วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"คุณค่า" สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

“ทำไป....ทำไม ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นเลย”

เป็นข้อความที่ผมได้รับฟังบ่อยครั้งจากเพื่อนภาคีเครือข่าย ที่ตั้งคำถามต่อกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งเป็นงานหนึ่งที่ผมรับผิดชอบอยู่

ได้ยินตอนแรก ๆ ก็รู้สึกไม่สบายใจที่เรายังไม่สามารถทำให้คนรอบข้างเข้าใจงานที่ “ใหญ่-ยาก” แบบนี้ได้ แต่เมื่อคิดอีกที นี้เป็นคำถามสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผมได้อธิบายงานให้กระจ่างอีกครั้งหนึ่ง

ผมยอมรับครับว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีหลายมติที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในมุมกลับกันก็มีอีกหลายมติมิใช่น้อยที่ออกดอกออกผลไปพอสมควร

ผมอยากจะเปรียบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กับลักษณะของครอบครัวในสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งพบว่า สามารถจำแนกได้ ๓ กลุ่ม

กลุ่มที่ ๑ กลุ่ม “ครอบครัวอบอุ่น” ที่ประกอบไปด้วย พ่อแม่ลูก ดูแลเลี้ยงดูกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็เปรียบเสมือนการแสดงความเป็นเจ้าของในมติสมัชชาสุขภาพที่ตัวเองพัฒนาขึ้น แล้วมาขอใช้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม หรือทำคลอด เมื่อคลอดแล้ว ก็นำมติไปขับเคลื่อน ติดตามต่อ ได้ผลอย่างไรก็บอกก็กล่าวให้ทราบ ซึ่งมีมติในกลุ่มนี้ประมาณ ๑ ใน ๓

กลุ่มที่ ๒ กลุ่ม “ครอบครัวใหม่” หมายถึง เพิ่งเป็นครอบครัวมือใหม่หัดขับ อยากมีลูกก็เลยมาปรึกษากับหมอ จนได้ลูกตามความประสงค์ ก็นำลูกกลับไปเลี้ยง แต่ด้วยความเป็นพ่อแม่มือใหม่ จึงต้องขอรับการสนับสนุนจากพ่อแม่ หรือจากหมอที่ทำคลอดบ้าง ก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่เจ้าของเรื่องนำมาใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจนได้มติออกมา แล้วนำไปขับเคลื่อนในบางเรื่องบางประเด็น แต่ยังไม่ครอบคลุมมติทุกข้อ หรือบางรายก็กลับมาขอรับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อขับเคลื่อนต่อ ซึ่งมีมติในกลุ่มนี้ประมาณ ๑ ใน ๓

กลุ่มที่ ๓ กลุ่ม “ท้องไม่พร้อม” หมายถึง เป็นชายหญิงที่รักสนุก อยากลอง จนเกิดท้องและคลอดออกมา แต่ยังไม่มีความสามารถพอที่จะเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองได้ จึงฝากไว้ให้หมอเลี้ยง ซึ่งในที่นี้ก็คือมาฝากให้องค์กรที่ผมทำงานอยู่ขับเคลื่อนเอง ซึ่งมีมติในลักษณะนี้ ราว ๑ ใน ๓ เหมือนกัน

ทั้งนี้กระบวนการทำงานทั้ง ๓ กลุ่มนั้น เมื่อปีที่แล้วทางมหาวิทยาลัยมหิดล โดยทีมของ อ.ศุภวัลย์ พลายน้อย ได้มาทำการประเมินกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในช่วง ๔ ปีแรก คือ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๔ มีข้อค้นพบที่สำคัญว่า

คุณค่าของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มี ๕ ประการ อันได้แก่

คุณค่าด้านการพัฒนาหรือแก้ปัญหา : สมัชชาสุขภาพได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนแก้ไขมาตรการสำคัญที่มีผลต่อสุขภาวะของสังคม คุณค่าของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมิได้หมายความเพียงการได้มาของมติที่นำไปปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดแนวทางการจัดการปัญหาสังคมที่ต่อเนื่องเรื้อรัง และไม่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง

คุณค่าด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ : ก่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีที่มีความแตกต่างในความเห็นและผลประโยชน์ ช่วยสร้างการเรียนรู้และเข้าใจในหน้าที่ความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบทางสังคม การตัดสินใจบนฐานข้อมูลความรู้ และก่อให้เกิดความเข้าใจสุขภาวะองค์รวม

อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะมากขึ้น สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของประเด็นสุขภาวะนั้น ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะทางสังคมได้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทำให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ค้นหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ที่เน้นกระบวนการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง

คุณค่าด้านการสร้างเครือข่ายและกลไกการจัดการเครือข่าย : สร้างให้เกิดผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้นโยบาย เครือข่ายที่ขับเคลื่อนประเด็นเดียวกัน เครือข่ายที่ขับเคลื่อนต่างประเด็น และการพัฒนาความสัมพันธ์และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างภาคีเครือข่าย เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมพลัง เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงร่วมหรือปฏิญญาประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายต่อสาธารณะ

คุณค่าด้านการพัฒนาองค์ความรู้ : มีการใช้ความรู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้มิได้หมายถึงความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงความรู้เชิงประสบการณ์ คุณค่าด้านการพัฒนาองค์ความรู้จึงพิจารณาจากการมีชุดความรู้หรือเอกสารที่เกิดขึ้นจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพ และชุดความรู้ที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะแบบองค์รวม ผู้มีส่วนได้เสียในสมัชชาสุขภาพมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ผลสืบเนื่องจากการที่สมัชชาสุขภาพออกแบบให้มีกระบวนการเก็บเกี่ยวความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ สรุปความรู้ และใช้ความรู้ ก่อให้เกิดองค์ความรู้จากพื้นที่เชิงประเด็น และระดับชาติในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

คุณค่าด้านผลต่อการขับเคลื่อนสมัชชาประเภทอื่น : ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดการรับรู้ ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ และยังมีการถ่ายทอดรูปแบบ วิธีการไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสังคมในเรื่องอื่น ๆ เช่น สมัชชาปฏิรูป สมัชชาคุณธรรม สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาคนพิการ สมัชชาเด็กและเยาวชน เป็นต้น

ดังนั้นที่กล่าวมานี้คงพอเห็นภาพของเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ไม่มากก็น้อยนะครับ

อีกทั้งต้องเข้าใจเพิ่มขึ้นด้วยว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ไม่ใช่ “แก้วสารพัดนึก” ที่จะดลบันดาลให้ได้ทุกประการตามที่มีมติออกมา แต่เราทุกคนต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำให้เกิดเข้มแข็งยิ่งขึ้น

เพราะความสำคัญของ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” คือ การเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วน โดยไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะเสียงเล็กเสียงน้อยที่เดิมถูกละเลย ให้ได้มีเวทีหรือพื้นที่เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการนโยบายสาธารณะนี้ได้อย่างทัดเทียมกัน

กระบวนการเช่นนี้ จึงนับเป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่และท้าทายในหัวใจผมยิ่งนัก......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น