วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กำพืด (๑) : “บ้านหลังนั้น” และ “มะขามต้นเดิม”

๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

“พอศอสองพันห้าร้อยสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี……….”
เสียงเพลงดังแว่วมาจากมุมหนึ่งของห้องรับแขก ผมละสายตาจากหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ หันไปมองที่มาของเสียงเพลง เห็นลูกชายกำลังก้มหน้าก้มตาอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เขาคงกำลังทำการบ้านส่งครูเหมือนทุกครั้ง

ผมหันกลับมาสนใจตัวอักษรบนหนังสือที่เปิดค้างอยู่ แต่เสียงเพลงยังดังแว่วมาให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง
ทันใดนั้นภาพในสมองกลับปรากฏภาพอดีตเมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน ภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่ผมรู้จักเป็นอย่างดีทั้งตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันกับผมในสมัยเด็ก ๆ

นอกเหนือจากภาพเครือญาติและผู้คนที่หลากหลายแล้ว ภาพของต้นไม้ใบหญ้า ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในชุมชนชนบทแห่งนั้นก็ปรากฏขึ้น
แต่ละภาพๆ ค่อย ๆ ชัดขึ้น คล้ายกับภาพที่ถูกฉายผ่านมาทางเครื่องฉายภาพ
และภาพบ้านหลังหนึ่งก็ปรากฏ

บ้านไม้หลังใหญ่ สองชั้น หลังคามุงสังกะสี ตั้งเด่นอยู่กลางสวน ล้อมรอบด้วยต้นไม้กินได้ ทั้ง ฝรั่ง มะม่วง กล้วย ปลูกแซมด้วยไม้ดอกไม้ประดับออกดอกสีสดใส
ใต้ถุนบ้านปล่อยเป็นที่โล่ง ที่โคนเสาไม้กว่าสิบต้น มีเครื่องมือทำงานทั้งจอบ เสียม ไม้กวาด มีดหวด รวมทั้งกระจาด กระบุง แขวนห้อยบ้าง วางพิงบ้างแบ่งกันไปที่เสาแต่ละต้น

ระหว่างคานใต้ถุนบ้านที่พอมีช่องว่างก็กลายเป็นที่เก็บไม้แผ่นกระดานบ้าง ไม้ไผ่บ้าง และเครื่องใช้สอย สำหรับทำงานในไร่นาสอดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ
ลานใต้ถุนที่กว้างขวาง มีโต๊ะขนาดใหญ่วางต่อ ๆกัน สำหรับให้เจ้าของบ้านและลูก ๆ หลาน ๆ ได้มาพักพูดคุยกันยามว่างงาน

บันไดไม้นับกว่า ๑๐ ขั้นพาดขึ้นไปบนชานบ้านกว้างใหญ่ที่ปูด้วยไม้แผ่นใหญ่เรียงต่อกันเป็นแนวยาว มุมหนึ่งถูกจัดเป็นห้องนอนของผู้อาศัยกระจายอยู่รวม ๔ ห้อง อีกมุมหนึ่งเรียงรายไปด้วยโอ่งเก็บน้ำฝนไว้กินยามหน้าแล้ง วางสลับกับกระถางดินเผาที่ปลูกไม้ใบและไม้ดอกชูช่อ เรียกความสดชื่นให้กับผู้พบเห็น

ชีวิตของทารกน้อยคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นที่บ้านหลังนี้ ท่ามกลางหมู่เครือญาติและความดีใจให้กับตาและยายเป็นอย่างมากที่เป็นลูกชายตามที่ตั้งใจไว้
เมื่อคลอดออกมาแม้นร่างกายจะสมบูรณ์ครบสามสิบสอง แต่หัวของทารกน้อยคนนั้นกับใหญ่กว่าปกติ พ่อกับแม่จึงตกลงเรียกลูกชายของเขาว่า “โต” และทุกคนก็เรียกตาม จนชื่อ “โต” กลายมาเป็นชื่อเล่นของผมจนทุกวันนี้

ผมเป็นลูกคนที่ ๕ ของพ่อกับแม่ เกิดขึ้นในปีเดียวกับเนื้อเพลงผู้ใหญ่ลีที่ผมหันไปหยุดฟังเมื่อครู่ เป็นปีเดียวกับที่รัฐบาลในสมัยจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกของประเทศไทย

บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่รวมกันของลูกทั้ง ๕ คนของตากับยาย ซึ่งสมาชิกค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อลูก ๆ ได้แต่งงานและมีหลานให้กับตาและยาย จึงทำให้หลาน ๆ ทั้งหมดได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้ กินและเล่นด้วยกัน นำมาซึ่งความสนิทสนมกันมาก
ชีวิตวัยเด็กของผมจึงมีแต่ความสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ทั้งที่เป็นญาติ และจากเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันนับสิบ

อีกภาพหนึ่งที่ปรากฏขึ้น คือ ภาพของ “ต้นมะขาม” ที่มีลำต้นใหญ่ขนาดห้าคนโอบ ยืนแผ่กิ่งก้านให้ความร่มรื่นอยู่ริมลำคลอง “ท่าฬ่อ” ที่ไหลมาจากจังหวัดพิษณุโลก ไหลลัดเลาะคดเคี้ยวผ่านมาจนถึงตำบล “ท่าฬ่อ” ของจังหวัดพิจิตร อันเป็นตำบลที่ผมเกิด

