๘ ธันวาคม ๒๕๕๖
อรุณรุ่งของเช้าวันหยุดในเหมันตฤดูนี้ ท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม หมอกสีขาวจับเป็นกลุ่มก้อนกระจายอยู่ทั่ว อากาศรอบกายรู้สึกได้ถึงไอเย็นที่กระทบผิวกาย ผมรีบสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเต็มปอด
จากระเบียงบ้านมองลงไปยังลานหญ้าเขียวขจีด้านล่าง ต้นล่ำซำหรือต้นหูหนูแผ่กิ่งก้านขยายใหญ่ ใจนึกเปรียบเทียบกับวันแรกที่ซื้อมา “ช่างโตใหญ่กว่าเดิมไปมาก คงเหมือนอายุคนปลูกที่เพิ่มขึ้นทุกปีๆ”
ภายหลังเสร็จสิ้นจากอาหารเช้าที่ภรรยาจัดเตรียมไว้ให้ ด้วยกาแฟร้อนและผลไม้ที่ฝานแบ่งพร้อมรับประทาน
ผมเอื้อมมือไปกดรีโมททีวีค้นหาช่องที่ดูอยู่เป็นประจำ เบื้องหน้าจอกำลังถ่ายทอดการจัดรายงานสดจากเวทีราชดำเนินพิธีกรคู่กำลังอ่านข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ขายอยู่ในประเทศ พร้อมต่อเติมมุมมองของตน เสริมแต่งสร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้รับชมได้ฟังกัน
สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ส่งผลให้ข่าวพาดหัวทุกฉบับออกมาในเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ การนัดรวมพลครั้งใหญ่ในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่กรุงเทพฯ แต่ข้อความที่ปรากฏมีความแตกต่างกันไปตามมุมมองของบรรณาธิการแต่ละฉบับ
ขณะที่ผมกำลังติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวอยู่นั้น อีกมุมหนึ่งของห้อง ลูกชายวัย ๑๓ ปี ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ก้มหน้าก้มตาอยู่ที่หน้าจอโน๊ตบุ๊ค มือของเขากดคลิ๊ก ๆ ไปที่เมาท์ตลอดเวลา
เพียงไม่ถึง ๑๐ นาทีที่ผมเปิดทีวี ลูกชายค่อย ๆ ปลดสายไฟ พร้อมหอบคอมพิวเตอร์ เดินขึ้นไปยังห้องส่วนตัวของเขา
ในใจผมคิดว่า เขาคงต้องการสมาธิในการทำงาน เสียงจากทีวีคงไปรบกวนเขา ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นในใจของผมทันทีและกะว่าจะกล่าวคำขอโทษลูกชายในเวลาที่เหมาะสม
"อยากจะเล่าอะไรให้พี่ฟัง" เสียงของภรรยาเอ่ยขึ้นทันที หลังจากที่เราอยู่กันตามลำพัง
"ลูกชายมีความคิดทางการเมืองแปลก ๆ จะเถียงกันประจำ น้องเข้าใจว่าอาจจะมาจากครูของเขา ลูกชายเคยมาเล่าให้ฟังว่า คนไทยไปทำลายคนที่ไปอยู่ต่างประเทศ ไปยึดเงินเขา ไปรังแกเขา เหมือนเขาถูกปล้น”
“เมื่อวานนี้ ยายมาเล่าให้ฟังอีกว่า พอยายด่ารัฐบาลชุดนี้เรื่องเงินที่ขายข้าวแล้วยังไม่ได้เงิน ลูกชายก็เถียงขึ้นมาทันที น้องไม่รู้จะทำอย่างไรดี อยากให้พี่คุยกับลูกในเรื่องนี้ค่ะ”
ข้อมูลที่ได้รับจากภรรยาสร้างความตกใจให้กับผมอย่างมาก และหวนคิดถึงปฏิกิริยาของลูกชายเมื่อสักครู่ที่หอบคอมพิวเตอร์ขึ้นห้องไปแทบจะทันที
“ลูกชายเขาเติบโตแล้ว เขาย่อมมีวิธีคิดตามรูปแบบที่เขาได้เรียนรู้มา” ผมนึกในใจ และคิดต่อว่าในฐานะ “พ่อ” ผมควรจะทำอย่างไร
"ลูกชาย เรามาคุยเรื่องการเมืองกันหน่อยดีไหม” ผมเอ่ยขึ้นทันที เมื่อลูกชายเดินมานั่งข้าง ๆ
“ได้เลยครับพ่อ”
“ลูกคิดอย่างไรกับการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้”
“ผมไม่ชอบ เขาชอบด่ากัน ใช้คำหยาบคาย และพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ น่าเบื่อจริง ๆ” เป็นคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ผมคิดเหมือนกัน เพราะคนที่ขึ้นเวทีหลายคน ใช้คำพูดแบบนั้นจริง ๆ
“อีกอย่างหนึ่งนะพ่อ ผมฟังจากทีวีที่พ่อฟังนะ ไม่เห็นตรงกับที่ผมอ่านจากบล็อกราชดำเนิน ในเว็ปไซด์พันธ์ทิพย์ดอทคอมเลย มีแต่คนเขียนด่าคนที่มาชุมนุม ทำให้บ้านเมืองเสียหาย"
ลูกชายเล่าไปเรื่อยๆ ตามสิ่งที่เขารับรู้มา
“ดีมากลูกชาย พ่อขอเสนอเรื่องหนึ่งได้ไหม” ผมกล่าวชมลูกชายไป พร้อมกับชวนเข้าเรื่องที่ตั้งใจ
“ได้ครับ”
“ในครอบครัวเรา ย่อมมีความคิดที่แตกต่างกันได้ พ่อไม่บังคับลูกให้เชื่อตามพ่อ แต่พ่อขอร้องว่า ถ้าลูกมีประเด็นสงสัยอะไร พ่ออยากให้ลูกปรึกษาหารือกับพ่อหรือกับแม่ก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน เพราะพ่อก็อยากฟังความเห็นของลูกเหมือนกัน และคิดว่าแม่ก็เช่นเดียวกัน” ผมพูดไป พร้อมกับมองไปที่สายตาของลูกชายที่ประสานกลับมา เห็นลูกชายนั่งฟังอย่างตั้งใจ
“ได้ครับพ่อ” เป็นคำตอบของลูกชาย ก่อนที่เขาจะเดินออกไปนอกบ้าน พร้อมกับลูกบาสเกตบอลที่ผมซื้อให้เขา
ผมมองตามเขาไปจนลับตา ว่าไปแล้วผมคงไม่กล้าบอกลูกชายให้เชื่อตามที่ผมเชื่อ เพราะในสิ่งที่ผมเชื่อนั้นก็มีบางสิ่งที่แอบแฝงและเจือปนด้วยอะไรบางสิ่งอยู่ จนทำให้ความเชื่อของผมไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จริง
นี้คงเป็นข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดที่ยืนยันว่า ขนาดในครอบครัวเล็ก ๆ ยังพบว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วในสังคมของมนุษย์ที่ใหญ่กว้าง มีผู้คนอาศัยอยู่หลายสิบล้านคน ก็ย่อมเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนที่หลากหลายเช่นกัน
ทุกคนย่อมมีความฝันในการสร้างโลกใบใหม่ตามที่แต่ละคนฝัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกสำคัญที่จะทำให้เรายืนอยู่บนโลกใบเดียวกัน ที่ทุกคนล้วนเป็นเจ้าของร่วมกันได้ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายสลับซับซ้อนนี้ได้อย่างดี นั่นก็คือ การมีสติและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย และเคารพความคิดต่างซึ่งกันและกันนั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น