๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
อย่าเพิ่งตกใจนะครับ ที่ผมตั้งชื่อบทความเป็นภาษาเกาหลี แล้วคิดว่าผมจะไปพูดเรื่องละครหรือดารานักร้องของเกาหลีที่กำลังฮิตในบ้านเราอยู่ในขณะนี้ แต่สิ่งที่ผมจะนำเสนอในวันนี้นั้นสำคัญมากกับแนวคิด "ปฏิรูปประเทศไทย" ที่มีข้อเสนอหนึ่งจากนักวิชาการหลายท่านให้มีการสร้าง "ชุมชนเข้มแข็ง" อันเป็นฐากรากของประเทศ
ผมขอเรียนว่าทุกประเทศก่อนจะพัฒนามาถึงทุกวันนี้ ย่อมมีประวัติศาสตร์การพัฒนามาอย่างยาวนาน การเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศที่มีความสำเร็จนับเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นบทเรียนที่สามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้กับการพัฒนาประเทศไทยเราโดยไม่ต้องไปคิดค้นใหม่
เรื่องที่ผมกำลังกล่าวถึง คือ "โครงการแซมาอึล อุนดง" ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผมสรุปมาจากเอกสารที่สถาบันชุมชนพัฒนา หรือ LDI ส่งมาให้อ่าน
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ประเทศเกาหลีใต้เพิ่งสถาปนาเป็นรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ๒๔๙๑ นี้เอง ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งในสถานการณ์ในช่วงนั้นประเทศตกต่ำถึงขีดสุด ไม่มีความมั่นคงทางสังคมและการเมือง ประชาชนก็ยากจนค้นแค้น เกียจคร้านอย่างหนัก
จวบจนปี ๒๕๐๔ ประธานาธิบดีปักจุงฮี ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ตั้งกระทรวงคณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ค้นหาแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ ในที่สุดได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ฉบับแรกขึ้น เกาหลีใต้จึงเริ่มมีความเจริญก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม เพิ่มปริมาณการส่งออก มากขึ้น จนมาถึงในช่วงแผนฉบับที่ ๓ รัฐบาลได้พัฒนา "โครงการแซมาอึล อุนดง" เป็นโครงการที่มุ่งเน้นที่การพัฒนาชนบทขึ้น
จุดกำเนิดของโครงการนี้ มาจากเหตุการณ์ในปี ๒๕๑๒ ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกว่าหมื่นเมือง มีผู้เสียชีวิตเกือยพันคน ชาวบ้านที่รอดตาย ลุกขึ้นมาซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและถนนหนทางด้วยตนเอง ปักจุงฮีไปเห็นชาวบ้านลุกขึ้นมาช่วยตนเองจึงเกิดแรงบันดาลใจและเห็นว่า "ความช่วยเหลือของรัฐบาลย่อมจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เว้นแต่ว่าประชาชนจะลงมือกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเอง"
รัฐบาลปักจุงฮี จึงได้จัดงบประมาณอันจำกัด ซื้อปูนซีเมนต์มอบให้กับ ๓๓,๒๖๗ หมู่บ้าน หมู่บ้านละ ๓๕๕ ถุง ปรากฎว่ามีหมู่บ้านเกือบครึ่งหนึ่งสามารถปรับปรุงและพัฒนาหมู่บ้านตนเองให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ดำเนินโครงการในปีที่ ๒ โดยเพิ่มการสนับสนุนปูนซีเมนต์เป็น ๕๐๐ ถุง และเหล็กเส้นอีก ๑ ตันต่อหมู่บ้าน ซึ่งทำให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ละหมู่บ้านลุกขึ้นมาพัฒนาหมู่บ้านตนเองให้ทักเทียมกับหมู่บ้านอื่น
ในปีที่ ๓ รัฐบาลได้ดำเนินการต่อ โดยได้แบ่งหมู่บ้านเป็น ๓ กลุ่ม คือ หมู่บ้านด้อยพัฒนา โครงการก็จะมุ่งเน้นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการจัดหาสาธารณูปโภค หมู่บ้านกำลังพัฒนา โครงการก็จะมุ่งเน้นที่การสร้างเสริมสาธารณูปโภคและการหารายได้ หมู่บ้านที่พัฒนาแล้ว โครงการจะเน้นที่การเพิ่มพูนรายได้และปรับปรุงสวัสดิการ
เมื่อดำเดินโครงการนี้ผ่านไป ๑๐ ปี จึงได้ปรับเป้าหมายไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เน้นการสร้างงสวัสดิการทางสังคมมอย่างเท่าเทียมกันและทั่วถึง มุ่งสู่ "สังคมสวัสดิการประชาธิปไตย"
