๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๖
ในโลกมนุษย์อันสับสนวุ่นวายนี้ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามย่อมเคยประสบพบพานกับบางเรื่องราวที่ต้องตัดสินใจท่ามกลางความขัดแย้งในตัวเอง
บางเรื่องในใจคิดแบบนี้แต่ต้องทำไปอีกทางหนึ่ง เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะอิทธิพลจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาบังคับให้ต้องตัดสินใจ ลงมือกระทำตรงกันข้ามกับใจที่ปรารถนา
ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนในวันนี้ เป็นเพราะได้มีโอกาสอ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่งเรื่อง “คนขี่เสือ” ที่แปลจากเรื่อง “He Who Rides A Tiger” อันเป็นผลงานการประพันธ์ของ “ดร.ภวานี ภัฎฎาจารย์” ชาวอินเดีย ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๔๙๗
หนังสือเล่มนี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ แพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย
เจ้าของสำนวนไทยสำนวนแรกเป็นของ “จิตร ภูมิศักดิ์” นักเขียนและนักต่อสู้คนดังในอดีต ที่ได้แปลและเรียบเรียงไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ แต่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ จนกระทั่งพี่สาวของจิตรคือ “ภิรมย์ ภูมิศักดิ์” ได้ไปพบต้นฉบับที่เป็นลายมือของพี่ชาย จึงได้ให้สำนักพิมพ์ดอกหญ้าตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี ๒๕๓๐
เรื่องเริ่มต้นที่ “กาโล” กรรมกรช่างตีเหล็กในประเทศอินเดีย ชนชั้น "กมาร" (kamar) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของวรรณะศูทรที่เป็นวรรณะต่ำ อาศัยอยู่ในเขตชนบท มีฐานะยากจนแสนเข็ญยิ่งนัก แต่งงานและมีลูกสาวนาม “จันทรเลขา” อันเป็นที่รักของพ่อเป็นอย่างมาก
ต่อมาเมียได้ตายลงจึงต้องเลี้ยงดูลูกสาวโดยลำพัง แต่ด้วยความยากจนจึงตัดสินใจเข้าสู่เมืองหลวง หวังหาเงินส่งเสียลูกให้ได้เรียนสูงๆ โดยทิ้งลูกสาวให้อยู่กับน้าสาว แล้วเดินทางโดยโหนรถไฟเข้าเมือง ระหว่างทางด้วยความหิวจึงแอบไปขโมยกล้วยสามใบจากตู้ผู้โดยสารรายหนึ่ง แต่ถูกจับได้ถูกนำตัวขึ้นศาลและถูกตัดสินให้ติดคุก ๓ เดือน
ระหว่างติดคุกได้เจอเพื่อนที่ติดคุกอยู่ด้วยกันคนหนึ่ง “กาโล” จึงได้เล่าชีวิตอันแร้นแค้นให้อีกฝ่ายหนึ่งฟัง และได้รับคำแนะนำว่าหากจะให้พ้นกับความยากจนต้องเปลี่ยนเป็นวรรณะพราหมณ์ พร้อมบอกวิธีการเปลี่ยนวรรณะให้ด้วย
หลังจากที่ “กาโล” ออกจากคุก เขาก็มุ่งหน้าเดินทางไปหางานทำในเมืองหลวง แต่ก็ไม่มีอาชีพใดให้เขาทำ นอกจากเป็นผู้ดูแลซ่องนางโลม ซึ่งต่ำต้อยมาก แต่เขาก็ดีใจเพราะทำให้เขาได้พบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนั่นคือ ได้พบลูกสาวตนเองถูกหลอกมาขายตัวในซ่องที่ตัวเองทำงานอยู่ พ่อจึงได้ช่วยลูกสาวพ้นจากแดนนรกนั้นมาได้
เหตุการณ์ต่างๆ ได้บังคับให้ “กาโล” คิดหาหนทางที่จะทำให้ลูกสาวมีความสุข จึงตัดสินใจทำตามคำบอกของเพื่อนในคุก โดยการเล่นกลให้พระศิวะโผล่ขึ้นมาจากดินได้ จนชาวบ้านชาวเมืองเชื่อและศรัทธาและยกให้ “กาโล” ซึ่งเชื่อว่าเป็นคนชั้นวรรณะพราหมณ์ เป็นเจ้าแห่งเทวะดูแลวิหารที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ณ ที่ที่พระศิวะโผล่ขึ้นมาจากผืนดินแห่งนั้น
วันเวลาผ่านไป โดยแต่ละวินาทีที่ผ่านไปนั้นได้สร้างความลำบากใจให้แก่ “กาโล” ว่าจะบอกวรรณะที่แท้จริงให้สังคมรับรู้ดีหรือไม่ ซึ่งในที่สุด “กาโล” ตัดสินใจไม่บอกกับใครว่าตัวเองอยู่ในวรรณะศูทร เพราะเกรงว่าความสุขที่ตนเองและลูกสาวได้รับจะหมดไป
