วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มารู้จักแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกันเถอะ

๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
หากผมถามคนไทยว่า มีใครรู้จักโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาทบ้าง ผมเชื่อว่า คนไทยจะรู้จักโครงการนี้มากกว่า ๗๐ % แต่ถ้าผมถามใหม่ว่า ใครรู้จักแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบ้าง ผมเชื่อว่าจำนวนคนที่รู้จักจะลดลงมากกว่าครึ่ง และหากถามต่อไปอีกว่าแผนแม่บทนั้นมีรายละเอียดว่าอย่างไร ผมเชื่อขนมกินได้เลยว่า มีคนที่สามารถอธิบายได้ไม่เกินหลักแสนคน
ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะรัฐบาลกำลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีจึงต้องรู้ถึงข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่จะไปแสดงความคิดเห็น
พอดีผมมีโอกาสไปร่วมเวทีที่จัดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ในวันนี้มา ได้เอกสารมาชุดหนึ่งมี ๑๑ เล่ม แต่ละเล่มได้อธิบายให้เห็นเหตุผลความจำเป็น รายละเอียดสิ่งที่จะก่อสร้าง ผลที่คาดว่าจะได้รับไว้พอสมควร
ผมจึงขออนุญาตสรุปในสาระสำคัญของแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อสำหรับผู้สนใจ ผมขอเน้นนะครับว่าเบื้องต้น เพราะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกเยอะมากหากท่านต้องการรู้อย่างแท้จริง ซึ่งผมสารภาพจริง ๆ ว่า ผมไม่มีข้อมูลนั้น
เอาล่ะ มาเข้าเรื่องกันดีกว่า
เหตุผลสำคัญที่เขียนไว้ตอนต้นของแผนแม่บทก็คือ ต้องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะที่เกิดในปี ๒๕๕๔
หลักยึดสำคัญที่ยกมาคือการน้อมนำหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนตามกระแสพระราชดำริ ๗ ประการ อันประกอบด้วย (๑) การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา (๒) ความสัมพันธ์ระหว่างป่า ดินและน้ำ (๓) ภูมิสังคม (๔) การรักษาความมั่นคงทางน้ำ (๕) น้ำต้องมีที่อยู่ (๖) การระบายน้ำและการเก็บกักน้ำต้องประสานกัน และ (๗) การพัฒนาบนพื้นฐานเดิมที่มีอยู่
สาระสำคัญของโครงการในภาพรวมมีทั้งหมด ๙ แผนงาน หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ๙ โมดูล จำแนกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ ๑ เป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีทั้งหมด ๕ โมดูล คือ
โมดูล A๑ เป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรังและป่าสัก จำนวน ๑๘ แห่ง มูลค่ากว่า ๔.๘๕ หมื่นล้านบาท
โมดูล A๒ เป็นการจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ท่าจีน ป่าสักและเจ้าพระยา มูลค่ากว่า ๒.๔๙ หมื่นล้านบาท
โมดูล A๓ เป็นการปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัยและนครสวรรค์ โดยการสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำหลากชั่วคราว หรือ แก้มลิง ใน ๓๗ พื้นที่ มูลค่ากว่า ๙.๘ พันล้านบาท
โมดูล A๔ เป็นการปรับปรุงขยายลำน้ำสายหลัก ขุดคลองป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ที่แม่น้ำพิจิตร คลองหกบาท คลองผันน้ำยาม-น่าน จังหวัดสุโขทัย รวมทั้งการขุดคลองสายใหม่ช่วงคอขวดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากอำเภอบางบาลถึงอำเภอบางไทร รวมถึงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม น่าน เจ้าพระยา มูลค่ากว่า ๑.๖๗ หมื่นล้านบาท
โมดูล A๕ จัดทำคลองผันน้ำด้านฝั่งตะวันตก มูลค่ากว่า ๑.๕๐ แสนล้านบาท
กลุ่มที่ ๒ เป็นโครงการใน ๑๗ ลุ่มน้ำ (นอกเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา) มี ๓ โมดูล คือ
โมดูล B๑ เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ จำนวน ๓ แห่ง มูลค่ากว่า ๑.๑๖ หมื่นล้านบาท
โมดูล B๒ เป็นการจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานในพื้นที่ ๔๗ จังหวัด มูลค่ากว่า ๑.๓๖ หมื่นล้านบาท
โมดูล B๓ เป็นการปรับปรุงสภาพแม่น้ำสายหลัก และป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ โดยการปรับปรุงคลอง ร.๑ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มูลค่ากว่า ๔.๙ พันล้านบาท
สุดท้ายคือโมดูล A๖B๔ เป็นโครงการติดตั้ง Single Command Center และการจัดทำระบบคลังข้อมูลในกาพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ มูลค่ากว่า ๓.๙ พันล้านบาท
ก็ดูเอาเองนะครับว่าโมดูลไหนมีมูลค่าลงทุนสูงสุด ต่ำสุด
ผมขอเรียนอีกครั้งว่า นี่เป็นข้อมูลพื้นฐานนะครับ หากท่านต้องการทราบว่ามีแผนงานลงไปที่จังหวัดท่านไหม ต้องหาข้อมูลเพิ่มครับ
ก่อนจบ ผมมีคำถามเล่น ๆ ท้ายเรื่อง ว่า "โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์อยู่ในโมดูลไหน"
หากคุณตอบว่า "โมดูล A๑" แสดงว่าคุณเก่งมาก คุณเป็นคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวนี้มาโดยตลอด
สำหรับผมกว่าจะรู้คำตอบที่ถูกต้อง ผมหาคำว่า "เขื่อน" แทบแย่ แต่ก็ไม่พบ เพราะในแผนแม่บทนี้เขาไม่รียก "เขื่อน" กัน เขาเรียกว่า "อ่างเก็บน้ำ" ต่างหาก
ฮาไหมล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น