วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเสริมสร้างสุขภาวะเพื่อการตายดี

๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
ความตายนับเป็นสัจจธรรมของชีวิต ที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่สามารถหลีกพ้น แต่มีคนน้อยมากที่มีการเตรียมตัวที่จะตายในสภาวะทีดี หรือ "การตายดี" เหตุเพราะความประมาท จึงขาดการเตรียมพร้อมที่จะเดินเข้าสู่ความตายที่ดี แต่ในทางตรงกันข้ามที่มีผู้คนไม่น้อยที่ได้วางแผนและเตรียมตัวเดินหน้าเข้าสู่ความตายไว้อย่างสวยงาม
คนเราแต่ละคนมีการใช้ชีวิตในขณะที่มีลมหายใจอยู่แตกต่างกัน
บางคน ใช้เวลาที่มีลมหายใจอยู่ เร่งหาเงินเพื่อนำมาสร้างความสุขแก่ตนและครอบครัวให้มากที่สุด
บางคน ใช้เวลาที่มีลมหายใจอยู่ แสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอความสุขทุกวิถีทาง ทั้งดื่ม กิน เที่ยว และเสพสุขทางกามารมณ์
บางคน ใช้เวลาที่มีลมหายใจอยู่ ประพฤติปฎิบัติและอุทิศตนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
บางคน ใช้เวลาที่มีลมหายใจอยู่ เพื่อค้นหาเส้นทางสายธรรมะโดยหวังจะมีความสุขที่แท้จริงในชีวิตตามหลักศาสนาที่ตนเองศรัทธา
เหล่านี้คือความแตกต่างกันของฐานคิดของผู้คน จึงผลักดันให้วิถีปฏิบัติของตนออกมาแตกต่างกัน
๗ องค์กร อันประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราต้องมีนโยบายสาธารณะว่าด้วยการเสริมสร้างสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต ขึ้นมาเป็นกรอบในการทำงานขององค์กร หน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกัน
ร่างแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต จึงเกิดขึ้น
ระยะเวลากว่า ๑ ปี ที่มีการประชุมปรึกษาหารือ วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำเป็นร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกนำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๖ จนได้ร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่สอง และนำมาเสนอเพื่อขอรับฟังความเห็นจากสาธารณะอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร ที่มีผู้เข้าประชุมกว่า ๔๐๐ คน
เป้าประสงค์ ๒ ประการของแผนยุทธศาสตร์ อันได้แก่ การทำให้ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีทัศนคติที่ดี มีความรู้ความเข้าใจ มีสิทธิ์และสามารถเข้าถึงและได้รับการปฏิบัติด้านการดูแลแบบประคับประคองอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการมีระบบบริการดูแลแบบประคับประคองรองรับการตายดีที่เป็นองค์รวมอย่างครอบคลุมเพียงอ มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
๓ ยุทธศาสตร์ หรือเส้นทางสู่เป้าประสงค์ข้างต้น ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เสริมสร้างความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการมีสุขภาวะในช่งท้ายของชีวิตและตายดีและการดูแลแบบประคับประคอง
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ พัฒนาและจัดระบบบริการดูแลแบบประคับประคองในช่วงท้ายของชีวิตที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ครอบคลุม เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในช่วงท้ายของชีวิตและรองรับการตายดี
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ
แม้นจะเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมไทยที่มีการหยิบเรื่องที่เกี่ยวกับ "ความตาย" มาพัฒนาเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ แต่ก็ได้รับความสนใจจากผู้ที่เข้ามาร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและร่วมแสดงความคิดเห็นที่ล้วนมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ทุกความเห็นจะถูกนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์ และนำเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ อีกครั้งหนึ่ง
ผมขอสรุปว่า นอกเหนือจากเป็นการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนแล้ว ยังเป็นการพัฒนากระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น" ที่เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
อันเป็นการพัฒนากระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะที่ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของร่วมกัน อันเป็นแบบอย่างหรือเป้าหมายที่พึงประสงค์ของการกำหนดนโยบายสาธารณะในเรื่องอื่น ๆ อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น