วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บันไดขั้นแรกสู่เส้นทางปฏิรูปประเทศไทย

๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ภายในห้องสี่เหลี่ยมของตึกที่ทำงานแห่งหนึ่งในย่านจังหวัดนนทบุรี หากมองไปที่นาฬิกาที่แขวนไว้ที่มุมหนึ่งของห้องประชุม มันบอกว่าเวลานั้นจะถึง ๖ โมงเย็นอีก ๕ นาที ซึ่งตามปกติห้องประชุมห้องนี้คงปิดเงียบ แต่วันนี้กลับตรงกันข้ามเพราะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งราว ๒๐ ชีวิต ได้นัดหมายมาเจอกัน คนกลุ่มนี้มาทำอะไรกัน ต้องเป็นเรื่องสำคัญเป็นแน่ จึงต้องใช้เย็นวันศุกร์สุดสัปดาห์นี้มาพบปะกัน
ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพูดคุยกับผู้คนที่มาจากหลากหลายที่ ผมมองไล่เลียงไปตามลำดับล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
เรื่องที่คนกลุ่มนี้คุยกันเป็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเกิดวิกฤตอยู่ในขณะนี้ แต่ละคนมาแบ่งปันมุมมองต่อเหตุการณืที่เกิดขึ้นแก่กัน
บางท่านวิเคราะห์ว่านี้คือผลที่ตอบสนองอันสาสมของความมั่นอกมั่นใจต่อเสียงข้างมากของรัฐบาล ที่คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ และดูถูกเสียงของประชาชน
บางท่านวิเคราะห์ว่านี่คือเกมทางการเมืองของพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายที่ต่างต้องการดึงเสียงให้มาสนับสนุนพรรคตน
บางคนวิเคราะห์ให้เห็นว่านี่คือพลังของมวลชนที่เปรียบเสมือนน้ำที่เคยนิ่งอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งได้ก่อตัวเป็นคลื่นใหญ่กระแทกโขดหินอย่างมีพลัง
บางคนวิเคราะห์ว่านี่คือวงจรที่หมุนวนซ้ำไปซ้ำมาที่ประเทศไทยเราไม่สามารถจะก้าวพ้นไปสู่วงจรใหม่่ได้
แล้วจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ทุกคนในกลุ่มเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องก้าวให้พ้นวงจรเก่า ๆ โดยการ "ปฏิรูปประเทศไทย" อีกคำรบหนึ่ง
ผู้เข้าร่วมเวทีท่านหนึ่งกล่าวเสริมเพื่อเติมเต็มว่า "การปฏิรูปคือการเปลี่ยนดุลแห่งกำลัง"
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมเวทีอีกท่านหนึ่งกล่าวอย่างหนักแน่นว่า การเปลี่ยนดุลกำลังนั้นต้องก้าวไปสู่ความหวังใหม่ (New Hope)ร่วมกัน
ผู้เข้าร่วมเวทีหลายคนได้ชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปประเทศไทยที่ทำในช่วง ๓ ปีก่อนหน้านี้ ที่มีการนำกระบวนการ "สมัชชาปฏิรูป" มาใช้ถือเป็นต้นทุนอันมีค่า เพราะได้เกิดเครือข่ายการทำงานในหลายประเด็นและในหลายพื้นที่ หลายเรื่องมีการวิเคราะห์วิจัยและจัดทำเป็นข้อเสนอไว้อย่างดี
เมื่อเป้าหมายสุดท้ายชัดเจน ผู้ร่วมวงต่างเสนอหนทางการปฏิรูปประเทศไทยที่นาสนใจ คือ
หนึ่ง ต้องให้ความสำคัญกับการเสริมพลังของกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ ให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะ มีใจร่วมเฉกเช่นใจของมหามวลชนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
สอง ต้องมีประเด็นการขับเคลื่อนเพื่อเดินสู่เป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยที่ชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ โดยควรหยิบประเด็นที่กินได้ เป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตมาเป็นประเด็นร่วมในการขับเคลื่อน
สาม ต้องยึดหลักการขยายวงไม่กีดกันฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกจากวง ไม่เลือกสีไม่เลือกข้าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และ
สี่ ต้องมีการตั้งวงคุยกันอย่างต่อเนื่อง หลากหลายและกระจายทุกพื้นที่ ใช้การประชุมปรึกษาหารือแบบสุนทรียสนทนาเป็นเครื่องมือ
อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงสะกิดเตือนจากผู้อาวุโสในวงสนทนาท่านหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "การพูดคุยในหมู่พวกเดียวกัน นั้นอันตราย" และ "การยึดโยงกับผู้ใดผู้หนึ่งแต่เพียงคนเดียว ก็อันตราย"
หากเราคิดตามบทสรุปที่ผู้คนกลุ่มนี้คุยกันข้างต้น อาจจะเห็นว่ามันคล้ายภาพฝันที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมยิ่งนัก แต่ผมคิดว่าการจะก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นที่สิบย่อมต้องก้าวจากบันไดขั้นแรกเสมอ
บทสรุปเหล่านี้น่าจะเป็นกรอบคิดในเชิงกระบวนการที่ท้าทายต่อนักเคลื่อนไหวสังคมที่มีอุดมการณ์ฝังอยู่ในจิตใจที่จะนำไปออกแบบการทำงานตามบทบาทที่แต่ละคนมี
เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีปัญหาที่สลับซับซ้อนเชื่อมโยงกันอย่างหลากหลาย เราคงไม่สามารถจะแก้ปัญหาอันสลับซับซ้อนนั้นได้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น เรื่องเหล่านี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรวมพลังที่หลากหลาย ใช้เวลา อันมีเป้าหมายสู่ความหวังใหม่ที่จะนำพาประเทศไทยเราธำรงอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน
ระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ ภายในห้องที่เย็นสบายด้วยเครื่องปรับอากาศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้คนที่เห็นประโยชน์สาธารณะได้ใช้เวลามาคุยกัน
ทุกคนต่างร่ำลากันด้วยรอยยิ้มเต็มไปด้วยมิตรไมตรี ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน
แต่มีบางคนเดินทางมุ่งหน้าไปยังเวทีประชาชนราชดำเนินเพื่อเดินตามใจของตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น