ขั้นตอนของ "โครงการแซมาอึล อุนดง" แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นต้น เป็นขบวนการปลุกฝังความขยัน การช่วยเหลือตนเอง และสร้างความร่วมมือกันเพื่อความรู้สึกก้าวหน้าและสร้างสรรค์ของประชาชน ขั้นที่สอง เป็นการพัฒนาสังคม ซึ่งนำมาซึ่งความเปลี่ยนแลงวัฒนธรรมและปรับปรุงความเป็นอยู่สังคมให้ดีขึ้น และขั้นที่สาม เน้นการะัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มงานและรายได้
หลักการสำคัญของโครงการนี้คือ
หนึ่ง ขบวนการจะต้องดำเนินการโดยมรส่วนร่วมอย่างผสมผสานของชาวบ้านทุกคน
สอง โครงการทุกโครงการจะต้องได้รับการคัดเลือกและดำเนินการโดยมติของสมาชิกของชุมชน
สาม โครงการทุกโครงการจะเกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อมกัการเพิ่มรายได้ของผู้ที่มีส่วนร่วม
สี่ รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความสำเร็จก่อน เพื่อกระตุ้นหมู่บ้านที่เฉื่อยชา
ห้า แต่ละหมู่บ้านจะได้รับการพัฒนาเป็นขั้นตอนไปตามสภาพและความสามารถของตน
หก ขบวนการแซมาอึล อุนดง จะดำเนินการอยู่ตลอดไป โดยความพยายามอันมั่นคงของประชาชนบนพื้นฐานระยะยาว
โดยที่มาของการพัฒนาหมู่บ้านจะมาจากคณะกรรมการบริหารหมู่บ้าน ประกอบด้วยสมาชิก ประมาณ ๑๕ คน ที่มาจากการคัดเลือกมาจากผู้นำที่เป็นหญิงและชายในสัดส่วนใกล้กัน โดยได้รับการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการชุดนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ร่วมกันจัดทำเสนอขึ้นไปยังสภาตำบล และเมื่อได้รับการอนุมัติคณะกรรมการชุดนี้ก็จะทำหน้าที่กำกับติดตามโครงการด้วย
ในการทำงานมิใช่จะใช้งบประมาณจากภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว แต่จะมีการระดมทุนจากผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นเท่าที่จะทำได้ และมีการขอรับจากองค์กรภายนอกในรูปของเงิน วัตถุดิบ เทคโนโลยี่
แนวคิดตามโครงการแซมาอึล อุนดง ได้ถูกนำไปขยายเข้าไปในวงการต่าง ๆ มากมาย อาทิ ในโรงเรียน ในสถานที่ทำงาน ในเขตเมือง ในโรงงาน
เอกสารได้วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ พบว่ามาจาก ๒ ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก คือ ตัวชาวบ้านได้รับการกระตุ้นอย่างสูงและได้รับการเปิดโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมของชุมชน มีการยกย่องชมเชยกับหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่สอง มาจากผู้นำของหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง จึงอุทิศตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชาวบ้าน
แต่หากให้ผมวิเคราะห์ต่อจากที่นักวิชาการวิเคราะห์ไว้ ผมว่ายังมีปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จนั้นก็คือ "ความต่อเนื่องของโครงการ" ที่รัฐบาลดำเนินการสืบทอดต่อกันมา ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเหมือนอย่างประเทศไทยเรา
ผมอยากเปรียบเทียบกับประเทศไทยสักนิดว่า จุดเริ่มต้นการพัฒนาของเกาหลีใต้นั้นเริ่มต้นพร้อม ๆ กับประเทศไทยเรา โดยจะเห็นได้ว่าในปี ๒๕๐๔ เริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาฉบับแรกเหมือนกัน แต่เราลองเปรียบเทียบระดับการพัฒนาดูนะครับว่าประเทศไทยเรากับเกาหลีใต้นั้นแตกต่างกันอย่างไร
ฉะนั้น คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ประเทศไทยเราต้อง "ปฏิรูปประเทศไทย" อย่างจริง ๆ จัง ๆ สักที และประเด็นหนึ่งที่ต้องปฏิรูปก็คือ "การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน" ไม่ใช่การมีนโยบายประชานิยมที่ไปบ่อนทำลายความเข้มแข็งของชุมชนเฉกเช่นทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น