วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อาลัยแมนเดลา

๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
สิ้นแล้ว "เนลสัน แมนเดลา" อดีตสุดยอดผู้นำ นักสู้ ผู้ต่อต้านการเหยียดผิว แห่งแอฟริกันชน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ๒๕๓๖
เป็นข่าวดังทั่วโลกรับอรุณของเช้าวันนี้ สร้างความตกใจและอาลัยยิ่งให้กับคนทั้งโลก

เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีที่บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ได้ทำไว้ ผมขอนำบทเรียนอันทรงคุณค่าจากสิ่งที่ผมได้อ่านพบจากงานเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับท่าน ซึ่งผมได้อ่านไว้เมื่อ ๒ ปีก่อน มาถ่ายทอด อันเป็นการสดุดีและแสดงความอาลัยต่อการจากไปของท่าน ณ โอกาสนี้ด้วย
ในครั้งนั้นผมได้สรุปเรื่องราวที่ได้จากการอ่านหนังสือ ชื่อ “วิถีแมนเดลา” ที่นักเขียนนาม “ริชาร์ด สเตงเกิล” ได้ไปสัมภาษณ์ "เนลสัน แมนเดลา" และถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านได้นำไปใช้เป็นหลักการในการทำงานของตนไว้

เนลสัน แมนเดลา เป็นลูกชายของหัวหน้าเผ่าเทมบู ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกาใต้ เมื่อบิดาเขาเสียชีวิตเขาจึงทำหน้าที่หัวหน้าเผ่าแทน โดยมีลุงคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ และด้วยความที่เป็นลูกของชนชั้นนำประจำเผ่า เขาจึงได้เรียนหนังสืออย่างดีที่สุดกับครูที่เป็นมิชชั่นนารีชาวอังกฤษ
การที่ได้เรียนกับครูที่เป็นผู้ดีอังกฤษทำให้เขามีโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากคนในเผ่าอย่างยากที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้อีก เมื่อโตขึ้นเขาได้เข้าศึกษาที่มหาวิยาลัยชั้นนำชื่อ “ฟอร์ตแฮร์ คอลเลจ” จนจบ ต่อมาอีกไม่นานเขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อประกอบอาชีพทนายความและศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัย “วิทวอเตอร์สแรนด์” หลังสำเร็จการศึกษาเขาก็เริ่มทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกแห่ง “สภาแห่งชาติแอฟริกัน” ในขณะที่เขามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น
เนลสัน แมนเดลา เป็นทั้งทนาย เป็นทั้งโฆษกขององค์กรที่เขาสังกัด เหตุเพราะเขาเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่มีวาทศิลป์อย่างยอดเยี่ยม

เขาได้ลิ้มรสของชีวิตหลังลูกกรงเป็นครั้งแรกในปี ๒๔๙๙ ด้วยข้อหากระทำการอันผิดกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และได้ถูกปล่อยตัวออกมาในปี ๒๕๐๓
ครั้นถึงปี ๒๕๐๕ เขาก็ถูกจับอีกเป็นครั้งที่สองด้วยข้อหายุยงให้มีการสไตรก์และเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ในระหว่างที่เขาติดคุกอยู่นั้น ปีถัดมาคือปี ๒๕๐๖ รัฐบาลแห่งชาติแอฟริกาใต้ได้ค้นพบเอกสารบางชิ้นที่แสดงว่าองค์กรที่เขาสังกัดอยู่นั้นมีการวางแผนเป็นกบฎต่อต้านอำนาจรัฐด้วยอาวุธสงคราม ทำให้เขาและผองเพื่อนถูกตีตรวนยาวกลายเป็นนักโทษทางการเมืองตลอดชีวิต
เขาติดคุกอย่างยาวนานถึง ๒๗ ปี จวบจนในปี ๒๕๓๓ เขาจึงได้รับอิสรภาพในขณะที่เขามีอายุล่วงมากกว่า ๗๑ ปี

ในอีก ๓ ปีต่อมา เขาได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับมนุษยชาติทั้งโลก
ลุถึงปี ๒๕๓๗ ฟ้าหลังฝนเริ่มสดใส “เนลสัน แมนเดลา” ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ เขาอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงปี ๒๕๔๒ เขาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและอุทิศตนให้กับงานกุศาลระดับโลกจนถึงทุกวันนี้
และเช้ารุ่งของวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ เขาก็จากโลกนี้ไป ด้วยวัย ๙๖ ปี

เนื้อหาของหนังสือที่ชื่อ "วิถีแมนเดลา" ได้ถ่ายทอดให้เห็นวิธีคิดวิธีทำงานของ “เนลสัน แมนเดลา” ไว้ ๑๕ ประการ อันได้แก่
(๑) หาญกล้าใช่ว่าหวาดกลัว
(๒) จงเยือกเย็น
(๓) นำจากข้างหน้า
(๔) นำจากข้างหลัง
(๕) สวมบทบาทให้ดี
(๖) ยึดหลักการให้มั่น
(๗) พึงมองแต่แง่ดี
(๘) รู้จักศัตรูของตน
(๙) เก็บคู่แข่งไว้ใกล้ตัว
(๑๐) รู้จักปฏิเสธ
(๑๑) เกมชีวิตยาวไกล
(๑๒) ความรักที่สร้างโลก
(๑๓) รู้จักวางมือคือผู้นำเช่นกัน
(๑๔) เป็นได้ทั้งสองทาง และ
(๑๕) เสาะหาอุทยานส่วนตัว
ผมคงไม่อธิบายวิถีแต่ละข้อได้ว่าได้บอกอะไรไว้ แต่ผมคิดว่าเพียงแค่เห็นหัวข้อของแต่ละวิถีก็พอคาดเดาเรื่องราวต่าง ๆ ได้ ซึ่งแต่ละวิถีล้วนบอกนัยแห่งการเติมเต็มหลักการในการทำงานของผู้คนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

นี่แหละครับ คนดีของโลก แม้เขาจากไปเขายังได้ทิ้งผลงานไว้ให้กับแผ่นดินและให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง
แล้วเราล่ะ ได้ทำอะไรดี ๆ ให้กับโลกใบนี้บ้างหรือยัง
สู่สุคติเถิด "เนลสัน แมนเดลา” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น