วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Hate Speech กับอิทธิฤทธิ์ของสื่อ

๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

ผมเพิ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับลูกชายของผม และอดไม่ได้ที่จะชื่นชมในวุฒิภาวะของเขาที่มีปฏิกิริยาแบบนั้น เพราะลูกชายผมเพิ่งเริ่มต้นใช้คำว่า “วัยรุ่น” นี้เอง

เมื่อไม่กี่วันที่แล้วผมได้เล่าเรื่อง “ประชาธิปไตยในครอบครัว” เป็นปฏิกิริยาของลูกชายต่อเสียงจากทีวีดาวเทียมช่องหนึ่ง ที่ถ่ายทอดการจัดรายการสดรายงานสถานการณ์การชุมนุมของมวลมหาประชาชน
“ผมไม่ชอบ เขาชอบด่ากัน ใช้คำหยาบคาย และพูดซ้ำๆซากๆ น่าเบื่อจริงๆ” คือคำพูดที่ออกจากปากลูกชายในวันนั้น

วันนี้ (12 ธันวาคม 2556) ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมเวที “พลังภาคประชาชน ทางออกประเทศไทย ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่จัดขึ้นหอประชุมพุทธคยา ชั้น ๒๒ อาคารอัมรินทร์พลาซ่า ซึ่งตั้งอยู่กลางใจเมืองหลวงย่านเพลินจิต

จักร์กฤษ เพิ่มพูล ในฐานะประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้กล่าวในเวทีไว้ ๒ ประการ ที่น่าสนใจว่า
ประเด็นแรกก็คือ ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว (Media landscape)
ประเด็นที่สองคือ วาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Hate Speech

"Hate speech is a communication that carries no meaning other than the expression of hatred for some group" หรือแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ "การพูดซึ่งมีเจตนาก่อให้เกิดการเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง"

ต้องบอกว่าผมสนใจในเรื่อง Hate Speech เป็นอย่างมาก เพราะหวนคิดไปถึงคำพูดของลูกชายเมื่อวันก่อน
ระหว่างที่นั่งฟังจักร์กฤษ อธิบายในช่วงเวลาสั้น ๆ ถึงผลกระทบจากอิทธิพลสื่อที่ไม่มีจรรยาบรรณ โดยเฉพาะสื่อกระแสทางเลือกที่ถ่ายทอดสด โดยไม่มีกระบวนการกรองสาร
เมื่อคนรับสาร รับสารซ้ำไปซ้ำมาบ่อย ๆ จะไปมีอิทธิพลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และวุฒิภาวะของบุคคลตามไปด้วย
หากสารที่ส่งไปนั้นเป็นวาทกรรมเชิงลบ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ผู้รับสารที่ฟังซ้ำ ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วิธีคิดจนถึงการกระทำได้

ฉะนั้น ปรากฏการณ์ที่ผมเห็นและได้ยินจากลูกชาย จึงเป็นผลลัพธ์จากอิทธิพลของสารที่เขารับเข้าไปแบบซ้ำไปซ้ำมาอย่างบ่อยครั้งนั่นเอง

ผมลองเปิดหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบผลงานวิชาการเกี่ยวกับ Hate Speech มากมาย สาระสำคัญคือ
“การสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง” หมายถึง การใช้คำพูดหรือการแสดงออกทางความหมายใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ซึ่งอาจจะติดตัวมาแต่ดั้งเดิม หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ การแสดงความเกลียดชังที่ปรากฏอาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยก็ได้

วัตถุประสงค์ของการสื่อสารความเกลียดชังได้ ๔ ประเภทใหญ่ คือ
๑) ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ชัดเจน
๒) มีแนวโน้มสร้างความเข้าใจที่ผิดหรือมีอคติต่อกลุ่มเป้าหมาย
๓) ยั่วยุหรือทำให้เกิดความเกลียดชังหรือสบประมาทอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย
๔) กำจัดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งการปฏิเสธการอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน และการทำร้าย/ทำลายล้างกลุ่มเป้าหมาย

แล้วทางออกสำคัญเพื่อให้รอดพ้นจาก Hate Speech มีไหม
จักร์กฤษ ได้แนะนำผู้ร่วมเวทีว่า จักต้องมี “สติ” ในการรับฟังและแยกแยะสารที่เข้ามา อย่าติดยึดกับสารอย่างตายตัว ให้ผ่อนปรนปล่อยวาง

ผมในฐานะที่ทำงานในวงการระบบสุขภาพ จึงอยากจะบอกว่าสิ่งที่จักร์กฤษเสนอ นั้นก็คือ “สุขภาวะทางปัญญา” ที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติความหมายไว้ว่า เป็น “ความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดี ความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” นั่นเอง

นอกจากนั้น สิ่งที่จักร์กฤษ ได้เรียกร้องผ่านเวทีอีกเรื่องหนึ่ง คือ การมีจรรยาบรรณของสื่อ ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารที่สื่อส่งไปด้วย
อีกทั้งเขายังห่วงใยต่อระบบสื่อสารสาธารณะของไทยในขณะนี้ ที่ปัจจุบันสื่อกระแสหลักนั้นถูกครอบงำไปด้วยทุน ส่งผลให้มีการจัดผังรายการนำเสนอสารในรูปแบบต่างๆ นั้นต้องคำนึงผลประโยชน์เชิงธุรกิจเป็นเป้าหมายสำคัญ
ฉะนั้น Hate Speech จึงอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ และไปมีความเกี่ยวข้องกับผลกำไรในเชิงธุรกิจด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้วในโลกของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กลไกสื่อสารทางเลือก โดยเฉพาะทีวีดาวเทียม และระบบอินเตอร์เน็ต มีความยุ่งยากอย่างมากในการควบคุมมิให้มีการใช้ถ้อยคำหรือข้อความในลักษณะ Hate speech จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องรวมหัวกันคิดถึงระบบป้องกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผมมองย้อนกลับไปที่ปฏิกิริยาของลูกชายผม ผมยังพบสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้ถ้อยคำของแกนนำหรือวิทยากรบนเวทีชุมนุม ที่ยังนิยมใช้ถ้อยคำในลักษณะ Hate Speech เพื่อสร้างความมันในอารมณ์ หรือความสะใจของผู้ฟัง
โดยคาดไม่ถึงผลกระทบที่ตามมาก็คือ เมื่อมีบุคคลรับสารได้ฟังแบบซ้ำ ๆ จะนำไปสู่การสร้างทัศนคติเชิงลบของบุคคลตามไปด้วย

ฉะนั้นในฐานะ “พ่อ” ผมจึงขอเรียกร้องไปยังทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวสื่อเองที่ต้องสร้างกลไกตรวจสอบการใช้ภาพหรือภาษาในลักษณะนี้ และเรียกร้องมายังแกนนำและวิทยากรที่ขึ้นพูดหรือจัดรายการในลักษณะรายการสดต้องตระหนักว่า คำพูดของท่านมีผลต่อผู้ฟังอย่างมหาศาล
และเรียกร้องมายังพ่อแม่ที่มีบุตรที่ยังอยู่ในวัยเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวัยที่อ่อนไหว โดยควรระมัดระวังและสอดส่องดูแลการรับสารของเขาอย่างใกล้ชิด

เพราะตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกชายวัย ๑๓ ปีของผมนั่นเอง.............

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น