วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปฎิรูปประเทศไทย : ขอแจมด้วยคน

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เห็นเขากำลังคุยกันเรื่อง "ปฏิรูป" ไม่ว่าจะเป็น "ปฎิรูปประเทศไทย" "ปฏิรูปการเมือง" และอีกสารพัด "ปฏิรูป" ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวง "ปฏิรูปสุขภาพ" เลยขอแจมความคิดความเห็นในเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย" กับเขาบ้าง โดยไม่ได้คิดหรือคาดหวังอะไรมากมาย แค่เพียงบอกเล่าว่าตนเองคิดอย่างไรก็เรื่องนี้ก็เพียงพอแล้ว
หากเราไปเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แล้วค้นหาความหมายของคำว่า "ปฏิรูป" จะพบความหมายว่า "สมควร" หรือ "เหมาะสม" ฉะนั้น ถ้าเราพูดถึง "ปฏิรูปประเทศไทย" ก็หมายความว่า "ปรับปรุงประเทศเราให้เหมาะสม" ประมาณนี้้
ไทยเรามีการปฏิรูปประเทศมาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดที่ผมได้ยินก็คือ การปฏิรูปประเทศในยุคของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในช่วงปี ๒๕๕๓ อันเป็นผลพวงจากการชุมนุมของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า "เสื้อแดง" ที่นำประเด็นสำคัญของสังคมมาเสนอ คือ "ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทางสังคม"
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ถึงกับออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป เมื่อปี ๒๕๕๓ แต่งตั้งกลไกหลัก ๒ กลไก คือ คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรการสมัชชาปฏิรูป เป็นกลไกคู่ทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อ "สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ" และจัดตั้งกลไกเลขานุการขึ้น คือ "สำนักงานปฏิรูป"
กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งที่ขบวนนี้ได้ดำเนินการนั่นก็คือ การจัด "สมัชชาปฏิรูป" ซึ่งผมมีโอกาสไปร่วมสมัชชาปฏิรูปทั้ง ๓ ปี ได้พบได้เห็น ข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ นำไปพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ ชายฝั่งทะเล สื่อ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและอีกมากมาย
ท่ามกลางข้อเสนอที่หลากหลายนั้น ผมลองไล่เลียงดู พบมติหนึ่งที่น่าสนใจ ยังทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
มติที่ผมกำลังกล่าวถึงก็คือ มติเมื่อปี ๒๕๕๕ ในเรื่อง การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเข้มแข็งของพลเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศไทย
ในมตินี้มีข้อเสนอที่สำคัญก็คือ การเพิ่มอำนาจและบทบาทหน้าที่ให้ประชาชน ต้องมีการถ่ายโอนอำนาจจากหน่วยงานรัฐไปยังชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองได้ โดยไม่ละเลยต่อการเสริมสร้างเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชน
ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นไปตามหลักการข้างต้น ที่สำคัญและถือเป็นหัวใจของมตินี้ก็คือ
ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น สิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรท้องถิ่น รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการกำหดนโยบายสาธารณะในระดับชาติและท้องถิ่น
มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่ทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและร่วมทำงานกับท้องถิ่น
มีการสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและองค์กรชุมชนให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองที่ดี และสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในพื้นที่
ข้อเสนอเหล่านี้ถ้าหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าเป็นข้อเสนอที่สอดรับกับการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจไปยังชุมชนท้องถิ่น ที่มีเป้าหมายไปสู่ "พื้นที่จัดการตนเอง" นั่นเอง
ซึงผมค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเราบริหารประเทศโดยรัฐบาลกลาง โดยละเลยหรือให้ความสำคัญน้อยมากกับการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น
ผมจำได้ว่า นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เคยกล่าวไว้นานในทำนองที่ว่า "ประเทศไทยเราสร้างเจดีย์จากยอดไปหาฐาน" ซึ่งผมเข้าใจว่าท่านหมายถึงการคิดว่าส่วนกลางต้องเป็นใหญ่ นโยบายสาธารณะต่าง ๆ จึงต้องมาจากรัฐบาลกลาง ปัญหาจึงเป็นเช่นทุกวันนี้ ฉะนั้น ทางออกที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ กลับมาให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพลังพลเมืองให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอันเป็นฐานรากของเจดีย์ให้เข้มแข็ง เพราะเมื่อฐานเจดีย์เข้มแข็ง ตัวองค์และยอดเจดีย์ก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย
นี่แหละคือสิ่งที่ผมขอแจม ต่อข้อเสนอเพื่อ "การปฎิรูปประเทศ" ที่หลายฝ่ายกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้
จึงขอเรียกร้องไปยังทุกท่านว่า ลองชายตากลับมองไปมองทุนที่สมัชชาปฏิรุปได้ผลิตไว้บ้าง ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ เพราะจะเสียเวลา
ประเทศไทยเราไม่มีเวลามากพอสำหรับการเริ่มต้นใหม่เพื่อ "การปฏิรูปประเทศไทย" อีกแล้ว พี่น้องเอ๋ย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น