วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“สภาประชาชน” คือการเปิดพื้นที่สาธารณะ

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

กระแสคำว่า “สภาประชาชน” ในช่วงนี้โด่งดังมาก ใครไม่พูดอาจเชยหรือตกยุคได้ทันที

ท่ามกลางวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ “สภาประชาชน” ถูกเสนอขึ้นเพื่อเป็นทางออกของประเทศที่สำคัญ

มีข้อเสนอต่อการก่อรูปเป็น “สภาประชาชน” ของฝ่ายต่างๆ อาจสามารถจำแนกได้เป็น ๒ แนวคิดสำคัญ คือ

แนวคิดแรก มองว่า “สภาประชาชน” เป็นกลไกหรือโครงสร้าง ที่ต้องมีองค์ประกอบของผู้คนชุดหนึ่งมาทำหน้าที่ต่างๆกันไป
แนวคิดที่สอง มองว่า “สภาประชาชน” เป็นกระบวนการหรือเป็นวิธีการทำงาน หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาใช้ แบ่งปัน หรือหาข้อสรุปบางอย่างร่วมกัน
ทั้ง ๒ แนวคิด ถือว่ามีความแตกต่างในเชิงหลักการและวิธีคิดอย่างสิ้นเชิง

แต่สำหรับผมแล้ว......

"สภาประชาชน” ต้องเป็นเรื่องของ “กระบวนการที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้เข้ามาในพื้นที่สาธารณะนี้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อร่วมกันคิดเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาร่วมกัน” เป็นสำคัญ
เพราะตราบใดที่ “สภาประชาชน” ยังคงวนเวียนอยู่กับเพียงเรื่องของโครงสร้างหรือกลไกแล้ว ทั้งเรื่องบทบาทหน้าที่ องค์ประกอบ การได้มาซึ่งสมาชิกสภา สุดท้ายก็คงไม่พ้นย่ำรอยทางเดิมที่ประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างมากมายมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่มิพักเป็นทางออกต่อปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบันได้จริง

มีนักคิด นักวิชาการหลายคนที่เสนอรูปธรรมของสภาประชาชนตามแนวคิดที่ ๒

“ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์” ชี้ให้เห็นว่า สภาประชาชนคือ การรวมกลุ่มของผู้คน ประชาชน พลเมือง ที่เอาธุระของชุมชน องค์กร บ้านเมือง มารวมตัว ประชุมสนทนาปรึกษาหารือกัน เพื่อจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่ร่วมกัน โดยต้องยึดให้มั่นในเรื่อง
การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (share vision) ว่าปรารถนาอยากเห็นอนาคตเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาและจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร มีใครจะต้องเข้าร่วมทำบ้าง
ต้องเน้นกระบวนการ ที่เปิดกว้างในการระดมพลังความคิด และหัวจิตหัวใจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ติดรูปแบบที่แข็งกระด้าง
มีการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้อง เกิดกระบวนการสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ ทุกเพศ วัย ทุกสาขา อาชีพ มีการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน เกิดความรักสามัคคี ผูกพัน และสามารถหลอมจุดร่วม โดยการบูรณาการความหลากหลายเข้าด้วยกัน รูปแบบและพิธีกรรมต้องไม่ทำลายบรรยากาศที่อบอุ่นและมีพลัง อย่าใช้รูปแบบที่จะให้คนมาโอ้อวดอัตตา และครอบงำความคิดของคนอื่นเป็นอันขาด

“เสรี พงศ์พิศ” เป็นอีกผู้หนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยยกรูปธรรมที่พื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ว่ามีการดำเนินการมานานแล้ว แต่อาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันไป อาทิ สมัชชา สภา หรือเครือข่าย ซึ่งประชาชนได้จัดพื้นที่ จัดเวที เพื่อแสดงตนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในการจัดการชีวิต ชุมชน สังคม ของตนเอง เพื่อการเปลี่ยนแปลง (dynamics) ที่แท้จริง

“โตมร ศุขปรีชา” เป็นคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่ได้นำเสนอรูปแบบของ “สภาประชาชน” ไว้อย่างน่าสนใจในบทความเรื่อง “สภาประชาชน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” เขาได้เล่าถึงรายการทีวีรายการหนึ่งชื่อว่า The People’s Parliament ที่ฉายในประเทศอังกฤษ

เริ่มต้นด้วยการตั้ง “ประเด็นปัญหา” เรื่องหนึ่งๆ แล้วสุ่มคนมา ๙๐ –๑๐๐ คน ทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็น “ลูกขุน” โดยจะมี “ผู้รู้” ในประเด็นดังกล่าวมาเป็นผู้เสนอประเด็น และคนเหล่านี้นำพยานมาให้การต่อหน้าลูกขุนด้วย โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นตัวกลาง

คนที่ถูกสุ่มมานั้น จะเรียกว่าเป็น MPP (Members of the People’s Parliament) ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “ฟัง” เฉยๆ แต่ MPP นั้นสามารถซักถามได้ ตรวจสอบพยานได้ ลุกขึ้นพูดได้ และยังสามารถตั้ง “คณะกรรมาธิการ” ของตัวเองขึ้นมาได้ โดยคณะกรรมาธิการจะประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ในด้านนั้น ๆ แล้วให้คณะกรรมาธิการไปทำหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อดูข้อเท็จจริงต่าง ๆ ว่ามันคืออะไร
ที่สนุกและน่าสนใจมากที่สุดก็คือ ก่อนที่จะเริ่มการถกเถียงหาข้อเท็จจริงต่างๆ MPP จะต้อง “ลงคะแนนเสียง” เสียก่อน ว่าตนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ต่อประเด็นนั้นๆ เสร็จแล้วหลังจากเกิดการถกเถียงกันแล้ว ก็ให้มีการลงคะแนนเสียงอีกเป็นครั้งที่สอง เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาว่า MPP มีความคิดเห็นอย่างไร การโต้เถียงนั้นได้ “เปลี่ยน” มุมมองของ MPP แต่ละคนไปอย่างไรบ้างหรือเปล่า แล้วจากนั้นก็จะมีผู้ไปสัมภาษณ์ว่าทำไมถึงเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนความคิดเห็นภายหลังการถกแถลงกันแล้ว

แนวทางของทั้ง ๓ คน ที่กล่าวมา จึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญว่า “สภาประชาชน” ก็คือ พื้นที่สาธารณะที่หยิบยกประเด็นปัญหามาคุยกัน โดยใช้ความรู้ทางวิชาการเป็นฐานในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ข้อสรุปที่ได้ก็จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น นำไปพิจารณาและดำเนินการต่ออย่างทันท่วงทีนั่นเอง

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้และขยายกระบวนการเหล่านี้ได้จริงในทุกพื้นที่ ทุกประเด็น ก็จะเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับแนวคิดที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ในมาตรา ๘๗ ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดําเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง
ฉะนั้นถ้า “สภาประชาชน” เป็นกระบวนการดั่งที่ว่ามา ก็จะเป็นรากฐานหรือรากแก้วที่สำคัญของการสร้างให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างยิ่ง

แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าคำตอบหรือหน้าตา “สภาประชาชน” จะออกมาเป็นเช่นไร จะเป็นหุบเหวแห่งความมืดดำหรือเป็นยอดภูแห่งแสงสว่าง ผมขอเพียงการเปิดพื้นที่ให้เราทุกคนในฐานะพลเมืองของประเทศไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย จึงจะนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนพึงปรารถนา


อ่านเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง “สมัชชาสุขภาพ” : เครื่องมือสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
http://bwisutttoto.blogspot.com/2013/12/blog-post_3953.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น