วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คนพิจิตรคัดค้านโครงการ ๓.๕ แสนล้านบาท

๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
จะทิ้งไปก็เสียดาย เลยขอบันทึกและนำเสนอต่อสาธารณะเพื่อให้รู้ว่า คนพิจิตรเขามีความคิดความเห็นต่อแผนแม่บทการจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า "โครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท" ที่ผมมีโอกาสไปร่วมเวทีที่รัฐบาลเขาจัดขึ้นที่สนามกีฬาจังหวัดพิจิตร เมื่อวานนี้ (วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖)อย่างไร
ข้อมูลที่ผมนำเสนอนี้สกัดในสารพสำคัญจากผู้นำเสนอในช่วงก่อนพักเที่ยง ก่อนจะแยกย้ายกันไปรับประทานอาหารกลางวัน โดยผมขออนุญาติสงวนนามผู้เสนอความคิดเห็นไว้ ลองอ่านดูนะครับ
คนที่หนึ่ง :มีความเป็นห่วงต่อโครงการขุดลอกแม่น้ำสายพิจิตรสายเก่า โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ตั้งรกรากในเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ รัฐจะช่วยเหลือเขาอย่างไร จะให้เขาไปอยู่ที่ใด ต้องอย่าลืมว่าเขาอยู่ที่นั่นมาหลายสิบปีนะ
คนที่สอง : ในเขตพื้นที่ที่อยู่นี้เป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว จึงปรับวิถีชีวิตได้ ฉะนั้นหากจะมีโครงการอะไรลงมา ต้องลงไปถามความคิดเห็นคนในพื้นที่เสียก่อน อีกเรื่องหนึ่งก็คือ โครงการน้ำนี้รัฐมุ่งเน้นแต่จะแก้ปัญหาของคนภาคกลางและกรุงเทพฯ จึงไม่ใส่ใจกับคนที่อยู่ด้านบนเลย คนพิจิตรก็มีชีวิตนะ
คนที่สาม : ในภาพรวมเห็นด้วยกับโครงการ แต่ไม่เห็นด้วยในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน การนำเสนอก็รวบรัดตามไม่ทัน ควรมีการลงมารับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ระดับตำบลอีกครั้ง และที่สำคัญโครงการใหม่มาโครงการเก่า ๆ ที่ลงทุนไปมากมายจะเป็นอย่างไร ขอเรียกร้องให้ข้าราชการที่มาทำงานนี้คำนึงถึงหัวอกของคนพิจิตรด้วย
คนที่สี่ : ในปัจจุบันพิจิตรเป็นพื้นที่น้ำท่วมประจำอยู่แล้ว หากนำโครงการแก้มลิงลงมา จะท่วมนานขึ้นใช่ไหม เดิมทำนาได้ปีละ ๒ ครั้ง ถ้ามีโครงการนี้มาลงจะทำนาได้ปีละกี่ครั้ง
คนที่ห้า : ผมขอคัดค้านอย่างเต็มที่ โครงการนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะมาแก้ปัญหา หรือมาเพิ่มปัญหา
คนที่หก : ปัจจับันชาวนาเป็นหนี้สินอยู่กับ ธกส. จากการทำนาปังนาปี หากโครงการนี้มาลงพื้นที่ที่ถูกทำแก้มลิงเป็นเสมือนการทับถมหนี้สินของชาวนาให้เพิ่มขึ้น ขอเรียกร้องให้คนพิจิตรคิดให้ดี หากอยากเป็นลิงอยู่บนต้นไม้ก็เลือกโครงการนี้
คนที่เจ็ด : สภาพพื้นที่ของพิจิตรจะมีห้วย หนอง คลอง บึง เยอะแยะ กระจายเต็มพื้นที่ หากโครงการนี้มาลงสิ่งเหล่านี้จะเหลือไหม และที่สำคัญคนที่นี้ไม่กลัวน้ำท่วม หากท่วมเราก็หาผักหาปลากินได้ เราอยู่ขอเราได้
