วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียน : อีกความท้าทายหนึ่ง

๔ ธันวาคม ๒๕๕๖
"เราอย่ามองว่าเป็นภาระ แต่ควรมองให้เป็นพลัง" เป็นคำพูดของผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรีเขต ๒ (สพป.) ผู้ทำหน้าที่ประธานการปรึกษาหารือในวันนี้
เป็นคำพูดที่กล่าวขึ้นหลังจากที่มีผู้ร่วมเวทีคนหนึ่งแสดงความกังวลต่องานที่จะเพิ่มขึ้น หากมีการบรรจุงานที่เราคุยกันเพิ่มเติมจากแผนงานปกติ
คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ผมประทับใจเป็นที่สุด เพราะช่างเป็นคำพูดที่สร้างสรรค์เป็นยิ่งนัก และที่สำคัญเป็นคำพูดที่ได้แสดงภาวะการนำที่บ่งบอกการมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารต่อทีมทำงานที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ผมก็เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ตั้งคำถามในวง เพราะโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่เป็นเป้าหมายงานชิ้นนี้มีหลายขนาด มีความพร้อมที่ไม่เท่ากัน
และด้วยคำถามที่บ่งบอกสถานการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งข้อสรุปหรือทางออกร่วมกันที่จะเริ่มพัฒนาที่โรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจก่อน ไม่ใช่เป็นการดำเนินงานแบบภาคบังคับ

เช้าวันนี้ผมมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดราชบุรี ตามคำเชิญชวนของน้องชายที่ทำงานที่มีไฟทำงานอยู่เต็มตัว
โดยคำเชิญชวนที่ผมต้องตัดสินใจไปร่วมด้วยก็คือ อยากชวนไปร่วมวงการขับเคลื่อน "ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียน"
เหตุที่ผมบอกว่าคำพูดนี้ทำให้ผมตัดสินใจร่วมเดินทางไปด้วยก็เพราะว่า เป็นคำที่ฟังแล้วมีความท้าทายต่อผมยิ่งนัก
ที่ผ่านมาผมได้ยินแต่ ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ธรรมนูญสุขภาพอำเภอ ธรรมนูญสุขภาพตำบล ธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้าน ธรรมนูญลุ่มน้ำ แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า "ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียน" มาก่อน
นี่แหละคือสิ่งดึงดูดให้ผมเดินขึ้นรถตู้ที่มารอรับผมที่ทำงานตอนเช้าตรู่ เหมือนคนโดนยาสั่ง

เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ภายในห้องทำงานของ ผอ.สพป.เขต ๒ ที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงามด้วยโทนสีเหลืองนวล ทีมผู้บริหารของ สพป.ทั้งเขต ๑ และเขต ๒ แกนสมัชชาสุขภาพของราชบุรีและทีมจาก สช. นับได้ประมาณ ๑๐ คน นั่งล้อมโต๊ะกลมกันพร้อมหน้า โดยมีขนมเปี้ยะแสนอร่อยจากนครปฐมถูกเสิร์ฟพร้อมกาแฟร้อนหอมกรุ่นบริการสำหรับผู้มาประชุม
วงปรึกษาหารือเริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำของ ผอ.สพป.เขต ๒ ด้วยการสร้างความฝันว่าอยากจะพัฒนาและยกระดับโรงเรียนที่ดูแลอยู่ให้ดีขึ้น และเห็นว่าเครื่องมือ "ธรรมนูญสุขภาพ" เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโรงเรียนของพวกเรา
ต่อจากนั้น ทีม สช. ได้นำเสนอแนวคิดของ "ธรรมนูญสุขภาพ" ให้ผู้่ร่วมวงได้รับทราบและซักถามกันจนเป็นที่เข้าใจ
หลังจากนั้น การปรึกษาห่ารือก็เริ่มขึ้น ทุกคนที่ร่วมวงต่างช่วยกันเสนอความคิดความเห็นและความเป็นไปได้ในการทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้