ต้นมะขามต้นนี้ยืนต้นเยื้องห่างจากบ้านของตาและยายออกไปเพียงไม่ถึงห้าสิบเมตร และต้นมะขามต้นนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในย่านนั้น ซึ่งรวมถึงชีวิตในวัยเด็กของผมด้วย
ช่วงใดที่ว่างเว้นจากการร่ำเรียน และช่วงพักของผู้หลักผู้ใหญ่ ทุกคนต่างก็มาใช้บริเวณโคนต้นมะขามต้นนี้ นั่งพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน บางคนก็ปีนขึ้นไปนั่งบนรากไม้มะขาม ที่สานถักยื่นไปในลำคลองกลายเป็นที่นั่งแบบธรรมชาติได้บรรจงสร้างขึ้น

เหล่าบรรดาเด็ก ๆต่างก็ชักชวนกันเล่น “ต๊อกตังค์” เป็นการเล่นที่ใช้สันเหรียญขนาดเท่ากัน โยนใส่โคนต้นมะขามเพื่อให้เหรียญนั้นหมุนวิ่งออกมาบนพื้นดินที่เป็นที่โล่ง เหรียญของใครแล่นออกมาไกลจากโคนต้นมะขามมากที่สุดจะเป็นผู้เริ่มโยนเหรียญ (ทอย) ไปให้กระทบกับเหรียญที่อยู่ถัดไป หากโยนไปถูก ก็จะได้รางวัลจากเจ้าของเหรียญที่ถูกทอย ซึ่งอาจเป็น “ยางเส้น” หรือ “เงิน” ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
แต่หากโยนไปแล้วไม่ถูก ก็จะให้สิทธิ์แก่เจ้าของเหรียญที่อยู่ไกลจากต้นมะขามเป็นอันดับรองลงไป ทำการทอยไปยังเหรียญถัดไปตามลำดับ
ไม่น่าเชื่อว่า เกมง่าย ๆ แบบนี้สามารถทำให้เด็ก ๆ เล่นได้เป็นวัน ๆ จนบางครั้งตาต้องถือไม้เรียวมาบอกให้เลิกเล่น และไล่ให้กลับไปอาบน้ำอาบท่าเสียที

เด็กบางคนชอบเสี่ยงและท้าทายก็จะปีนป่ายแข่งขันกันขึ้นไปตามกิ่งก้านของต้นมะขาม ยามหน้าน้ำหลากเต็มตลิ่ง เด็ก ๆ ก็จะสนุกมากขึ้น ปีนป่ายไปบนกิ่งมะขามที่ยื่นไปในลำคลอง แล้วกระโดดลงแม่น้ำเสียงตูมตาม พร้อมเสียงตะโกนโวกเวกบ่งบอกความสนุกสนานที่ไม่มีวันจบสิ้น

ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตจากการทำนาทำไร่ ก็จะมี “เรือมอญ” เรือบรรทุกขนาดใหญ่ล่องมาจอดบริเวณใกล้กับต้นมะขาม เพื่อรับซื้อผลผลิตจากชาวไร่ชาวนาที่นี่
บรรดาผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิงต่างช่วยกันหาบข้าว ข้าวโพดหรือผลิตผลอื่น ๆ เดินเป็นทิวแถว ข้ามไม้พาดระหว่างริมตลิ่งกับขอบลำเรือขึ้นไปเทกองภายในลำเรือ
ผมและเด็ก ๆ ก็ใช้โอกาสในช่วงนั้นว่ายน้ำไปเกาะกาบเรือ แล้วก็ปีนป่ายขึ้นไปบนลำเรือ พร้อมกระโจนเล่นน้ำเป็นที่สนุกสนานไปตามกัน

ชีวิตในวัยนั้น ผมมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง หวนกลับไปเห็นภาพของตัวเองอยู่ท่ามกลางวงศาคณาญาติที่พร้อมหน้าในบ้านหลังนี้ และเห็นภาพกิจกรรมที่สนุกสนานของผมที่เกิดขึ้นภายใต้ต้นมะขามต้นนั้น

“พ่อครับ ช่วยดูผลงานผมหน่อยสิ”
สมองของผมหยุดชะงักลงทันที กลับคืนสู่ปัจจุบัน ลุกเดินไปที่โต๊ะทำงานที่ลูกชายกำลังทำงานอยู่

วีดิทัศน์ถูกฉายขึ้น เป็นฝีมือออกแบบโฆษณาสินค้าชิ้นหนึ่งที่ลูกชายผมทำเพื่อส่งครูในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ผมอดชมความคิดสร้างสรรค์และชื่นชมฝีมือในการตัดต่อหนังโฆษณาที่โหลดมาจากเว็ปไซด์ แล้วนำมาดัดแปลงและอัดเสียงของตัวเองใหม่แทน

และที่อดสะกิดใจอีกครั้งไม่ได้ ที่ลูกชายนำบทเพลง “ผู้ใหญ่ลี” มาใส่ในโฆษณาที่เขาสร้างสรรค์นั้นช่วงหนึ่งด้วยเช่นกัน

ลูกชายจะรู้ไหมว่าด้วยบทเพลงที่เขาเอามาใช้นั้น มันมีพลังทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึง “บ้านหลังนั้น” และ “ต้นมะขามต้นเดิม” ที่ผมได้สัมผัสในวัยเยาว์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น