วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บนเส้นทาง “ทุรกันดาร” การทำงานภาคประชาชน

๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๖

สัปดาห์ที่แล้วผมมีภารกิจต้องเชื่อมประสานกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ๓ งาน

งานแรกเป็นการพิจารณางบประมาณสนับสนุนการทำงานโครงการขององค์กรแห่งหนึ่ง
งานที่สองเป็นการจัดเวทีสาธารณะที่มีผู้แทนเครือข่ายต่างๆเข้าร่วมเวที
งานที่สามเป็นเวทีพัฒนาข้อเสนอโครงการที่แกนนำเข้ามาขอคำปรึกษา

ความน่าสนใจของงานทั้ง ๓ ซึ่งท้าทายต่อการทำงานของภาคประชาชนในอนาคตอย่างยิ่ง มี ๕ เรื่องสำคัญ

เรื่องที่หนึ่ง คือ การขัดกันของผลประโยชน์ หรือ “Conflict of interest” ที่มักมีการละเลยหรือมองข้ามในเรื่องนี้กันมาก ตัวอย่างที่พบผม มีกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรแหล่งทุนเข้าไปร่วมพิจารณาโครงการ ที่กรรมการคนดังกล่าวนั้นเองก็เป็นผู้รับทุนสนับสนุนหรือร่วมเป็นคณะทำงานโครงการดังกล่าวนั้นด้วย

เรื่องที่สอง การแสดงความเป็นเจ้าของผูกขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือประเด็นใดประเด็นหนึ่ง โดยใครก็ตามที่มาเกี่ยวข้องหรือเข้ามาทำเรื่องดังกล่าวทีหลัง “ตนเอง” ก็มักจะแสดงท่าทีเดียดฉันท์ ประชดประชัน หรือไปไกลขนาดที่ว่า “เป็นนักฉวยโอกาส หรือฉัน/ผม ทำมาก่อน ทำไมไม่บอกก่อน”

เรื่องที่สาม ความเข้มแข็งของงานเชิงวิชาการ ที่ถือเป็นจุดอ่อนอย่างมากของเครือข่ายภาคประชาชน ส่วนใหญ่แล้วเมื่อได้นั่งพูดคุยด้วย ก็สามารถอธิบายเรื่องราวที่ตนเองคิดและเข้าใจได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อให้ลองเขียนแบบที่พูด กลับเขียนอธิบายไม่ได้

โดยเฉพาะการมีศัพท์แสงทางวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กลยุทธ์ มาตรการ เป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย ผลผลิต ตัวชี้วัด และอีกมากมาย ที่แต่ละคน “เป็นงงไปตาม ๆ กัน” ซึ่งเรื่องนี้ต้องบอกเลยว่า “แม้แต่นักวิชาการจบสูงๆเองก็เกิดอาการงงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน”

เรื่องที่สี่ องค์กรสนับสนุนมักติดยึดรูปแบบการทำงานที่ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ต้องทำตามแบบฟอร์มที่องค์กรกำหนดเท่านั้น แม้ว่าเมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระแล้วจะมีความชัดเจนเพียงใดก็ตาม อย่างเช่นบางองค์กรนำเอาวิธีจัดทำโครงการแบบล็อคเฟรม (logical framework) มาใช้ ก็ต้องเขียนแบบล็อคเฟรม จะมาเขียนแบบอื่นๆไม่ได้ เป็นต้น

เรื่องที่ห้า เป็นเรื่องของวิธีคิดทำนองว่า “องค์กรฉันทำงานมายาวนานประเด็นนี้ ไม่มีองค์กรใดเก่งกว่าฉันอีกแล้ว” ฉะนั้นองค์กรอื่น (โปรด) อย่าเข้ามาข้องเกี่ยวหรือ “ยุ่ง” กับโครงการที่มาขอรับทุนหรือได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรฉันและกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

แน่นอนทั้ง ๕ เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องยากที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือสำเร็จรูปแบบใดแบบหนึ่ง เพราะทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อกระบวนการทำงานพัฒนาของภาคประชาชนทั้งสิ้น

ดังนั้นเรื่องแบบนี้ “จึงไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล” หรือ “ปล่อยให้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง”

แต่ตัวแกนนำเครือข่ายประชาชนเอง จักต้อง..............

(๑) ปฏิบัติงานอยู่บนฐานของความโปร่งใส สุจริตให้ได้ เพราะปัจจุบันเครือข่ายประชาชนได้ออกมาโจมตีองค์กรภาครัฐว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นกันมาก แต่หากเครือข่ายภาคประชาชนกระทำเรื่องดังกล่าวเสียเอง ก็จะกลายเป็น “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”

(๒) เร่งพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาตนเอง และการหาคนที่มีความรู้ความเข้าใจมาหนุนเสริมการทำงานของตนเองให้มากขึ้น

(๓) เปลี่ยนวิธีคิด ลดความเป็นเจ้าของและอัตตาลง มองอีกมุมแทนว่าการมีเพื่อนย่อมดีกว่าไม่มี “สร้างเพื่อน หนุนเสริม แบ่งปัน ช่วยเหลือและเกื้อกูลกัน” เป็น “ลมใต้ปีก” ซึ่งกันและกัน ดีกว่าบินเดี่ยวอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

(๔) กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความจริง กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่า “การใช้ความจอมปลอม” หรือ “ใส่หน้ากากเข้าหากัน” ในการทำงาน เพราะหากกระทำเช่นนั้น ยามเบื้องหลังหน้ากากฉายสิ่งที่ปรากฏออกมา อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงที่คาดไม่ถึงก็เป็นไปได้

สำหรับตัวองค์กรสนับสนุนเองแล้ว ก็ต้อง...........

(๑) พึงให้การยอมรับในเนื้อหาสาระมากกว่ารูปแบบ เพราะคนทำงานภาคประชาชนส่วนใหญ่ทำงานด้วยจิตสาธารณะ แต่เขาเหล่านั้นบางคนอาจไม่ได้เรียนสูงมากมาย การที่จะใช้ศัพท์แสงเชิงวิชาการหรือขนบทางวิชาการ อาจมิใช่เรื่องที่ชาวบ้านคุ้นชินและลงมือทำได้อย่างมีความสุขนัก

(๒) “แปลงสาร” จากงานวิชาการยากๆ ให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ อย่ายึดติดกับภาษาทางวิชาการสูง ๆ พยายามใช้คำที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่สับสน ไม่ปีนบันไดอ่าน

(๓) เร่งพัฒนาศักยภาพคนทำงานภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง หนุนเสริมในการแปลงสิ่งที่เขารู้หรือภูมิปัญญาที่เขามี ออกมาสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เพื่อขยายผล ขยายงาน ขยายเครือข่าย

(๔) เปลี่ยนวิธีคิดจากการคิดว่าองค์กรตนเองเก่ง ดี กว่าองค์กรอื่น มาเป็นการแสวงหาภาคียุทธศาสตร์ หันมาสร้างความร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน หนุนเสริมกัน หรือเป็นหุ้นส่วนกันให้ได้

หยิบมาฝากกันด้วยหวังเพียงว่า สังคมไทยเราจะมีการทำงานสาธารณะโดยภาคประชาชนที่เข้มแข็งและสุจริตมากขึ้น อันจะนำไปสู่ความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมายที่เราต่างมุ่งหวังและอยากเห็นในอนาคตร่วมกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น