วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ข้อเสนอที่น่าคิดจากกลุ่มนักศึกษาสายสุขภาพ

๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
วิกฤตความขัดแย้งอันมีมูลเหตุมาจากการลักหลับคนไทยด้วยการใช้ สส.พวกมากลากไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เหมาโหล หรือยกเข่งในเช้าตรู่ของวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นำมาซึ่งข้อเสนอทางออกของปัญหามากมาย วันนี้เราลองมาฟังข้อเสนอที่น่าคิดจากกลุ่มนักศึกษาสายสุขภาพวัยกระเตาะจากจังหวัดนครราชสีมากันครับ
ผมใช้โอกาสที่มีนักศึกษาจากคณะสาธารณสุขศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ วิทยาลัยนครราชสีมา เดินทางมาดูงานที่องค์กรผมทำงาน ในเรื่อง การพัฒนาระบบสุขภาพ ในวันนี้ ลองตั้งโจทย์ให้น้องนักศึกษาสตรีล้วนที่กำลังเรียนอยู่ปี ๒ และปี ๔ กว่า ๔๐ คน ช่วยกันขบคิด
โจทย์ที่ผมตั้งขึ้น คือ "จะแก้ไขปัญหา พรบ.นิรโทษกรรม ตามหลักการของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้อย่างไร"
ผมเน้นย้ำนะครับว่า น้องนักศึกษากลุ่มนี้ล้วนอยู่ในวันที่เรียกว่า "วัยรุ่น" น้อง ๆ แต่ละคนช่วยกันเสนอความคิดเห็นคนละนิดละหน่อย โดยผมทำหน้าที่จดข้อเสนอเหล่านั้นบนกระดานไวท์บอร์ด ข้อเสนอที่เป็นบทสรุปทำให้ผมรู้สึกทึ่งและรู้สึกเสียดายหากผมปล่อยทิ้งไปเฉย ๆ
ผมจึงขอนำข้อเสนอของน้อง ๆ นักศึกษา มาบันทึกและเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งผมคิดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยเราได้ไม่น้อย
เรามาดูข้อเสนอเหล่านั้น ซึ่งมี ๔ ข้อ กันครับ
หนึ่ง ต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายเชื่อมั่น
สอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งที่ไปที่มาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย และที่สำคัญต้องมีการเปิดเผยผลการศึกษานั้นต่อสาธารณะในวงกว้างด้วย
สาม ต้องคุยกัน โดยมีการเชื่อมโยงผู้คนต่าง ๆ ให้เข้ามาคุยกันอย่างเท่าเทียมกัน
สี่ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฟากฝ่ายในสังคมอย่างทั่วถึง
ชัดเจนไหมครับสำหรับบทสรุปที่น้อง ๆ กลุ่มนี้เสนอ ซึ่งส่วนตัวผมอดภูมิใจต่อความคิดความอ่านที่แหลมคมของอนาคตของชาติกลุ่มนี้จริง ๆ
หากเรานำข้อเสนอสี่ข้อมาใช้เป็นกรอบการแก้ปัญหา เราสามารถทำได้โดย
เราควรจะร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่จะร่วมมือกันแก้ไขให้ชัดเจน กำหนดเป็นธงปักไว้เป็นหลักหมุดที่ทุกคนยึดถือทุกคนเชื่อมั่น
หลักจากเราได้ปักธงเป้าหมายแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยอย่างรอบด้านต่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธงอันเป็นเป้าหมายนั้น และมีการเปิดเผยข้อค้นพบต่าง ๆ ต่อสาธารณะอย่างกว้าง
สิ่งที่ต้องทำอีกสองอย่างคือ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งตั้งวงคุยกัน ปรึกษาหารือกัน และหาข้อสรุปร่วมกัน
ผมคิดว่าข้อเสนอที่น้อง ๆ ได้เสนอมาทั้งสี่ข้อข้างต้นนั้น ไม่ใช่แค่เพียงทางออกต่อโจทย์ที่ผมตั้งเท่านั้น แต่ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ของกลไกรัฐทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบล จนถึงระดับชาติ
เพราสี่ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับกุศล ๓ ประการ ของนโยบายสาธารณะที่ดี ที่นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เคยสรุปไว้ ซึ่งได้แก่
กุศลทางปัญญา ซึ่งก็คือ การใช้ความรู้เป็นฐานการกำหนดนโยบาย
กุศลทางสังคม นั่นก็คือ การเปิดโอกาสให้สังคมได้เข้ามาร่วมกำหนด ร่วมคิด ร่วมพัฒนา และ
กุศลทางศีลธรรม นั่นก็คือ เป้าหมายของนโยบายต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ตกอยู่ในเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ขอบคุณน้อง ๆ นักศึกษาจากวิทยาลัยนครราชสีมากลุ่มนี้อีกครั้งหนึ่ง และขออนุญาตน้อง ๆ เผยแพร่ข้อเสนอที่น้อง ๆ ได้ช่วยกันคิดนี้ต่อสาธารณะ ทั้งนี้เพียงหวังว่าจะมีการสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการออกกฎหมาย พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับปัญหานี้ด้วย
ลองนำความคิดของน้อง ๆ นี้ไปคิดดูนะครับท่านผู้มีอำนาจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น