๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
พลังของมวลชนที่ออกมารวมตัวกันตามจุดชุมนุมต่าง ๆ เพื่อคัดค้านต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในช่วง ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา หากเรามองในเชิงวิชาการ ละทิ้งความคิดเห็นในเชิงสาระลงบ้าง เราจะเห็นว่าประเทศไทยเราเป็นประเทศประชาธิปไตยที่น่าอยู่ที่สุดประเทศหนึ่ง ทำไมผมกล่าวเช่นนั้น ลองอ่านตามผมไปครับ
วันนี้เป็นวันหยุด ก็เลยนอนอยู่บ้าน คอยติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวสารการบ้านการเมืองทางทีวีดาวเทียมช่องต่าง ๆ ซึ่งต้องบอกว่าแต่ละช่องแต่ละค่าย ต่างระดมขุนพลออกมานำเสนอข้อมูล ความคิดความเห็นที่มุ่งโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเมามัน
ในส่วนตัวของผมรู้สึกสงสารผู้ฟัง เพระถ้าฟังโดยไม่ได้ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ก็จะทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกหลงไปกับสิ่งที่ได้ยิยได้ฟัง ทำให้เกิด "ความเกลียด" ต่อคนของอีกฝากหนึ่งได้
ระหว่างที่ผมเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใจจดใจจ่อ ก็หยิบงานวิชาการเล่มหนึ่งมาอ่าน พบเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมาก และเป็นเรื่องราวที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดในบ้านในเมืองไทยเราพอดิบพอดี
เรื่องที่ผมกำลังพูดถึง เป็นเรื่องของ "การอภิบาลระบบ"
หากผมเอ่ยคำว่า "การอภิบาล" ขึ้นมาลอย ๆ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดอาการงงงวยเป็นแน่แท้ แต่ถ้าผมเปลี่ยนเป็นคำว่า "ธรรมาภิบาล" ผมคิดว่าจะมีคนรู้จักมากขึ้น แท้จริงแล้ว คำทั้งสองคำนี้มาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกัน นั่นก็คือคำว่า "Governance" และจากคำภาษาอังกฤษคำเดียวนี้ นักวิชาการไทยได้นำมากำหนดเป็นคำในภาษาไทยอีกหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการปกครองที่ดี การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ผมหยิบเรื่องนี้มาจากงานวิจัยในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ของระบบการอภิบาลสุขภาพ ของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส.
งานวิจัยเล่มนี้บอกไว้ว่า การอภิบาล หรือ Governance หมายถึง "การใช้อำนาจร่วมกันของกลไกและหน่วยงานต่าง ๆ ในการกำกับทิศทางการตัดสินใจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง"
ประเทศไทยเราเริ่มนำเรื่องนี้มาใช้ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐ เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มองว่าวิกฤตเศรษฐกิจของไทยเราว่าเกิดจาก “การอภิบาลที่ไม่ดี” ดังนั้นจึงกำหนดเงื่อนไขที่มากับเงินกู้ให้รัฐบาลไทยต้องรับเอาแนวทาง “การอภิบาลที่ดี” (good governance)มาดำเนินการ
ตัวแบบในอุดมคติของการอภิบาล มี ๓ รูปแบบ คือ
รูปแบบแรกคือการอภิบาลในแนวทางของตลาด หรือทุน
รูปแบบที่สองคือการอภิบาลโดยรัฐ
รูปแบบสุดท้ายคือการอภิบาลแบบเครือข่าย หรือแบบชุมชน หรือสังคม
ในแต่ละประเทศจะมีการผสมผสานกลไกอภิบาลทั้งสามในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ประเทศที่มีกลไกรัฐเป็นกลไกหลักในการอภิบาลระบบ รูปแบบการจัดการก็จะออกมาในรูปของรัฐเป็นใหญ่ ประเทศที่มีอำนาจทุนเป็นกลไกหลัก ทุกอย่างก็จะดำเนินไปด้วยการตอบสนองความต้องการของอำนาจทุนนั้น แต่หากประเทศใดที่มีเครือข่าย หรือชุมชนเป็นกลไกที่เข้มแข็ง ประเทศนั้นก็จะให้ความสำคัญกับพลังของกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
ประเทศไทยมีกลไกอภิบาลทั้ง ๓ ระบบ ผมขอชี้ตรง ๆ ว่า ในยุคเริ่มต้นของรัฐบาลยุคปัจจุบันนี้กลไกที่มีอำนาจในการบริหารประเทศคือกลไกรัฐ แต่เมื่อบริหารประเทศไปเกิดความคิดว่าตนเองเป็นใหญ่ คิดจะทำอะไรก็ได้ จึงขาดการอภิบาลที่ดี เหตุการณ์ค่อย ๆ สะสมไปตามวันเวลาที่ผ่านไป จนถึงจุดขีดสุด กลไกที่เหลือคือกลไกทุนและกลไกของมวลชนหรือกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจึงออกมาอภิบาลระบบ คัดค้านการจัดการปกครองที่ไม่ดีที่กลไกรัฐกระทำไว้ ดังตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับการออกมาคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในทุกวันนี้
ผมเขียนมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าคุณน่าจะเริ่มรู้สึกเหมือนผมที่รู้สึกรักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันประเทศไทยเรามีกลไกอภิบาลระบบทั้ง ๓ คอยตรวจสอบและเคลื่อนไหว เพื่อทำให้การอภิบาลที่ไม่ดี กลับคืนสู่การอภิบาลระบบที่ดี
ฉะนั้น เราอย่าไปหงุดหงิดกับการที่มีมหามวลชนมารวมตัวกันคัดค้านสิ่งที่กลไกรัฐกระทำไปบนพื้นฐานของการอภิบาลระบบที่ไม่ดี แต่ในทางตรงกันข้ามเราน่าจะดีใจกับการเกิดขึ้นของขบวนของกลุ่มคน และกลุ่มเครือข่ายที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหลากหลายและกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ เพราะกลไกนี้กำลังทำหน้าที่อภิบาลระบบหรืออภิบาลประเทศไทยเราให้เป็นประเทศที่ยึดมั่นต่อหลักนิติรัฐ และนิติธรรมต่างหาก
แล้วแบบนี้ประเทศไทยเรายังไม่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่น่าอยู่ที่สุดอีกหรือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น