๔ ตุลาคม ๒๕๕๖
"สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น" แม้จะเป็นสุภาษิตไทยที่มีมานาน แต่ผมว่ายังทันสมัยเสมอ เป็นคำสอนที่ผลักดันให้ผมต้องหยุดงานหนึ่งวันเพื่อเข้าร่วมเวทีีรับฟังความเห็นต่อแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท ที่รัฐบาลที่จัดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดที่ผมตั้งรกรากใช้ชีวิตมากว่า ๒๐ ปี
วันนี้ผมเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์แต่เช้าตรู่ ประตูทางเข้าถูกปิดห้ามรถเข้า ผมจึงต้องขับไปจอดที่ลานจอดรถของสถานีตำรวจภูธรซึ่งมีรถยนต์ทยอยเข้ามาจอดแน่นเต็มสนามจอด
ระยะทางราว ๑ กิโลเมตร จากที่จอดรถไปยังเป้าหมาย มีผู้คนที่มาจากที่ต่าง ๆ เดินคุยกันไปเต็มทางเดิน เป้าหมายเดียวกับผมคือห้องประชุมของมหาวิทยาลัย
บริเวณหน้าห้องประชุมมีเต้นท์กางเรียงรายอยู่หลายเต้นท์ แต่ละเต้นท์มีเจ้าหน้าที่พร้อมป้ายบอก มีชาวบ้านต่อแถวยาวเหยียดเพื่อลงทะเบียนตามป้ายที่บอกไว้
ผมเดินลัดเลาะเข้าไปยังห้องประชุม โดยไม่ต่อคิว เพราะไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าและไม่ต้องการเบิกค่าตอบแทนคนละ ๔๐๐ บาท ที่ทางผู้จัดจัดเตรียมไว้ให้
ก่อนเข้าห้องประชุม มีนิทรรศการนำเสนอแผนการจัดการน้ำที่จัดโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ผมเดินเข้าไปเดินหาข้อมูลแต่ละโมดูล ซึ่งก็แปลกใจอยู่เหมือนกันที่ไม่ค่อยมีใครเข้ามาดูทั้ง ๆ ที่ด้านนอกมีชาวบ้านมาร่วมเวทีนับพัน ๆ คน
ภายในเต้นท์นิทรรศการมีการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ แต่ละโมดูล แสดงเหตุผลว่าทำไมต้องทำ จะทำอะไรบ้าง ระยะเวลาก่อสร้างกี่ปี บางโมดูลก็มีการทำโมเดลรูปแบบการก่อสร้างออกมาให้ผู้ชมเห็นผสมกับการนำเสนอผ่านจอแอลซีดีระบบสัมผัส
แวะไปขอรับเอกสารหน้าเต้นท์ที่ทางสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำขึ้น เป็นเล่มเล็ก ๆ ๑๑ เล่ม ใส่ถุงพลาสติกสีฟ้า เพื่อขอไปศึกษา ก่อนเข้าไปในห้องประชุม หาที่นั่งได้ประมาณแถวที่ ๕ นับจากหน้าเวที พบเครือข่ายที่รู้จักเดินทางมาจากต่างจังหวัด เข้ามาทักทายกัน
เสียงพิธีกรคู่ชายหญิงประกาศเชิญชวนให้พี่น้องที่มาประชุมให้เข้าห้องประชุม พร้อมกับเชิญมานั่งในบริเวณแถวด้านหน้าที่ว่างอยู่
"วันนี้เป็นเวทีรับฟังความเห็น ไม่ใช่เวทีประชาพิจารณ์" เป็นประโยคหนึ่งที่พิธีกรประกาศย้ำแล้วย้ำอีก เป็นประโยคที่สะกิดใจและเกิดความสงสัยกับตัวผมเองอย่างมาก
เวลาประมาณ ๐๙.๑๕ น. เสียงพิธีกรกล่าวเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ ท่ามกลางผู้เข้าร่วมเวทีที่เกือบเต็มห้องประชุม และถ่ายทอดเสียงไปนอกห้องประชุมซึ่งมีชาวบ้านนั่งอยู่ภายในเต้นท์ค่อนข้างหนาตา
ประมาณ ๑๕ นาที ที่ ผวจ.นครสวรรค์กล่าว ได้ย้ำให้เห็นวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีครั้งนี้ ที่ต้องการความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากผู้เข้าร่วมเวที
วิดิทัศน์นำเสนอรายละเอียดของแผนแม่บทถูกฉายขึ้น ผ่านจอภาพหน้าเวที ขนาดไม่ใหญ่มากนัก พร้อมกับการต่อเชื่อมไปที่จอแอลซีดีที่ติดตั้งไว้ที่เสาห้องประชุม ซ้ายและขวา ข้างละ ๓ ตัว ผมพยายามนั่งฟังและจับใจความ แต่ต้องบอกว่าระบบเสียงไม่ค่อยชัดประสมกับเวลานำเสนอที่ยาวนานเกือบ ๑ ชั่วโมงเต็ม จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มจับกลุ่มคุยกันเป็นกลุ่ม ๆ
เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. เสียงพิธีกรกล่าวชี้แจงขั้นตอนการจัดเวที พร้อมกับกล่าวแนะนำวิทยากรหลัก พร้อมวิทยากรกระบวนการกลุ่มกว่า ๒๐ คน ผมจำชื่อไม่ได้แต่เสียงที่พิธีกรประกาศมีทั้ง ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ และจุด จุด จุด เต็มไปหมด ซึ่งก็คิดกับตัวเองว่า จะแนะนำไปทำไม
เวลาผ่านไปเสียงพิธีกรประกาศเรียกชื่อประชาชนที่ลงทะเบียนขอแสดงความคิดเห็นไว้ เชิญมาที่ไมโครโฟนเพื่อแสดงความคิดเห็น ตากล้องทั้งวิดีโอและกล้องถ่ายรูป ต่างวิ่งไปห้อมล้อมผู้พูดเต็มไปหมด ซึ่งถ้าเป็นผมผมคงพูดไม่ออก
ราว ๑๑.๐๐ น. ทั้งห้องประชุมต้องหันไปดูแขกผู้มาร่วมเวที ไม่ใช่ใครที่ไหน รองนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "ปลอดประสพ สุรัสวดี" ผู้รับผิดชอบหลักขอโครงการนี้เอง ท่านเดินมาพร้อมกับคณะนับสิบคน ล้อมหน้าล้อมหลัง
การนำเสนอดำเนินการต่อ ระหว่างที่กำลังเสนอความคิดเห็น จะมีทีมงานฝ่ายวิชาการของผู้จัดพยายามจดประเด็นสำคัญตามที่ตนเองจับได้ขึ้นจอตามไปด้วย
คนหนึ่งถูกกำหนดเวลาให้พูด ๕ นาที โดยมีเสียงจากระฆังเป็นสัญญาณเตือนเมื่อหมดเวลา
ในเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงในช่วงเช้ามีผู้เสนอความเห็นได้ไม่ถึง ๒๐ คน ซึ่่งส่วนใหญ่จะสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยการยกข้อมูลที่ตนเองได้รับประสบภัยมา ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วมในแต่ละปี มีเพียง ๒ เสียง เท่านั้นที่ออกมาคัดค้าน ด้วยเหตุผลการขาดรายละเอียดที่ดีพอ ขาดการมีส่วนร่วม และกระบวนการรับฟังที่ไม่เหมาะสม
พิธีกรสั่งหยุดเวทีในภาคเช้า เพื่อรับประทานอาหารกลางวันกัน โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะได้รับคูปองอาหารไปแลกซื้ออาหารของศูนย์อาหารของมหาวิทยาลัย
บ่ายโมงเศษ ผู้เข้าประชุมถูกจำแนกเข้าห้องย่อยกว่า ๑๐ ห้อง ตามสมัครใจ
ผมเลือกเข้าห้องประชุม ๑ ซึ่งเป็นห้องประชุมเดียวกับเมื่อเช้า เป็นห้องที่พิจารณาในโมดูล A๑ ที่มีโครงการเขื่อนแม่วงก์ และ A๕ ที่มีเรื่องฟลัดเวย์สายใหม่ รวมอยู่ด้วย
เสียงประธานห้องกล่าวชี้แจงถึงขั้นตอนการรับฟัง พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้เข้าประชุมกรอกแบบสอบถาม ๔ หน้า ของกระดาษเอสี่ ซึ่งผมสะกิดถามคนที่นั่งข้าง ๆ ว่า ตอบยากไหม คำตอบที่ได้คือ "ยากมาก"
ผมหันไปฟังการแสดงความคิดเห็น ประชาชนที่ลุกขึ้นพูดแสดงความคิดเห็นมีเพียง ๖ คน มาจากอำเภอลาดยาวซะ ๕ คน ทุกเสียงจึงสนับสนุนโครงการทั้ง ๒ โมดูล นั้น
ข้อความที่ออกมาก็ไม่ต่างจากเมื่อเช้า ที่เป็นลักษณะความรู้สึกที่ตนเองประสบมาในพื้นที่ ไม่มีข้อมูลเชิงรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก
ผมออกจากเวทีเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวทำงานในวันรุ่งขึ้น ตอน ๑๔.๓๐ น.
ระหว่างทางก็คิดถึงการจัดเวทีครั้งนี้มาตลอดทาง
สองคำถามใหญ่ที่ถามกับตัวเองตลอดการเดินทางก็คือ "ผู้เข้าร่วมเวทีมีความเข้าใจในเนื้อหาที่รับฟังเพียงใด" และ "กระบวนการเหล่านี้ได้ความคิดเห็นที่ดีต่อเรื่องสำคัญมากน้อยเพียงใด"
ซึ่งผมพยายามหาคำตอบมาตลอดการเดินทาง แต่ผมไม่สามารถตอบคำถามนั้นได้จริง ๆ ครับ
"สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น" คือผลที่ผมไปเรียนรู้มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น