๗ ธันวาคม ๒๕๕๖
นก... บินได้ด้วยปีก แต่หากไม่มีลมคอยหนุนอยู่ใต้ปีกบอบบางนั้น ก็อย่าหวังว่าจะโบยบินได้ คนเราก็ไม่แตกต่างจากนก ที่ต้องพึ่งพาน้ำใจจากมิตร จากพี่ จากน้อง เป็น “ลมใต้ปีก” หนุนให้โบกปีกบินต่อไปได้
ผมหยิบเรื่อง “ลมใต้ปีก” มาเขียน ก็เพราะในวันนี้ผมได้รับความกรุณาจากมิตรที่ส่งข้อมูลในเรื่องที่ผมรู้น้อยมากมาให้ จนความกังวลค่อยบรรเทาบางเบาลง
ผมกำลังสนใจเรื่อง “สุขภาวะแรงงานข้ามชาติ” เพราะอยากจะผลักดันให้เป็นระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี ๒๕๕๗ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จึงรู้สึกกังวลเป็นยิ่งนัก
เมื่อนำเอาความกังวลที่เกิดขึ้นไปบอกเล่ากับเหล่ามวลมิตรทั้งหลาย ทุกอย่างก็กระจ่างขึ้นเมื่อมีมิตรคนหนึ่งที่จับเรื่องนี้มาตลอดได้จัดส่งข้อมูลสำคัญมาให้
ข้อมูลที่ผมได้รับเป็นข้อมูลที่มีคุณค่ายิ่ง และถือเป็นความรู้สำหรับการเริ่มต้นของผมได้เป็นอย่างดี
เนื้อหาสาระของข้อมูล ผมแบ่งเป็น ๓ ส่วนคือ
ส่วนที่ ๑ ความหมายและขอบเขต
คำว่า “สุขภาวะแรงงานข้ามชาติ” นั้น มีความหมายรวมกลุ่มประชากรไว้ ๒ กลุ่มใหญ่ที่ทับซ้อนกันอยู่ คือ “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” กับ “แรงงานข้ามชาติ” ซึ่งได้จำแนกออกเป็นอีก ๖ กลุ่มย่อย คือ
กลุ่มที่ ๑ ชนกลุ่มน้อยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ได้รับเลขประจำตัว ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๖ และบุตรหลานของคนกลุ่มนี้ ได้รับเลขประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๗ ข้อมูลของกรมการปกครองปี ๒๕๕๔ มีประมาณ ๒๖๐,๐๐๐ คน
กลุ่มที่ ๒ ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๘ มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐ แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มย่อย คือ (๑) กลุ่มที่ตกหล่นจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนชนกลุ่มน้อยเดิม มีประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ คน (๒) กลุ่มนักเรียน นักศึกษาต่างด้าวในสถานศึกษา (๓) กลุ่มคนไร้รากเหง้า (๔) กลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ ซึ่งรวมประชากร ๓ กลุ่มหลัง มีประมาณ ๙๑,๕๐๐ คน
กลุ่มที่ ๓ แรงงานข้ามชาติระดับล่าง ๓สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ประมาณ ๘๔๘,๔๔๐ คน และนำเข้าตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ลาว กัมพูชา อีก ประมาณ ๑๑๑,๒๙๐ คน
กลุ่มที่ ๔ ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติระดับล่าง ๓ สัญชาติ ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว และบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทย ไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงของประชากรกลุ่มนี้ ยกเว้นผู้ติดตามที่ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ มีประมาณ ๑๗,๔๕๐ คน
กลุ่มที่ ๕ แรงงานข้ามชาติระดับล่าง ๓ สัญชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นแรงงานที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่ว่าจะมีเอกสารพำนักชั่วคราว (ทร. ๓๘/๑) หรือไม่ก็ตาม ประมาณการณ์ว่ามีประมาณ ๑.๓ ล้านคน
กลุ่มที่ ๖ ผู้พลัดถิ่นจากประเทศพม่าและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในที่พักพิงและนอกที่พักพิง มีประมาณ ๑๒๖,๘๐๐ คน
