๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ในวงการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมเชื่อว่า อปท. เกือบทุกแห่งรู้จักและอยากได้รางวัลอันทรงเกียรติที่มีชื่อว่า "รางวัลพระปกเกล้า" มาครอบครอง ในแต่ละปีจะมี อปท. หลายร้อยแห่งเสนอผลงานเพื่อขอรับรางวัลนี้
และเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าได้มีการประกาศผล อปท. ที่ได้รับ "รางวัลพระปกเกล้า ประจำปี ๒๕๕๖" ออกมาเรียบร้อยแล้ว
ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องที่ผมตั้งใจจะนำมาบอกเล่า เรามารู้จักกับรางวัลนี้กันก่อน
"รางวัลพระปกเกล้า" เป็นรางวัลที่มีการประกาศต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่ อปท.ที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมืองและส่งเสริมการพัฒนาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาท้องถิ่น แบ่งเป็น ๓ ประเภทรางวัล อันได้แก่ ประเภทที่ ๑ ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเภทที่ ๒ ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ และประเภทที่ ๓ ด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม
เมื่อรู้จักับรางวัลนี้เป็นพื้นฐานแล้ว เรามาเข้าเรื่องในสิ่งที่ผมอยากจะบอกเล่ากันดีกว่า
สิ่งที่นำมาซึ่งแรงบันดาลใจสำคัญผลักดันให้ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียน ก็เพราะมี อปท. แห่งหนึ่งได้รับรางวัลนี้ เป็น อปท. ที่มีการนำเอาเครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ" ไปปรับใช้
และต้องบอกว่า "สมัชชาสุขภาพ" นี้เป็นเครื่องมือที่องค์กรที่ผมทำงานอยู่ กำลังหนุนเสริมองค์กรต่าง ๆ นำไปปรับใช้ในการพัฒนา "นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม"
อปท. ที่ผมกำลังกล่าวถึงคือ เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ที่เป็น อปท. ๑ ใน ๑๒ แห่งที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้าด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม ไปครอง
ผมรับทราบข่าวนี้จากเพื่อนที่ทำงานส่งไลน์มาบอก ในขณะที่ผมกำลังประชุมอยู่ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร
ความรู้สึกชื่นชมกับเทศบาลนครพิษณุโลก เกิดขึ้นกับผมโดยฉับพลัน ในใจพลันคิดไปถึงพี่สุกัญญา บำรุงชาติ พยาบาลจากเทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งเคยมาเป็นกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วงปี ๒๕๕๔ - ๒๕๕๕ ที่ผมรู้จัก
ผมตัดสินใจโทรศัพทืไปหาพี่สุกัญญาฯ ในขณะที่กำลังเดินทางกลับสำนักงาน เพื่อขอแสดงความยินดี และชื่นชมในการได้รับรางวัลครั้งนี้
"มี ๑๑ โครงการที่เราเสนอไป และกรรมการเขาสนใจใน ๓ โครงการ และโครงการสมัชชาสุขภาพเป็น ๑ ใน ๓ โครงการ ที่กรรมการลงมาดูงานในพื้นที่" เป็นเสียงจากคู่สนทนาที่อธิบายมาจากปลายสาย
"พี่ต้องขอบคุณทาง สช. มากนะ ที่ทำให้พี่ได้รู้จักกับสมัชชาสุขภาพ" พี่สุกัญญาบอกเล่าความรู้สึกให้ผมฟัง
ความจำผมย้อนกลับไปเมื่อกลางปี ๒๕๕๕ ในวันนั้นผมได้มีโอกาสร่วมไปกับคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนั้นลงไปดูงานที่เ?บาลนครพิษณุโลก จึงรู้ว่า ที่เทศบาลนครแห่งนี้ได้นำเครื่องมือสมัชชาสุขภาพมาใช้ โดยได้จัดเวทีภายใต้ประเด็นหลักว่า “สุขภาวะที่ร่วมสร้าง หนทางที่เป็นไปได้” หรือ Healthy : It’s possible ขึ้นในปลายเดือนมกราคม ปี ๒๕๕๕
ในการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งนั้น ได้มีการกำหนดระเบียบวาระการประชุมไว้ ๓ ประเด็น อันเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ อันได้แก่ (๑) การแก้ปัญหาโภชนาการเกิน (หวานเกิน เค็มเกิน มันเกิน) (๒) ผลกระทบจากพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น (สารเสพติด เพศสัมพันธ์ การแต่งกาย สื่อ เกม และอื่นๆ)และ (๓) การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการเกิดโรคไข้เลือดออก
แรงบันดาลใจที่ได้นำเครื่องมือนี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้เกิดขึ้นจาก การได้เห็นคุณค่าของเครื่องมืออันค่อย ๆ ซึมซับจากการที่ได้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒ ปีซ้อน และเมื่อเห็นว่าดี และมีความเข้าใจในกระบวนการอย่างชัดเจนแล้ว จึงนำไปปรึกษาหารือกับผู้บริหารเทศบาล และก็ได้รับไฟเขียวให้ดำเนินการ
วันเวลาผันผ่านไป ๑ ปีเศษ ผลของการนำสมัชชาสุขภาพไปขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งในพื้นที่ ได้ออกดอกออกผลจนเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะกรรมการรางวัลพระปกเกล้าที่ให้การยอมรับให้ อปท. แห่งนี้ได้รับรางวัลนี้ไปประดับช่อเกียรติยศประจำปี ๒๕๕๖ นี้
พี่สุกัญญาฯ ยังเล่าต่อให้ผมอิ่มเอมใจอีกว่า ยังลุ้นอีก ๒ รางวัล ทั้งรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น และรางวัลเมืองน่าอยู่ ซึ่งก็ใช้โครงการสมัชชาสุขภาพเป็นโครงการส่งเข้าประกวด
ผมจับน้ำเสียงของคู่สนทนาผมได้ว่า กำลังมีความสุขที่ความมุ่งมั่นได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า
ผมในฐานะที่เป็นบุคลากรในองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวการสมัชชาสุขภาพก็ย่อมมีความปิติสุขตามไปด้วย
นอกเหนือจากความสุขที่เกิดขึ้นกับตัวผมแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับตัวผม สิ่งนั่นคือ เป็นการยืนยันว่า "สมัชชาสุขภาพ" สามารถนำมาใช้เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จริง ๆ
กราบขอบพระคุณผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และประชาชนในเขคเทศบาลนครพิษณุโลกมา ณ โอกาสนี้ ที่ได้สร้างหลักฐานยืนยันแก่สังคมไทยและสังคมโลกเช่นนั้น
ผมมั่นใจว่าอีกไม่นาน ต้นแบบที่เกิดที่เทศบาลนครพิษณุโลกนี้ จะขยายเมล็ดพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางไปยัง อปท. แห่งอื่น ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง อย่างแน่นอน
ขอบคุณมากเลยครับ ผมสามารถต่อติดได้จาเรื่องล่าเล็กๆน้อยๆนี้หล่ะครับ
ตอบลบ