วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี : คุณทำได้

๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
จากความพยายามยกระดับกระบวนการ "สมัชชาสุขภาพ" ตามคำท้าทาย วันนี้จังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกันสรรค์สร้างจนเกิดเวที "สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ ๑" ที่ยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมกว่าพันคน ร่วมกันใพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่ "อุบลราชธานี จัดการตนเองสู่สังคมสุขภาวะ" ได้สำเร็จ ซึ่งผมขอยืนยันว่า "เขาทำได้" จริง ๆ
ผมเฝ้าติดตามและเป็นกำลังใจกับทีมงานของจังหวัดอุบลราชธานีมาหลายปี ได้เห็นพัฒนาการของกระบวนการ "สมัชชาสุภาพ" ของจังหวัดนี้ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓
เป้าหมายจากเริ่มต้นคือการเข้ามาส่วนร่วมขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดก็สำเร็จในปี ๒๕๕๐
เป้าหมายต่อมาคือการนำ "สมัชชาสุขภาพ" มาใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ระดับชุมชน หมู่บ้าน จนมีรูปธรรมความสำเร็จ
จากความพยายามตลอดสิบกว่าปีนี้ จังหวัดอุบลราชธานีจึงเป็น ๑ ใน ๓ จังหวัดที่ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัล "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" ประจำปี ๒๕๕๖
คำท้าทายที่เราเสนอไปคือ การยกระดับ "สมัชชาสุขภาพ" ให้เป็นกระบวนการระดับจังหวัด เป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของคนอุบลราชธานีอย่างแท้จริง
และในวันนี้คำท้าทายนั้นก็เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เมื่อผมได้มาเห็นเวทีการประชุม "สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ ๑" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ ธันวาคม ณ หอการประชุมของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมกว่า ๑,๐๐๐ คน และมีประเด็นเชิงนโยบายที่ร่วมกันพิจารณา รวม ๔ เรื่อง อันได้แก่ (๑) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยชุมชนร่วมคิดร่วมทำร่วมจัดการการศึกษา (๒) อุบล...ราชธานีแห่งเกษตรอินทรีย์ (๓) ชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวเข้มแข็ง และ (๔) การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
กลไกที่อยู่เบื้องหลังและได้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยและมุ่งมั่น นั่นก็คือ "คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาะจังหวัดอุบลรชธานี" หรือ "คจ.สจ." ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธานกรรมการ และได้เชื้อเชิญนักวิชาการ และผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายประชาสังคม เข้ามาร่วมทำงานกัน
ที่มาของประเด็นเชิงนโยบายปรับให้มาจากข้อเสนอที่องค์กร หน่วยงานและเครือข่ายในจังหวัดเสนอขึ้นมามากกว่า ๑๐ ประเด็น
มีการตั้งทีมวิชาการที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องครบทั้ง ๔ เรื่อง
มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาก่อน
ผู้เข้าประชุมก็มาจากการตัวแทนองค์กร หน่วยงานและภาคีเครือข่ายทั้ง ๓ ภาคส่วน อันประกอบด้วย หน่วยงานรัฐ สถาบันด้านวิชาการ และเครือข่ายจากทุกอำเภอ
กระบวนการในวันประชุมก็เริ่มตั้งแต่การรับรองระเบียบวาระ การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณาหาฉันทามติ และการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน
คำประกาศเจตนารมณ์ร่วมของสมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลรชธานี ได้สกัดมาจากมติที่สำคัญทั้ง ๔ เรื่อง ได้บ่งบอกแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในช่วง ๑ ทศวรรษข้างหน้า ว่า "อุบลราชธานี จัดการตนเองสู่สังคมสุขภาวะ” โดยมียุทธศาสตร์หลักคือ
การมุ่งสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” โดยร่วมกันสร้าง “ธรรมนูญการศึกษา” เพื่อ “คืนการศึกษาให้กับชุมชน คืนคนให้กับท้องถิ่น” ใช้สมัชชาการศึกษาภาคพลเมือง เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ระดมสรรพกำลังให้เข้ามาร่วมคิดร่วมจัด ร่วมพัฒนาการศึกษา
การมุ่งสู่ “เมืองชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวเข้มแข็ง” โดยร่วมมือกันสร้างแผนพัฒนาระดับจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว สภาเด็กและเยาวชน และเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การมุ่งสู่ “ราชธานีแห่งเกษตรอินทรีย์” โดยมี “คณะกรรมการศูนย์เกษตรอินทรีย์” เป็นแกนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เน้นขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ สร้างสำนึกเศรษฐกิจพอเพียงต่อเกษตรกรและผู้บริโภคชาวอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง
การมุ่งสู่ “เมืองปลอดขยะ” โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อน เร่งรัดให้มี “ธนาคารขยะ” ให้ครอบคลุมทุกชุมชน
นี้คือสิ่งที่ปรากฎต่อสายตาของผู้เข้าร่วมเวทีที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นปรากฎการณ์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและอดทนของคนทำงานที่อยู่เบื้องหลังงานครั้งนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อคำท้าทายในเรื่องหนึ่งสำเร็จลงแล้ว การนำมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดครั้งนี้ไปขับเคลื่อนให้เกิดผล ก็กลายเป็นคำท้าทายใหม่ต่อทีมทำงานต่อไป
ดังสุภาษิตในวงการนโยบายว่า "การสร้างนโยบายที่ดีนั้นยาก แต่การนำนโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัตินั้นยากกว่า" ฉันใดก็ฉันน้้น
ผมขอเป็นกำลังใจให้กับกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานีอีกคำรบหนึ่ง และผมเชื่อมั่นว่า "คุณทำได้" ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น