ส่วนที่ ๒ ปัญหาสำคัญที่ท้าทายต่อการทำงาน มีอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
ประการแรก มีหน่วยงาน องค์กรและเครือข่าย กว่า ๕๐ องค์กร ที่มีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดสุขภาวะแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ภายใต้ ๔ ประเด็นใหญ่ คือ สุขภาพ การศึกษา สิทธิแรงงานและสิทธิที่เกี่ยวข้อง และการเข้าถึงการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย จึงยังไม่เห็นการทำงานในเชิงบูรณาการได้เท่าที่ควร
ประการที่สอง ประเด็นงานแรงงานข้ามชาติไม่หยุดนิ่ง ไม่อยู่กับที่ เปลี่ยนแปลงบ่อยตามทิศทางกระแสโลกและทิศทางนโยบายของรัฐบาล แต่กลับพบว่าหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายยังคงยึดติดอยู่กับรูปแบบการทำงานในรูปแบบเดิมๆ วิธีการเดิมๆ ที่แต่ละองค์กรคุ้นชิน หรือเป็นไปตามประเด็นที่แหล่งทุนสนับสนุน
ประการที่สาม กระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับแรงงานข้ามชาติที่พบว่า งานส่วนใหญ่ที่แรงงานข้ามชาติทำอยู่ตอนนี้ได้แก่ ก่อสร้าง ประมง ประมงต่อเนื่อง การเกษตร ปลูกพืชสวน ปศุสัตว์ หรือเป็นแรงงานที่ทำงานในบ้าน ทำงานเก็บขยะ พนักงานบริการในร้านอาหาร งานในโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานในการขนส่งสินค้า ซึ่งไม่ได้เป็นอาชีพที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอนุญาตให้เคลื่อนย้ายแรงงานได้ ซึ่งจะนำมาสู่การเลือกปฏิบัติต่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติมากขึ้นได้
ส่วนที่ ๓ ข้อเสนอแนะ ต่อการทำงานในอนาคตมี ๓ ข้อ คือ
ข้อเสนอที่หนึ่ง :ทำอย่างไรจะพัฒนาให้เกิดแผนและกลไกขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อลดทรัพยากรและการจัดการในการดำเนินงาน รวมทั้งก่อให้เกิดการบูรณาการในพื้นที่ที่มีความทับซ้อนระหว่างประเด็นการทำงานและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น
ข้อเสนอที่สอง :ทำอย่างไรจะเกิดการเชื่อมประเด็นการทำงานในส่วนที่แต่ละองค์กรทำอยู่ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพทั้งในเชิงประเด็นการทำงานและในประเด็นอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย
ข้อเสนอที่สาม :ทำอย่างไรจะทำให้เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ ร่วมกันสร้างสรรค์ให้เกิดพื้นที่หรือเวทีปรึกษาหารือระหว่าง “คนไทย” และ “คนไม่ไทย” เพื่อร่วมกันออกแบบอนาคตชุมชนท้องถิ่นประเทศไทยที่มี “คนไม่ไทยอยู่ร่วมด้วย” ในฐานะ “โอกาสของการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม”
เหล่านี้คือข้อมูลความรู้พื้นฐานสำหรับการก้าวแรกของการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วย "สุขภาวะแรงงานข้ามชาติ" ที่ได้รับจากมิตรที่จับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น
คงไม่มีคำพูดใดจะกล่าวดีกว่า "คำขอบคุณ" ที่ผมขอมอบให้กับ "ลมใต้ปีก" ที่มิตรได้หนุนเสริมให้ผมบินต่อไปได้อย่างมั่นคงครั้งนี้ และหวังว่าเราจะเป็น "ลมใต้ปีก" ซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะของประเทศไทยเราในเบื้องหน้าต่อไป
ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับ "ลมใต้ปีก" ครั้งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น