วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เรียนรู้ประชาธิปไตยจากกฎหมายนิรโทษกรรม

๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
คาดไม่ถึงจริง ๆ ครับ กับข่าวยามเช้าตรู่ว่า สภาผู้แทนราษฎรไทยได้มีมติผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ๓ วาระ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตอนตีสี่ครึ่ง
ที่คาดไม่ถึงก็เพราะ ตอนที่ผมปิดทีวีเข้านอนก็ปาเข้าไปตีหนึ่งแล้ว ภาพที่ถูกนำเสนอผ่านทางโทรทัศน์ TPBS ยังเป็นการถ่ายทอดสดของการอภิปรายในวาระที่ ๒ และยังอยู่ในมาตรา ที่ ๒ อยู่เลย
และที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายค้าน มี สส.ลงชื่อขอแปรญัตติเป็นร้อยคน แล้วมันจะผ่านไปได้อย่างไร (ว่ะ)
ตรวจสอบข่าวทั้งจากทีวี ตรวจสอบทางอินเตอร์เน็ต เช็คจากเฟสบุ๊ค ทุกแหล่งยืนยันว่าเป็นความจริงครับ
หลังผมปิดทีวี เป็นช่วงของการอภิปรายในมาตรา ๓ อภิปรายไปได้ ๓ คน พรรคฝ่ายรัฐบาลก็เสนอปิดการประชุม แล้วก็โหวต สร้างความไม่พอใจให้กับพรรคฝ่ายค้านและวอล์คเอ้าท์ออกจากห้องประชุม เมื่อไม่มีพรรคฝ่ายค้านก็น่าจะหยุด แต่ปรากฎว่าว่าประธานสภาสั่งเดินหน้าต่อจนมาลงมติในวาระ ๓ ตอนก่อนตะวันขึ้นเพียงเล็กน้อย
หากถามผมว่า คิดอย่างไรกับกระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้
ผมจะตอบว่า
ผมคิดว่าการทำเช่นนี้ทำเพื่อล้างความผิดให้กับพ่อของมันเป็นจริง
ผมคิดว่างานนี้มีจอมบงการที่มีบารมีและมีอำนาจวางแผนอยู่เบื้องหลัง
ผมคิดว่าการกระทำแบบนี้ "เป็นการเรียกแขก" ผมมั่นใจว่า อีกไม่นานจะมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน คัดค้าน เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น
และสุดท้ายผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถประกาศออกมาใช้ได้ หรือ "ไปไม่รอด "
ไม่รอดทั้งเชิงสาระที่กฎหมายออกมาขัดกับเจตนารมณ์ในวาระที่ ๑
ไม่รอดในเชิงกระบวนการที่เป็นไปในลักษณะการใช้เสียง สส.ส่วนใหญ่ในลักษณะ "พวกมากลากไป"
ไม่รอดเพราะไม่สามารถทนต่อเสียงคัดค้านของสังคมที่ค่อย ๆ ขยายวงอย่างแน่นอน
เมื่อมองแบบมีสติ ผมอยากจะชี้ให้ทุกท่านเห็นว่า นี่คือ หลุมพรางหลุมใหญ่ของประชาธิปไตยของประเทศไทยเรา เป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องรีบเร่งแก้ไข แต่เป็นยากมากที่จะแก้ไข
หลุมพลางที่ว่าก็คือ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เพียงการเลือกตั้ง การมี สส. แล้วให้ สส. ไปทำอะไรต่อมิอะไรโดยอ้างว่าเป็นตัวแทนจากประชาชนแบบนี้ ไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตยที่แท้จริง และที่สำคัญหากบรรดา สส. เมื่อได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงหัวของประชาชนที่เลือกเข้าไป คิดว่าตัวเองคือคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาย่อมทำอะไรก็ได้ นี่แหละคือหลุมพรางของประชาธิปไตย
ผมคิดว่านี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นคณาธิปไตย ที่หมายถึงอำนาจอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
น่ากลัวมากครับสำหรับการปกครองในระบอบนี้
ถ้าเป็นแบบนี้เราจะมีทางออกอย่างไร มีแน่นอนครับ "ทุกปัญหามีทางออกเสมอ"
ทางออกก็ไม่ยากครับ เราต้องสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่เป็นเรื่องของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนที่แท้จริง
และผมคิดว่าเครื่องมือหนึ่งที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวนั้น นั่นก็คือเครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ" นั่นเอง
สมัชชาสุขภาพ เป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันกับคนไทยทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร รวยหรือจน เสียงใหญ่หรือเสียงเล็ก ล้วนมีความเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น
ประสบการณ์ที่ผ่านมามีหลายเรื่องมากที่สมัชชาสุขภาพเข้าไปสร้างทางออกของปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย ด้วยความรักสมัครสมานและสามัคคี
เรามาเปลี่ยนวิกฤติหลุมพลางประชาธิปไตยที่เป็น "ประชาธิปไตยแบบตัวแทน" มาเป็น "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" ด้วยการนำหลักการของกระบวนการสมัชชาสุขภาพไปใช้กันเถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น