คนที่แปด : ในเอกสารไม่มีรายละเอียดเลย เราไม่มั่นใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถิ่นที่อยู่และสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ที่สำคัญไม่มีข้อมูลเรื่องการเวนคืนที่ดิน การชดเชยต่าง ๆ เราไม่รู้ว่าจะคุ้มไหม
คนที่เก้า : โครงการนี้ไม่ตรงประเด็น เพราะประเด็นน่าจะเป็นการบริหารนำทั้งระบบ ไม่ใช้แค่เพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียว ในการจัดเวทีควรเชิญปราชญ์ชาวบ้านที่รู้และเข้าใจเรื่องน้ำมาประชุม ไม่ใช่ใครก็ได้ เวลาที่ให้พูดก็น้อยมากแค่ ๕ นาที รัฐควรกลับไปทบทวนแนวคิด ต้องลงไปในพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน คนเข้าประชุมต้องเป็นคนรู้เรื่อง เสียดายงบประมาณ อยากให้มีการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ
คนที่สิบ : ทำกันเร่งด่วนเกินไป เราไม่มีข้อมูล พยายามหาทางอินเตอร์เน็ตก็ไม่มี การเสนอข้อมูลก็เป็นฝ่ายบริษัท ชาวบ้านพูดได้น้อย ที่สำคัญน้ำเกาหลีกับน้ำประเทศไทยมันคนละเรื่องกัน งานนี้เสมือนย้ายปัญหาจากภาคกลางมาที่พิจิตร
คนที่สิบเอ็ด : ประเทศไทยอยู่ที่ไหน คำตอบก็คือกรุงเทพฯ อะไรก็เพื่อกรุงเทพ ขอให้เห็นใจคนพิจิตรบ้าง โครงการไม่จำเป็นต้องใหญ่ อาจขุดลอกบึง หนองน้ำที่เป็นที่สาธารณะประโยชน์ก็เพียงพอ
คนที่สิบสอง : อย่ามองแค่เพียงโครงสร้างทางวิศวกรรม ควรคำนึงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิจิตรด้วย ที่ผ่านมาเรามีการถอดบทเรียนไว้ควรชวนเขามาคุย เราต้องการให้ "คนพิจิตรจัดการตนเอง" เราไม่ต้องการคนเกาหลีมาออกแบบ ผมจบปริญญาโทยังตามการนำเสนอไม่ทัน อย่ารวบรัด อาจจัดที่ละอำเภอ เชิญแกนนำที่เข้าใจมาคุยกัน
คนที่สิบสาม : ผมพยายามทำความเข้าใจต่อเนื้อหา แต่ต้องบอกว่าไม่เข้าใจ ผลกระทบที่เสนอก็ไม่ชัดเจน ผมขอคัดค้านเต็มที่
คนที่สิบสี่ : ผมยังไม่ตัดสินใจเพราะข้อมูลไม่ครบ สงสัยว่ายังไม่มีรายละเอียดโครงการแต่ได้ผู้รับจ้างแล้ว สงสัยจริง ๆ
คนที่สิบห้า : ผมขอเรียกร้องให้ชาวพิจิตรคัดคานโครงการนี้ และเสนอให้นำโครงการนี้กลับมาจัดในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง และหากมีโครงการลงมาอยากให้จัดสรรงบประมาณลงมาที่ อบจ. มอบหมายให้ อบจ. บริหารจัดการเอง คนพิจิตรเราทำได้
ผมขอสรุปแบบฟันธงเลยว่า "คนพิจิตรคัดค้านต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน" แบบเป็นเอกฉันท์ ด้วยสาเหตุที่มาจาก ขาดข้อมูลที่ชัดเจน การคัดเลือกผู้เข้าร่วมเวที ขากกระบวนการที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นที่ดี"
พอมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมคิดถึงองค์ประกอบของการจัดเวทีที่ดี ๓ ประการ อันได้แก่ สาระ กระบวนการ และบรรยากาศ ทั้งสามประการนี้จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้
แล้วอย่างนี้จะทำอะไรต่อดีล่ะ รัฐบาลเอ๋ย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น