๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
แม้นจะมีข้อมูลยืนยันตรงกันว่า "มติคณะรัฐมนตรีหลายเรื่อง" ไม่มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนหรือ "ไม่มีผลในทางปฏิบัติ" ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ จนมีผู้บริหารหลายท่านเตือนผมว่าอย่าคาดหวังอะไรมากนักกับการผลักดันเรื่องเข้า ครม.ก็ตาม แต่ความรู้สึกของผมเห็นว่า อย่างน้อยการมีมติ ครม. คือการยอมรับของฝ่ายบริหารต่อเรื่องนั้น ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น
ฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมจึงรู้สึกดีใจและมีความสุขที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖) รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความเห็นชอบต่องานที่ผมมีส่วนร่วมในการผลักดันคนหนึ่ง
เรื่องที่ผมกำลังกล่าวถึงคือ "นโยบายว่าด้วยการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน" ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" อันเป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
ระยะเวลาเกือบ ๒ ปี ที่ใช้ไป จนวันนี้รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายสาธารณะของสังคม จึงเป็นห้วงเวลาอันมีค่ายิ่ง เป็นห้วงเวลาที่คนทำงานได้ลงทุนลงแรงอันแสนเหนื่อยเหน็ด จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของการทำงานตามช่องทางใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแห่งนี้
เราค่อย ๆ มาลำดับเหตุการณ์กันครับ
จุดเริ่มต้น เมื่อ "ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งปรพเทศไทย" ได้เสนอเรื่องต่อ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ หรือ คจ.สช. ซึ่งในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ คจ.สช.ได้มีประกาศกำหนด ๑๑ ประเด็นเชิงนโยบาย เป็นร่างระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ซึ่งมีเรื่อง "การเดินและการใช้จักรยาน" เป็น ๑ ใน ๑๑
เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ในเดือน มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการพัฒนาร่างข้อเสนอเสนอเชิงรนโยบาย โดยมี ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธาน มีผู้แทนจาก ๓ ภาคส่วนร่วมเป็นคณะทำงาน เป็นกลไกในการยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย
ในระหว่างวันที่ ๑ กันยายน - ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ มีการจัดเวทีรับฟังความคิอดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยการจัดเวทีทั้งระดับชาติและเวทีภูมิภาค เพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
วันที่ ๑๘ - ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ นำร่างข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมไบเทคบางนา โดยมี ๒๓๔ กลุ่มเครือข่าย จาก ๓ ภาคส่วน (ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน)ร่วมพิจารณา และได้มีฉันทามติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายรี้ร่วมกันในที่สุด
วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๖ ได้นำเสนอเรืองต่อที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง คสช. รับทราบและมอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) นำไปพิจารณากำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมติ
เพื่อให้เป็นไปตามมติของ สช. ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ คมส. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้
วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ มีการนำเสนอเรื่องนี้เสนอต่อ คสช. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง คสช. ได้พิจารณาเห็นชอบให้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี
แ
และในที่สุด คือวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมตินี้
หากนับระยะเวลาทั้งสิ้นที่ใช้ไปต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะจากจุดเริ่มต้นเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๕ จนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ ก็ใช้เวลาไปทั้งสิ้น ๑๘ เดือน ซึ่งนับว่าใช้เวลาค่อนข้างมาก ทังนี้ก็เพราะการดำเนินการที่ยึดหลักการ "การมีส่วนร่วม" เป็นกรอบในการทำงานที่สำคัญ
ที่นี้เราลองมาดูสิว่าสาระสำคัญของนโยบายในเรื่องนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งพอสรุปได้ว่า
ต้องการให้มีการทำแผนยุทธศาสตร์เป็นแผนแบบบูรณาการและดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
มีข้อเสนอในเชิงมาตรการที่หลายหลาย อาทิ
เสนอให้มีการเชื่อมต่อเส้นทางการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะ
การให้ความรู้ต่อผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน
การปรับปรุงกฎกระทรวงตาม พรบ.ควบคุมอาคาร ให้มีการจัดที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ
กำหนดให้ทุกจังหวัดและ อปท. ทุกแห่งมีการสนับสนุนนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรม
ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง
รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้การเดินและจักรยานในการเดินทาง
ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้จักรยาน
กำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายนี้
พัฒนาองค์ความรู้ และถอดบทเรียนพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ
เหล่านี้คือสาระสำคัญที่จะไปหนุนเสริมให้มีการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมเกริ่นไว้แต่ต้นว่า การมีมติ ครม. ไม่ใช้เครื่องรับประกันว่านโยบายนั้นจะสำเร็จ ยังมีความท้าทายต่อทุกภาคส่วนที่ต้องหันมาร่วมมือกันทำงานอย่างแข็งขัน
ดังสุภาษิตในวงการนโยบายสาธารณะกล่าวไว้นานแล้วว่า "การได้มาซึ่งนโยบายนั้นแสนยาก แต่การนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลนั้นยากกว่า"
ผมจึงขอเชิญชวนสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ได้มาให้ฉันทามติร่วมกันในวันนั้น นำสิ่งที่ท่านได้เห็นชอบไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลในองค์กร หน่วยงาน และพื้นที่ของท่าน แล้ววันนั้นความเชื่อต่อมติ ครม. ที่ไม่มีน้ำยาก็จะหมดไปครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น