วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ด่านปะทะในสายธาร “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ”

๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖

ค่ำคืนวันคริสต์มาสปีนี้พอจะมีเวลาว่างจากภารกิจงานประจำบ้าง จึงทอดหุ่ยนั่งอ่านหนังสือโดยไม่รีบร้อนจนเกินไปนัก ย้อนกลับไปอ่านหนังสือเรื่อง “สมัชชาสุขภาพ: ปรัชญา แนวคิดและจิตวิญญาณ” ที่กอปรไปด้วยคำที่ละเมียดละไมชวนให้วางไม่ลงอีกครั้ง มีหลายเรื่องน่าสนใจ เลยนำมาแลกเปลี่ยนกันครับ

"สมัชชาสุขภาพ เปรียบประหนึ่งสายธารใหญ่ที่ไหลเลาะลัดในภูมิทัศน์อันสลับซับซ้อนของสยามประเทศ สายธารแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสังคมแห่งสุขภาวะสายนี้ บางครั้งไหลเชี่ยวแรงเปี่ยมพลัง บางครั้งชะลอลงไหลเอื้อยช้า บางเวลาพุ่งตรงไปข้างหน้าราวกับว่าจะเร่งให้ถึงจุดหมาย แต่หลายครากลับต้องไหลเลาะอ้อมขุนเขาใหญ่ที่ปรากฏขึ้นขวางหน้า”

นี้คือถ้อยวลีของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ได้เปรียบเปรยเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” ไว้อย่างน่าฟัง โดยเฉพาะการย้ำถึงภูมิประเทศสองฟากฝั่งที่สายธารจักไหลผ่าน ทั้งภูเขา เนินดินและหินผา ต่างมีส่วนกำหนดสายธารสายนี้ ให้ไหลเร็วช้า ตรงไปข้างหน้า หรือว่าวกวน

เมื่อถอดรหัสคำเปรียบเปรยดังกล่าวนั้น จึงพบเจอประเด็นที่ท้าทายให้กับสังคมและคนทำงานไว้อย่างแหลมคม เพราะนี้คือด่านปะทะสำคัญที่จักชะลอสกัดกั้นและไหลรินของสายธารถึง ๕ ด่าน

ด่านที่ ๑ การกลายเป็นระบบราชการของสมัชชาสุขภาพ (Bureaucratization of the Assembly) ที่เต็มไปด้วยขั้นตอน กฎเกณฑ์ ระเบียบ และความเป็นทางการ แม้จะทำให้สมัชชาสุขภาพมีกลไกและกระบวนการที่ชัดเจน แต่ก็อาจจะกลายเป็นกับดักที่ทำให้รูปแบบการมีส่วนร่วมกลับขาดความยืดหยุ่น และละทิ้งผู้คนบางกลุ่มบางพวกออกไป

ด่านที่ ๒ ภาวะความแปลกแยกของรากหญ้า (Alienation of the Grassroots) ด้วยความเป็นสากลที่วางไว้ ได้ส่งผลให้กลุ่มรากหญ้าเกิดความแปลกแยกและห่างเหินไปจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพ หรือกล่าวโดยง่าย คือ “เข้าไม่ถึงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ” นั่นเอง

ด่านที่ ๓ วิกฤตความเป็นตัวแทน (Crisis of Representation) ที่เกิดขึ้นจากตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วมอย่างจำกัด อาจลดทอนความน่าเชื่อถือ หรืออาจทำให้กระบวนการถูกปฏิเสธจากผู้คนบางภาคส่วนได้ และที่สำคัญความเป็นตัวแทนที่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะ “ตัวแทน” ย่อมแทนคุณสมบัติเพียงบางด้านของ “ตัวจริง” เท่านั้น

ด่านที่ ๔ การอภิปรายไตร่ตรองร่วมกันกับมติสมัชชา (Deliberation VS Resolution – driven agenda) ที่ใช้เวลาในการอภิปรายไตร่ตรองร่วมกันอย่างจำกัด โดยกำหนดทั้งเวลาที่สั้น และมีโอกาสพูดเพียงครั้งเดียว ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดของการอภิปราย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลความเห็น และการไตร่ตรองร่วมกัน เหล่านี้ต่างมีผลสำคัญต่อการนำมติไปผลักดันให้ขับเคลื่อนและการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมทั้งสิ้น