บทสรุปที่สำคัญที่ทุกคนที่ร่วมวงเห็นร่วมกัน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความประทับใจให้กับผมเป็นอย่างยิ่ง
เราสามารถร่วมกันกำหนดอนาคตของโรงเรียนด้วยตัวเองได้ เราสามารถที่จะระบุสิ่งที่แต่ละโรงเรียนอยากเห็น อย่างเป็น และอยากมีได้
เราเห็นตรงกันว่าพลังการทำงานร่วมกันเป็นพลังสำคัญในการทำงานครั้งนี้
การพัฒนาโรงเรียนนอกเหนือจะต้องรับผิดชอบกับการเรียนการสอนของนักเรียนแล้ว ต้องมีส่วนร่ัวมรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ และชุมชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนด้วย
หลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งสามารถจัดทำได้ในแต่ละโรงเรียนในวิชาที่ไม่ใช่ภาคบังคับ
ในปัจจุบันหลายโรงเรียนมีการพัฒนานักเรียนตามความต้องการของชุมชนที่หลากหลาย ทั้งการฝีกด้านศิลปะวัฒนธรรม การฝึกอาชีพ อาทิการฝึกเป็นสัปเหร่อน้อยก็มี
โรงเรียนมีหลายระดับ มีความพร้อมที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการพัฒนาควรเป็นไปในลักษณะการสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการบังคับ
เราจะเริ่มนำร่องในโรงเรียนที่มีคามเข้มแข็งก่อน ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า ๘๐ แห่ง จากทั้งหมดที่มีอยู่ในจังหวัดราชบุรีกว่า ๓๐๐ แห่ง
กระบวนการทำงานต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งส่วนที่เป็นของโรงเรียน ของ สพป. และของ สช. เอง

เรายุติการประชุมปรึกษาหารือกันก่อนเที่ยงเล็กน้อย เพื่อเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่ในตัวเมืองราชบุรี
ระหว่างที่เดินทาง ผมนั่งทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ผ่านไปเมื่อสักครู่ ซึ่งผมได้วิเคราะห์ปัจจัยสำคัญอย่างน้อย ๒ ประการ ที่เกิดข้อสรุปที่สร้างสรรค์ในวันนี้
ประการที่หนึ่ง คือ บทบาทของ ผอ.สพป. มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจที่จะจัดทำ "ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียน" ครั้งนี้ ซึ่งผมทราบภายหลังว่าสามารถที่จะให้คุณให้โทษกับโรงเรียนต่าง ๆ ได้มาก เพราะทางกระทรวงได้มอบอำนาจมาให้
ฉะนั้น จุดคานงัดสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนจึงไม่สามารถมองข้ามบุคคลที่ทำหน้าที่ ผอ.สพป. ไปได้

ประการที่สอง คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะนำมาพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง อย่างกรณีนี้ ตัว ผอ.สพป.เองเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่อง "ธรรมนูญสุขภาพ" อยู่ในระดับดี ทั้งจากการซึมซับงานในช่วง ๒ ปีก่อน ที่เคยเข้าไปเป็นคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และจากลูกชายที่ทำงานที่ทำงานที่ สช. และเป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้
ฉะนั้น จุดคานงัดอีกประการหนึ่งคือการสร้างการเรียนรู้ต่อบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งอาจจะใช้คนใกล้ชิดเป็นสะพานเชื่อมก็ถือเป็นยุทธวิธีที่น่านำาใช้

ก็คงเป็นอีกงานหนึ่งที่ท้าทายสำหรับคนทำงานทุกคน สำหรับการสรรค์สร้าง "นวัตกรรม" ในระบบการศึกษาไทยที่มีการเชื่อมโยงไปสู่ระบบสุขภาพครั้งนี้
สำหรับผมเองขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนและหวังว่าอีกไม่นานที่จังหวัดราชบุรีแห่งนี้ จะเกิด "ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียน" ในหลายโรงเรียน และนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของเยาวชนคนราชบุรีในไม่ช้านี้

ระหว่างที่ผมเดินทางกลับที่ทำงาน ในใจผมอดคิดไปถึงวิกฤตบ้านเมืองที่เกิดความขัดแย้งอยู่ในขณะนี้ไม่ได้ และคิดไปว่ากระบวนการทำงานที่ใช้การ "ปรึกษาหารือ" ที่ยึดประโยชน์สุขของนักเรียน ของ สังคมและของประเทศชาติเป็นที่ตั้งที่เพิ่งผ่านไปนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างในการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทยได้ไม่น้อย
และสุดท้ายผมขอฝากคำพูดของ ผอ.สพป. ที่กล่าวไว้ว่า "เราอย่ามองว่าเป็นภาระ แต่ควรมองให้เป็นพลัง" ไว้เป็นข้อคิดสำหรับการทำงานของทุกคนด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น