วันหนึ่งมีเศรษฐีนายหนึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในเทวาลัยอย่างมาก เขามีเมียมาแล้ว ๔ คน อยากได้ “จันทรเลขา” ไปเป็นเมียอีกคน จึงส่งพ่อสื่อมาติดต่อ “กาโล” พร้อมยื่นเงื่อนไขว่าจะประเคนทรัพย์สมบัติให้ “จันทรเลขา” สบายไปทั้งชาติ
เรื่องรู้ไปถึงหูของ “จันทรเลขา” เธอไม่ได้รักเศรษฐีคนนี้เลย จึงตั้งใจไปบอกปฏิเสธกับผู้เป็นพ่อ แต่เมื่อได้พูดคุยกับ “กาโล” ผู้เป็นพ่อ จึงรู้ว่าพ่อของตนมีจิตใจแน่วแน่ว่าจะเลือกเส้นทางนี้ พร้อมชื่อเสียงเงินทองและความนับหน้าถือตาของสังคม ด้วยความรักพ่อ เธอจึงรับปากกับพ่อไปว่า จะยอมแต่งงานกับเศรษฐีคนดังกล่าวนั้น
ในพิธีสำคัญหนึ่งที่จัดขึ้น ณ เทวาลัย มีคนมาร่วมงานอย่างคับคั่ง มีทั้งข้าราชการ พ่อค้าวาณิช มากมายแน่นขนัดบริเวณงาน พิธีกรได้กล่าวเชิญ “กาโล” ขึ้นกล่าวปาฐกถาเริ่มต้น
ด้วยความรู้สึกละอายต่อบาป ประกอบกับความเห็นใจและเข้าใจในหัวใจของลูกสาวตน “กาโล” จึงตัดสินใจเปิดเผยวรรณะที่แท้จริงให้กับผู้มาร่วมงานได้ฟัง พร้อมประกาศว่าตนนั้นไม่เหมาะสมที่จะมายืนกล่าวปาฐกถาในงานนี้ได้
เหตุการณ์วิกฤตเริ่มขึ้น มีผู้คนที่มาร่วมงานต่างปาก้อนหินเข้าใส่ “กาโล” เพราะโกรธที่โดน “กาโล” หลอกให้กราบไหว้มานาน
ในขณะที่เหตุการณ์เริ่มรุนแรง ปรากฏว่ามีเสียงไชโยโห่ร้องและเสียงปรบมือจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รวมกลุ่มไกลออกไป พร้อมเสียงตะโกนดังขึ้น ยกย่องให้ “กาโล” เป็นวีรบุรุษของกลุ่มตนที่ทำให้คนในวรรณะที่สูงกว่ามากราบไหว้คนในวรรณะศูทร ซึ่งเป็นวรรณะที่ต่ำกว่าได้
เรื่องจบลงเพียงเท่านั้น
ผมไม่สามารถจะเล่าให้เห็นอรรถรสที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความลำบากใจที่เกิดขึ้นกับ “กาโล” ในทุกย่างก้าวของชีวิตเขาได้
เขาต้องตัดสินใจเลือกเส้นทาง ที่ทางหนึ่งคือความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งหากเลือกที่จะเดินไปก็จะพบแต่ความทุกข์เข็ญของตนและลูกสาวอันเป็นที่รัก
ในขณะที่อีกทางหนึ่งคือ หลังเสือที่ตนเองเป็นผู้ขึ้นไปคุมบังเหียนอยู่ เป็นทางที่มีแต่ความสุขที่รายล้อมไปด้วยเงินทองและความยอมรับของคนในสังคม แต่เส้นทางนี้กลับเป็นทางที่สร้างความทุกข์ระทมในใจให้แก่เขาเป็นอย่างมาก เผชิญหน้ากับความสับสน ความเจ็บปวดที่สาหัส บ่อยครั้งเขานึกถึงชีวิตแบบช่างตีเหล็กที่เมืองชาวนาบ้านเกิด แต่เขาก็ไม่สามารถก้าวลงจากหลังเสือนี้ได้
แต่สุดท้าย ใจของ “กาโล” ก็พ่ายแพ้ต่อความดี เขาจึงยอมบอกฐานะที่แท้จริงของตนให้กับคนรอบข้างได้รับทราบ ยอมทิ้งความสุขและการยอมรับจากสังคม หันกลับไปสู่ความเป็นจริงของชีวิตในการนำพาชีวิตเขาและลูกสาวเดินไปข้างหน้า
ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนด้วยความตั้งใจว่า ผมต้องการนำเรื่องราวของ “กาโล” เตือนสติให้กับผู้มีอำนาจในบ้านในเมืองนี้
หากท่านวิเคราะห์แล้ว พบว่าไม่เหมาะที่จะอยู่บนหลังเสือ อาศัยหยิบฉวยความสูงส่งของคำว่า “คนขี่เสือ” เพื่อตีสีหน้าเย่อหยิ่งลอยตัวบนหลังเสือที่แต้มสีไว้เฉิดฉายแบบปลอมๆ แล้ว ขอให้ยอมลงจากหลังเสือนี้เสียเถิด คำชื่นชมจากสังคมจะดังขึ้น เฉกเช่นเดียวกับ “กาโล” ในเรื่องนี้
แต่หากท่านยังคงนั่งอยู่บนหลังเสือนี้ต่อไป ผมก็ไม่แน่ใจว่าอะไรที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นกับท่านในอนาคตบ้าง อาจเป็นวันที่จะย่อยยับลงได้ด้วยเพียงมือหรือเท้าของคนธรรมดา ๆ ก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น