่างๆเต็มไปหมด
ขณะนั้นผู้เข้าประชุมราว ๒๐ กว่าคน กำลังถกแถลงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างออกรส
วันนี้ผมได้รับเชิญจาก “คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย” ให้ไปคุยเรื่อง “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ให้กับสมาชิกขององค์กรฟัง ผมรีบตอบรับคำเชิญทันที เพราะเห็นว่านี้เป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จะได้ไปขยายแนวคิดของเครื่องมือชิ้นนี้
แต่สิ่งที่ผมได้รับมากกว่าการทำหน้าที่ตาม “คำเชิญ” แล้ว ผมยังได้กำไรจากการนั่งฟังเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยที่จัดขึ้นก่อนช่วงเวลาของผม
งานวิจัยภายใต้หัวข้อเรื่อง “การจ้างงานที่ไม่มั่นคง” ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทย เป็นหัวข้อที่ผมไม่รู้จักมาก่อนเลย แต่เมื่อฟังไป ๆ ทำให้เห็นสภาพของปัญหาที่เกินคาด ที่กำลังจะเกิดกับกลุ่มคนที่เป็นฐานทุนอันสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยแห่งนี้
ที่ผ่านมาเรามักเห็นงานวิจัยที่ทำโดยนักวิชาการหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่งานวิจัยเรื่องนี้เกิดขึ้นจากนักวิจัยที่เป็นตัวแรงงานซึ่งทำงานอยู่ในโรงงานทุกวัน พวกเขาได้ลุกขึ้นมาเก็บข้อมูลเอง เขียนงานวิจัยเอง และนำเสนอเองในวันนี้
ลักษณะ “การจ้างงานที่ไม่มั่นคง” นั้น มีขอบเขตที่ครอบคลุมงานที่ลูกจ้างที่อยู่ในสภาพการจ้าง ดังนี้
พนักงานเหมาช่วง หรือเหมาค่าแรง หรือ SUBCONTRACT เป็นพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทบริการจัดหางาน และถูกส่งให้ไปปฏิบัติงานในบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัทบริการจัดหางานแห่งนั้น คนงานกลุ่มนี้มักจะได้ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมกับพนักงานประจำ เมื่อใดที่ยอดการผลิตลดลงกลุ่มคนงาน SUBCONTRACT จะถูกส่งคืนไปยังต้นสังกัดเดิมซึ่งเป็นนายจ้างชั้นต้นตัวจริงของลูกจ้าง
พนักงานสัญญาจ้างระยะสั้น คือ พนักงานที่บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้รับลูกจ้างเข้ามาทำงานโดยตรง ไม่ผ่านนายหน้าบริษัทบริการจัดหางาน แต่จะได้รับสัญญาจ้างในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น ๓ เดือน ๖ เดือน ๙ เดือน เป็นต้น เมื่อครบสัญญานายจ้าง เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย หรือนายจ้างอาจให้ลูกจ้างต่อสัญญาเป็นคราวๆไป ในลักษณะระยะสั้น
นักศึกษาฝึกงาน คือ นักศึกษาที่ยังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งบริษัทจ้างให้มาทำงานในสถานประกอบการ โดยอ้างระบบทวิภาคีความร่วมมือกันระหว่างสถานประกอบกับโรงเรียนอาชีวศึกษา หรือวิทยาลับเทคนิคต่างๆ เรียกว่า “สหกิจศึกษา” เป็นรูปแบบการผสมผสานระหว่างความรู้ที่ใช้ในห้องเรียน กับการทำงานที่ใช้ประสบการณ์จริง
แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย คือ แรงงานข้ามชาติ ๓ สัญชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการพิสูจน์สัญชาติ หรือเข้าสู่การจดทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีรายปี เป็นกลุ่มแรงงานที่ต้องหลบซ่อนจากการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ยังคงทำงานและอาศัยอยู่ในสถานประกอบการ
โดยงานนี้ศึกษาผ่าน ๓ ภาคอุตสาหกรรม คือ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ยาง และเคมีภัณฑ์
ข้อค้นพบเบื้องต้น พบว่า
(๑) กฎหมายไทยโดยเฉพาะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ยังคุ้มครองไม่ครอบคลุมกลุ่มแรงงานเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันต่อสถานการณ์การจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
(๒) กระทรวงแรงงานเองก็ไม่ทราบขนาดของการจ้างแรงงานรูปแบบต่างๆ เพราะไม่มีสถิติข้อมูลที่แน่ชัดว่าการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ มีเท่าใด จึงเป็นการยากที่จะเสนอแนะนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาได้
(๓) การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ จะส่งผลให้มีจำนวนแรงงานที่ทำงานในลักษณะนี้เพิ่มสูงขึ้น
ข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการค้นพบครั้งนี้ คือ
รัฐต้องทบทวนกรอบและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ เปลี่ยนกรอบการพัฒนาประเทศที่เป็นแบบเสรีนิยม โดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง คำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคม และค่าจ้างที่เป็นธรรม
สำหรับตัวองค์กรแรงงานเอง...จะต้อง
(๑) มีการทบทวนโครงสร้างขององค์กร เพื่อให้รองรับการขยายฐานสมาชิกแรงงานจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มที่มีสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง
(๒) วางแผนยุทธศาสตร์และดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เกิดการประสานงาน การแบ่งงานกันทำระหว่างองค์กรแรงงานระดับต่าง ๆ เพื่อสร้างเอกภาพทั้งในแนวตั้งและแนวนอน
(๔) พัฒนางานด้านวิชาการที่เป็นของตนเองอย่างชัดเจน เพื่อติดตามสถานการณ์ ศึกษาและส่งเสริมเพื่อการเจรจาต่อรองและพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป
(
๕) ทำงานร่วมกับขบวนการแรงงานในประเทศอื่น ๆ เพื่อการรวมกลุ่มและมีบทบาทในการเจรจาต่อรองเพื่อร่วมกำหนดและตัดสินใจกับรัฐและฝ่ายผู้ประกอบการ
ผมฟังไป อดชื่นชมกับกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้ และผมได้ใช้โอกาสทองชี้ให้เห็นว่า “สมัชชาสุขภาพ” อาจเข้ามาเสริมการทำงานที่กำลังดำเนินการอยู่ได้ โดยใช้เป็นเครื่องมือยกระดับงานวิชาการแรงงงานนี้ พัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมได้ต่อไปในอนาคต
ผมขับรถกลับด้วยความดีใจที่ได้เรียนรู้กับสิ่งใหม่มาก ๆ ในวันนี้ ในใจคิดว่าหากมีการประชุมที่ “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย” อีก ผมคงไม่หลงเหมือนวันนี้อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น