วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“สมัชชาสุขภาพ” : เครื่องมือสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

๙ ธันวาคม ๒๕๕๖

แม้ว่าเจตนารมณ์สำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ การเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มสามารถต่อรองร่วมกันได้ แต่กลับพบว่า คนบางกลุ่มกลับเข้าไม่ถึงกลไกบางอย่าง เพื่อจะทำให้ตัวเองสามารถจะต่อรองกับกลุ่มอื่นๆในสังคมได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าไปต่อรองในพื้นที่ดังกล่าวได้ โอกาสที่จะเกิดระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นในสังคมจึงเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย

เช่นเดียวกับวิกฤติบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีสาเหตุมาจากระบอบการปกครองที่เราใช้ นั่นก็คือ “ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ที่ใช้วิธีการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง

แต่ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นกลับไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล แต่ไปทำตามบุคคลที่มีอิทธิพลเหนือกว่า โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง

กระแสเรียกร้องทางการเมืองข้อหนึ่ง คือ ต้องมีการพัฒนาระบอบการปกครองของไทยเราให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นทางออกของประเทศไทย

แล้ว "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" คืออะไรล่ะ

มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายโดยสรุปได้ว่า หมายถึง "การมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนการกำหนดวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ไม่ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ ตามระบอบการเมืองการปกครองที่ไม่ไปก้าวก่ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม"

มีนักวิชาการท่านหนึ่ง ชื่อ "แคทท์ (Helena Catt)" เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า องค์ประกอบและเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มี ๔ ประการ คือ

ประการแรก ทุกคนสามารถยกประเด็นปัญหาใดปัญหาหนึ่งขึ้นมา เพื่อกำหนดเป็นวาระของการประชุม สามารถเสนอทางเลือก และมีส่วนร่วมในการเลือกหรือการตัดสินใจสุดท้ายได้

ประการที่สอง เป็นการประชุมที่ทุกคนสามารถพูดคุยกันได้อย่างทั่วถึง (Face-to-face meeting)

ประการที่สาม มีการปรึกษาหารือ หรืออภิปรายประเด็นปัญหาที่หยิบยกมาพิจารณากันอย่างกว้างขวาง ทุกคนต้องการมีส่วนร่วมในการอภิปราย และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

ประการที่สี่ มีแนวโน้มที่พยายามจะให้เกิดความเห็นพ้อง (Consensus) ร่วมกันในประเด็นปัญหาที่พิจารณา

กล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงทัศนะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆที่จะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง

อีกทั้งยังช่วยในการตัดสินใจของรัฐบาลให้มีความรอบคอบ และสอดรับกับปัญหาและความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลให้มีความโปร่งใส (Transparency) ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน (Responsiveness) และมีความรับผิดชอบหรือสามารถตอบคำถามของประชาชนได้ (Accountability) เป็นอย่างดี

ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั้นเอง

ผมเขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้คิดไปถึงเครื่องมือหนึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งกฎหมายได้ให้ความหมายไว้ว่า

เป็น “กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ หรือความมีสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม”

ซึ่งหากนำความหมายของคำว่า “สมัชชาสุขภาพ” ไปเชื่อมโยงกับแนวคิดของคำว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน

เพราะสมัชชาสุขภาพนั้น

เป็นกระบวนการที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลและคณะบุคคล ในการเสนอประเด็นปัญหาที่จะนำมาพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับทุกคนในการแสดงความคิดเห็นอย่างทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเล็กเสียงน้อย และครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

เป็นกระบวนการที่เน้นการพูดคุยที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้และข้อมูลรองรับที่เชื่อถือได้

เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ใช้เสียงส่วนมากในการตัดสินใจ แต่จะใช้ความเห็นร่วมกันจากบุคคลทุกฝ่ายในลักษณะที่เรียกว่า “ฉันทมติ” หรือ Consensus นั่นเอง

เป็นกระบวนการที่ไม่ได้มอบมติที่เห็นพ้องต้องกันนั้น ให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถือเป็นเจ้าของร่วมกัน ทุกฝ่ายมีหน้าที่นำมตินั้นไปปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แบ่งปันกัน

ผมจึงกล้ากล่าวอย่างเต็มปากว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเราได้สร้างเครื่องมือไว้พร้อมแล้วสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ฉะนั้น หากถามว่าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างไร

คำตอบก็ง่ายนิดเดียว เพียงเร่งส่งเสริมให้ทุกพื้นที่ ทุกองค์กรมีการนำเครื่องมือ “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้อย่างกว้างขวางให้เต็มพื้นที่ เปิดพื้นที่ให้ทุกเสียงของทุกคนกำหนดอนาคตของตนเอง

เพราะหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือ การสร้างอำนาจให้ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มีอำนาจในการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน ประชาธิปไตยจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยฐานอำนาจที่หลากหลายเช่นนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น