๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เมื่อวานนี้ผมมีเหตุที่ต้องเดินทางกลับไปยังจังหวัดพิจิตร อันเป็นจังหวัดที่ผมเกิด เพราะมีการนัดหมายเพื่อน ๆ สมัยเรียนเมื่อปี ๒๕๑๙ มาพบปะสังสรรค์ประจำปีกัน จึงมีโอกาสไปกราบขอพรคุณพ่อที่มีอายุเลย ๘๖ ปี และได้พักค้างคืนที่บ้านในตำบลที่ผมเกิด ก่อนจะร่ำลาคุณพ่อและญาติพี่น้องเดินทางกลับไปทำงานที่จังหวัดนนทบุรี
คนเรามีกำพืดหรือรากเหง้ากันทุกคน จึงอยากจะแบ่งปันตำบลที่ผมเกิดนี้ให้กับทุกท่านได้รู้จักกัน
อย่างที่ผมบอกไปแต่ต้นว่าผมเป็นคนพิจิตร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ว่าอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นจังหวัดเล็ก ๆ มีประชากรประมาณ ๖ แสนคน ชื่อเดิมตามประวัติศาสตร์คือ “โอฆบุรี” ที่แปลว่า “เมืองใต้ท้องน้ำ” นอกจากนั้นยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “สระหลวง” “เมืองชัยบวร” และ “เมืองปากยม”
ตำบลที่ผมเกิดชื่อ “ท่าฬ่อ” ซึ่งมีชื่อที่มีเสียงอ่านแปลก ๆ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองพิจิตร เป็นตำบลชายแดนติดกับตำบล “ไผ่ล้อม” เขตอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
ในสมัยเด็ก ๆ ผมมีความอยากรู้จักว่าชื่อ “ท่าฬ่อ” มีความเป็นมาอย่างไร จึงเฝ้าเวียนถามคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย และคนที่ผมคุยเรื่องนี้บ่อยที่สุดก็คือพ่อผมเอง
พ่อบอกกับผมว่า ในสมัยก่อนจะมีการคมนาคมทางบกโดยใช้เกวียนและล้อขนถ่ายสินค้ามาถ่ายสินค้าที่นี้ เพราะที่นี้จะมีท่าน้ำของแม่น้ำน่าน โดยจะมีเรือมอญมาจอดรอสินค้าที่ขนมาทางเกวียนหรือล้อ จึงตั้งชื่อว่าตำบล "ท่าล้อ" และเรียกเพี้ยนมาเป็น "ท่าฬ่อ" ในปัจจุบัน
ผมเคยลองหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็พบข้อมูลประวัติความเป็นมาของชื่อ “ท่าฬ่อ” จากคำบอกเล่าของพระครูวินัยธรมานัส จนฺทสีโล เจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ ซึ่งก็ตรงกับคำบอกเล่าของพ่อผม แต่ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “การตั้งถิ่นฐานของประชาชนในตำบลท่าฬ่อ ไม่มีหลักฐานระบุไว้ชัดเจนว่า มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งเมื่อใด รู้แต่เพียงว่า มีอายุประมาณร้อยกว่าปี ตามอายุการก่อตั้งวัดท่าฬ่อ โดยพื้นที่ของตำบลในอดีต เป็นป่าทึบ มีชาวบ้านรวมตัวกันเข้ามาจับจองเป็นรุ่นๆ บุกเบิกแผ้วถางป่าเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นที่ทำกินอยู่ริมน้ำน่าน ตามลำคลองและเป็นที่มาของชื่อตำบลท่าฬ่อ เพราะในสมัยนั้นจะใช้ล้อเลื่อนสำหรับลากไม้ หรือล้อเกวียนในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร จนเป็นชุมชนที่รวมตัวของเหล่าล้อเลื่อน ล้อเกวียนต่างๆ ที่มาจอดรอบบริเวณริมท่าน้ำเต็มไปหมด จนชาวบ้านเรียกว่า "ท่าล้อ" และผิดเพี้ยนเป็น "ท่าฬ่อ" จนถึงปัจจุบัน”
ผมพยายามนึกไปถึงสภาพความเป็นอยู่ในสมัยที่ผมเป็นเด็ก ภาพที่ค่อย ๆ ปรากฎขึ้นมาทีละภาพไล่เรียงกันปรากฎขึ้นในสมองต่อเนื่องกัน
ภาพของโรงเรียนเมธีพิทยาที่เป็นโรงเรียนที่ฟูมฟักผมตั้งแต่ชั้น ป. ๑ จนถึงชั้น ม.ศ. ๓ รวม ๑๐ ปีที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่นี้ และถือว่าเป็นแหล่งหล่อหลอมผมให้ผมก้าวมาถึงวันนี้ก็เพราะโรงเรียนแห่งนี้
ภาพของวัดท่าฬ่อที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ผมยังจำบรรยากาศที่ผมต้องเรียนหนังสือกับพระและสามเณรในช่วงหนึ่งของการเล่าเรียน ซึ่งทำให้ผมได้ซึมซับธรรมะไปโดยไม่รู้ตัว
ภาพของตลาดเก่า ๆ สองฝากทางรถไฟทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่
ภาพของแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านหน้าวัดท่าฬ่อ และภาพของคลองท่าฬ่อที่ไหลมาจากจังหวัดพิษณุโลกไหลผ่านหน้าบ้านผม และเป็นลำคลองที่ผมลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ข้างบ้าน
ภาพของสะพานดำซึ่งเป็นสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำน่านเพื่อให้วางรางรถไฟ ให้รถไฟสายเหนือวิ่งรับส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งผมยังจำได้ว่าผมจะรู้สึกขาสั่นทุกครั้งที่เดินข้ามสะพานดำแห่งนี้
ภาพสถานีรถไฟท่าฬ่อที่สวยงาม ที่ผมใช้เป็นประจำในช่วงที่ผมต้องเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพมหานครกับบ้านเกิด
นอกเหนือจากภาพเชิงโครงสร้างตามที่ผมกล่าวไปข้างต้น ภาพของความสนุกสนานของผมที่ได้เล่นกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ภาพของผมในชุดนักเรียนที่ต้องเดินเท้ากว่า ๑ กิโลเมตรไปโรงเรียน ภาพของผมที่ช่วยพ่อช่วยแม่ทำงานบ้าน ตักน้ำ เลี้ยงควาย ทำไร่ ทำนา ทำสวน และภาพอื่น ๆ อีกมากมาย ปรากฎคล้ายม้วนวิดีโอที่ฉายแบบต่อเนื่อง
ภาพเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกเสียดายที่ัมันจะค่อย ๆ สูญหายไปตามวันเวลาที่ผันผ่านไป จึงอดคิดไม่ได้ว่า ผมควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อบันทึกรากเหง้าเหล่านี้ไว้เพื่อการเรียนรู้ของคนรุ่นหลัง ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ผมมีความสุขอย่างมากที่ได้มีโอกาสกลับมายังพื้นเพเดิมอันเป็นบ้านเกิดที่หล่อเลี้ยงและหล่อหลอมผมมาในช่วงวัยเด็ก
และที่สำคัญสิ่งที่ดีใจที่สุดคงหนีไม่พ้น การได้มากราบขอพรจากคุณพ่อและเห็นพ่อในวัย ๘๖ ขวบปีเศษยังมีสุขภาพที่แข็งแรง อารมณ์ร่าเริง
ผมจึงขอขอบคุณ "ท่าฬ่อ" ตำบลที่ผมเกิดอีกคำรบหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น