ด่านที่ ๕ ฉันทามติกับฉันทาคติ (Consensus VS Prejudice) จากผลของการให้สิทธิเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้พิจารณาถึงความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ ซึ่งทั้งคนชายขอบ คนจน คนไร้อำนาจ ชนกลุ่มน้อยและคนเล็กคนน้อย นี้เท่ากับเป็นการสืบทอดความไม่เท่าเทียมดั้งเดิมไว้ การสร้างฉันทามติในบริบทของโครงการอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน อาจกลายเป็นฉันทาคติโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของด่านปราการทั้ง ๕ นั้น กลับเปิดพื้นที่ให้พวกเราได้หวนกลับมาฉุกคิดอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้เขียนได้เสนอมุมมองที่สร้างสรรค์ต่อสายธารที่ชื่อ “สมัชชาสุขภาพ” เส้นนี้ไว้อย่างท้าทายว่า

(๑) ต้องสร้างและสะสมทุนทางสังคมที่หาได้ยากในกลไกอื่น นั่นก็คือ สร้างความไว้วางใจระหว่างกัน(Mutual trust) ทั้งในระดับบุคคลและสถาบัน โดยมีการวางกฎเกณฑ์ที่โปร่งใสเป็นที่รับรู้กันอย่างเปิดเผย มีความคงเส้นคงวา เสมอต้นเสมอปลาย

(๒) ต้องสร้างสรรค์ความหลากหลายของรูปแบบการมีส่วนร่วม ที่เหมาะสมกับขั้นตอนการพัฒนานโยบายสาธารณะในแต่ละขั้นตอน ทั้งขั้นตอนการหาปัญหา การหาความเห็นร่วม ตลอดจนการผลักดันให้เกิดผลทางนโยบาย

(๓) ต้องสร้างช่องทางที่เชื่อมโยงความเห็นร่วม สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับพฤติกรรมและทัศนคติ เกิดความสัมพันธ์และเครือข่ายใหม่ๆ เกิดความร่วมมือใหม่ ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบัน ระดับนโยบายสาธารณะ ระดับศักยภาพของชุมชน และระดับชีวิตสาธารณะ ซึ่งช่องทางหนึ่งคือต้องอาศัยสื่อสารสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมแรงร่วมใจกัน

(๔) ต้องสร้างกระบวนการสมัชชาให้เป็นวิถีแห่งสันติวิธี ที่ยึดการใช้เหตุใช้ผลและการสนทนาสื่อสารกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน เร่งสร้างกระบวนกรที่มีทักษะในการสร้างฉันทามติให้เกิดขึ้นในสังคมให้มาก เพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ความขัดแย้งลุกลามไปทั่ว แนวทางนี้จะมีความจำเป็นและเป็นทางเลือกทางรอดสำคัญจากความรุนแรงได้

(๕) ต้องสร้างนวัตกรรมประชาธิปไตยด้วยกระบวนการสานเสวนา ที่ต้องแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ที่ทุกคนพึงตระหนักว่า ภารกิจที่ร่วมกันทำนั้นไม่ใช่การจัดประชุมเพื่อหาข้อยุติของประเด็นปัญหาเท่านั้น แต่เป็นภารกิจของการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว องค์กรและชุมชน

(๖) ความจริง คือ สิ่งที่ได้ผล เพราะหลักการก็เป็นเพียงหลักการที่อาจจะถูกหรือผิดได้และยังต้องถกเถียงกันไปได้อีกนาน แต่ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นความตาย ความทุกข์ที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่ตรงหน้า สิ่งที่ทำแล้วได้ผล นั่นแหละคือความจริง ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับสัมฤทธิผลว่าเป็นไปเพื่อการแก้ความทุกข์ยากของประชาชน และเพื่อการสร้างสังคมที่เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมเสมอกันเป็นประการสำคัญเสมอ

กว่า ๑๐ ปีแล้วที่สายธารสายนี้ไหลผ่านผู้คนพื้นที่ต่างๆในสังคมไทย ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยหยุดหย่อน หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งต่างๆให้เติบโตและชุ่มชื้น เป็น “สายธารแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชน” ที่เป็นพลังขับเคลื่อนของคนเล็กคนน้อย เพื่อทำให้เกิด “ความดี ความงาม ความจริง” ที่รู้สึกรู้สมกับชีวิตมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้า รู้สึกร่วมไปกับความทุกข์ยากของคนรอบข้าง

เป็นสายธารที่นำพาพวกเราสองฟากฝั่งมาช่วยกัน มาโอบอุ้มดูแลสายธารนี้ให้ไหลผ่านได้ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นสายธารที่เราต่างมาร่วมแสวงหาทางออกของ “ทุกข์” ผ่านการเข้าใจหลักอิทัปปัจจยตา ที่บอกเราเสมอว่า

“เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น