วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ต้นไม้ต้นนี้ชื่อ...สมัชชาพิจารณ์

๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
หากเราจะปลูกต้นไม้ใหญ่ที่หวังจะกินผลสักต้น คงต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมดิน เตรียมพันธุ์ ให้เวลารดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย คอยระวังแมลงหรือสัตว์มากินมาแทะทำลายต้นและใบ คอยประคบประหงมจนออกดอกออกผล แล้วเติมปุ๋ย และดูแลให้ต้นไม้นั้นยืนยงผลิตลูกผลให้เรากินอย่างยาวนาน ฉันใดก็ฉันนั้น งานพัฒนาก็เฉกเช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้ ที่ต้องให้เวลา ให้ความมุ่งมั่น จวบจนงานพัฒนานั้นจะส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของผู้คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
งานพัฒนาหนึ่งที่ผมขอหยิบมาเขียนบอกเล่าในวันนี้คือ ต้นไม่ที่ชื่อ "สมัชชาพิจารณ์"
ผมรู้จักกับคำว่า "สมัชชาพิจารณ์" ครั้งแรกในปี ๒๕๕๔ เมื่อครั้งที่แกนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลยโทรมาเล่าให้ฟัง และชวนให้ผมไปช่วยเรื่องการพัฒนาเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำเข้าเวทีสมัชชาพิจารณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๘ อุดรธานี
ผมมาเข้าใจกับคำว่า "สมัชชาพิจารณ์" ในภายหลังว่า เกิดขึ้นจากความต้องการยกระดับการดำเนินงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๘(๑๓) ให้มีการรับฟังความคิดเห็นเป็นประจำทุกปี และเครื่องมือที่ต้องการนำมายกระดับการรับฟังความคิดเห็นโดยใช้หลักการของ "สมัชชาสุขภาพ" เป็นต้นแบบ
รูปธรรมของการนำเครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ" มาใช้นั้น ครอบคลุมทั้ง การเปิดรับประเด็นเชิงนโยบาย การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นที่บางจังหวัดลงไปถึงระดับตำบล การจัดกลุ่มเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในปีนั้น ผมจำได้ว่า กระบวนการพัฒนาสมัชชาพิจารณ์ของจังหวัดเลยได้รับการประกาศผลให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยอาร์ทูอาร์ (R2R)ประจำปี ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
"เลยโมเดล" ได้ถูกขยายออกไปจนครบทุกจังหวัดในเขตความรับผิดชอบของ สปสช.เขต ๘ อุดรธานี ในปี ๒๕๕๕ และต่อเนื่องมาจนถึงปี ๒๕๕๖ ด้วยแรงสนับสนุนจาก สปสช.ระดับชาติและระดับเขต
มติ "สมัชชาพิจารณ์" ที่ออกมาถูกนำเสนอต่อกลไกของ สปสช. ที่มีอยู่ทั้งระดับชาติ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับตำบล ซึ่งผมถือว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญ เพราะมีกลไกรองรับมติที่ออกมาอยู่ทุกระดับ
หลายมติบอร์ดของ สปสช. ได้นำมาพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย หลักเกณฑ์ และแนวทางประกาศใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ
หลายมติถูกนำไปเป็นกรอบในการกำหนดแผนงานโครงการของ สปสช. ระดับเขต และระดับจังหวัด ซึ่งมีกลไกและงบประมาณรองรับอยู่
หลายมติถูกนำไปขับเคลื่อนในกลุ่มของแกนเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในกระบวนการมาตั้งแต่ต้น
และหลายมติถูกนำไปเป็นกรอบในการยกระดับงานในระดับตำบล ที่มีกองทุนสุขภาพตำบลเป็นงานสำคัญของพื้นที่ บางกองทุนมีการนำสมัชชาสุขภาพไปใช้ในการกำหนดแผนงานโครงการแบบมีส่วนร่วม บางกองทุนมีการจัดทำเป็นธรรมนูญสุขภาพขึ้น ทั้งนี้จากพลังของแกนเครือข่ายที่มีต้นทุนจากเครืองมือตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นกลไกขบเคลื่อนที่สำคัญ
จากจุดเริ่มต้นในไม่กี่ตำบล เริ่มขยายตัวจากกระบวนการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่องตลอด ๓ ปีกว่า
แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของพื้นที่ต้นแบบเหล่านี้ นำมาสู่การตั้งเป้าหมายต้องการให้มีศูนย์เรียนรู้ในทุกอำเภอของเขต ๘ ที่มีอยู่ ๘๗ อำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ ๑ ตำบล จึงเกิดขึ้น
ระยะเวลากว่า ๓ ปี ต้นไม้ที่ชื่อ...สมัชชาพิจารณ์ได้หยั่งรากลงสู่ผืนดินอย่างมั่นคง แผ่กิ่งก้านสาขาไปในวงกว้างทุกวันที่ผันผ่านไป นับเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของแกนเครือข่ายจากทุกภาคส่วนใน ๗ จังหวัดของเขต ๘ อุดรธานี ที่มีเป้าหมายที่ต้องการยกระดับการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ"
ผมมั่นใจว่าต้นไม้ต้นนี้ ได้เริ่มออกดอกออกผลให้ผู้คนที่คอยรดน้ำพรวนดินได้มีความสุข และถือเป็นต้นแบบของกระบวนการพัฒนาอีกหนึ่งขบวนที่ได้ใช้เวลายาวนานกว่า ๓ ปี ในการก่อร่างสร้างตัวจนเริ่มมีความเข้มแข็งและมั่นคง ยืนยงต่อไปในอนาคต
ผมขอเป็นกำลังใจต่อการขับเคลื่อนงานใน ๘๗ อำเภอเป้าหมายที่วางไว้ และขอกล่าวสั้น ๆ ว่า ผมขอชื่นชมกับต้นไม้ที่ชื่อ...สมัชชาพิจารณ์ด้วยคนครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นกำลังใจให้ต้นไม้ต้นนี้ "สมัชชาพิจารณ์" ที่กำลังชูช่อโบกไสว ให้ได้เห็นหยาดเหงื่อความทุ่มเท ฝ่าฟันต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และคำถามท้าทาย ที่ถูกเปลี่ยนเป็นแรงขับ (เคลื่อน) จนเติบโตอยู่ได้ วันนี้ต้นไม้อีกต้นที่กำลังผลิดอก(แรกแย้ม) ก็กำลังถูกจับตาด้วยความเอาใจใส่ ทั้งภาคีเครือข่าย ภาคประชาชน และองค์กรในพื้นที่ทั้ง ๘ จังหว้ด คงต้องอาศัยการเตรียมดิน (สมัชชาปฏิรูป) ความขยัน(ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทุกองค์กรที่ช่วยกันทำงาน) และรอวันที่มันจะเติบโต มาเป็นต้นไม้อีกสักต้น เพื่อสร้างสุขภาวะเป็นร่วมให้พี่น้องคนไทยในภาคตะวันออก ร่วมกับต้นไม้อื่นๆที่เหล่าพี่น้องภาคีช่วยกันปลูกทีละเล็กละน้อย

    ตอบลบ
  2. ประเทศเรายังต้องการคนปลูกต้นไม้อีกหลายล้านต้น เป็นต้นไม้ที่ชูช่อ ออกดอกแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่พื้นดิน แต่บางคนอยากเร่งวันเร่งคืนอยากเห็นดอกผลไว ซึ่งอาจก็ได้แค่เพียงต้นไม้กระดาษ หรือต้นไม้ล้มลุก ไม่ยั่งยืน เป็นกำลังใจให้กับต้นไม้ตามแนวชายฝั่งตะวันออกของไทย จะเป็นคนหนึ่งที่คอยเฝ้ารอเห็นดอกไม้จากต้นนี้ต้นนั้นจ๊ะ

    ตอบลบ