วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตามไปดูเวที่รับฟังความเห็นแผนแม่บทจัดการน้ำที่พิจิตร

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

อาจเป็นเพราะผมเกิดที่นี้ ฉะนั้นเมื่อได้ทราบว่ารัฐบาลกำหนดวันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนแม่บทการจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือโครงการ ๓.๕ แสนล้านบาท ที่จังหวัดพิจิตร ผมจึงตั้งใจเดินทางมาร่วมเวทีนี้ อยากจะรับรู้ว่าคนพิจิตรเขาคิดอย่างไรต่อโครงการมหาโปรเจ็กซ์นี้ ซึ่งบทสรุปที่ได้เห็นได้ยิน ต้องบอกตรง ๆ ว่า "คาดไม่ถึง" ครับ

ผมออกเดินทางจากบ้านพักที่นครสวรรค์ตั้งแต่เช้าตรู่ ขับรถยนต์คู่ใจมุ่งหน้าสู่จังหวัดพิจิตร เป้าหมายก็คือ "สนามกีฬาจังหวัดพิจิตร" สถานที่นัดหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งผมไปถึงในเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น.

หลังจากหาที่จอดรถยนต์เป็นเรียบร้อย จึงเดินเข้าไปในบริเวณจัดประชุม มองไปเห็นผู้คนคราคร่ำเต็มไปหมด ทุกคนกำลังเข้าแถวลงทะเบียนตามเต้นท์ที่จำแนกรายอำเภอไว้ โดยมีเสียงประกาศชี้แจงให้ผู้มาร่วมเวทีปฏิบัติตัวถูกทั้งคนที่เชิญมา คนที่ลงทะเบียนทางออนไลน์ และผู้สังเกตการณ์ หรือ กลุ่ม Walk in ถัดจากโต๊ะลงทะเบียนก็จะเป็นเต้นท์แสดงนิทรรศการแนะนำโครงการ แต่มองเข้าไปก็ไม่ค่อยมีใครเข้าไปดู ผมเลี่ยงเข้าไปดูแล้วขอเอกสารติดมือมา หนึ่งชุด

ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่ม walk in ซึ่งต้องไปลงทะเบียน แต่ผมมองดู ปรากฎว่ามีคนต่อคิวรอยาวเหยียด เลยคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าไปฟัง ก็ได้รับคำตอบว่าให้ไปลงทะบียนก่อน แต่ด้วยความขี้เกียจเลยต้องใช้แนะนำตัวว่ามาจากสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมควักบัตรประจำตัวให้ดูจึงได้เข้าไปสู่ห้องประชุม

ภายในห้องประชุมซึ่งดัดแปลงมาจากโรงยิมเนเซียมสำหรับเล่นกีฬาในร่ม มองไปที่ด้านหน้ามีโต๊ะและเก้าอี้ของวิทยากรวางไว้บนพื้นยกสูง ด้านล่างเต็มไปด้วยเก้าอี้พลาสติกสีน้ำเงิน ซึ่งทราบภายหลังว่า จัดไว้ ๑,๖๐๐ ตัว มองไปมีผู้คนเข้ามาจับจองกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะด้านหลังคนจะแน่น แต่แถวหน้าจะว่างโล่ง ด้านหน้ามีจอรับภาพแขวนไว้ ๑ จอ ใจก็อดคิดไม่ได้ว่า คนที่ยั่งแถวหลังจะเห็นไหมหนอ
ผมหาที่นั่งได้กับทีมข้าราชการที่ทำงานที่พิจิตรที่รู้จัก มองไปด้านหน้าเวทีมีพิธีกรชายหญิง ๒ คนกำลังกล่าวทักทายกับผู้อยู่ในห้องประชุมอยู่ รอเวลาพร้อมของเวที

เวลาล่วงเลยมาจนถึง ๐๙.๕๑ น. พิธีกรจึงกล่าวเรียนเชิญ ผวจ.พิจิตร ขึ้นกล่าวต้อนรับ ซึ่งท่านได้แสดงทัศนะในเวลา ๑๐ นาที ไว้ว่าท่านมาอยู่ที่นี้ต้องการทำ ๒ เรื่อง คือ เรื่องน้ำกับเรื่องข้าว ฉะนั้นวันนี้จึงเป็นวันที่ท่านรอคอย ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่าท่านเองเพิ่งย้ายมาอยู่ได้ไม่นาน

เวลา ๑๐.๐๐ น. พิธีกรกล่าวเชิญชวนผู้เข้าประชุมให้ดูวีดิทัศน์ ซึ่งใชเวลากว่าครึ่งชั่วโมง อธิบายรายละเอียดของโครงการ และแผนงานในโมดูลที่เกี่ยวข้องกับคนพิจิตร คือ A๓ (การก่อสร้างแก้มลิง) และ A๔ (การขุดลอกแม่น้ำพิจิตรสายเก่า) คงเป็นเพราะความยาวของเนื้อหา ผมจึงเห็นผู้เข้าประชุมจับคู่คุยกันโดยไม่ได้สนใจกับเรื่องราวที่ถูกนำเสนอมากนัก

วีดิทัศน์จบลง เสียงพิธีกรเรียนเชิญวิทยากรกระบวนการ ๒๐ คน และกล่าวแนะนำให้ผู้เข้าประชุมรับทราบ ซึ่งก็ล้วนแต่ขึ้นต้นด้วยด็อกเตอร์กันแทบทุกคน แต่ผมเริ่มรู้สึกว่า "จะแนะนำทำไม"

เวลา ๑๐.๔๐ น. พิธีกรกล่าวเชิญวิทยากร ๕ คน ขึ้นเวที และเชิญให้ชี้แจงเนื้อหาสาระของโครงการ ซึ่งผมก็งงมาก เพราะก็เป็นเรื่องเดียวกับที่วีดิทัศน์เพิ่งนำเสนอไปเมื่อครู่ แต่ก็ยังดีใจที่วิทยากรใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที เท่านั้น
เวลาที่เริ่มรับฟังความคิดเห็นจริง ๆ เริ่มได้เมื่อเวลา ๑๐.๕๕ น. โดยกำหนดให้พูดได้คนละ ๕ นาที ซึ่งพิธีกรประกาศว่ามีคนลงทะเบียนทั้งสิ้น ๓๑ คน
ในช่วงเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษจนถึงเที่ยงตรง มีผู้เสนอความเห็นทั้งสิ้น ๑๕ คน ซึ่งทุกคนล้วน "ไม่เห็นด้วย" กับกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยประเด็นที่เกือบทุกคนพูดถึงก็คือ "รัฐบาลไม่จริงใจต่อการรับฟังความคิดเห็น" โดยชี้ให้เห็นการขาดข้อมูลประกอบการพิจารณา ไม่ได้รับทราบแผนงานโครงการมาก่อน ขาดการมีส่วนร่วม และที่สำคัญไม่เชื่อมั่นต่อผู้รับจ้างที่มาจากประเทศเกาหลีใต้

นอกเหนือการแสดงความไม่เห็นด้วย ผู้เข้าประชุมยังได้เสนอให้รัฐบาลจัดเวทีความคิดเห็นที่จังหวัดพิจิตรอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ไปจัดในระดับพื้นที่ และให้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยเฉพาะปราชญ์ชาวบ้านเข้าร่วมประชุมด้วย

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่ภายในห้องประชุมกำลังมีการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าประชุม เมื่อรองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) เดินทางมาถึง เสียงนกหวีดก็ดังลั่นต้อนรับการมาเยือนของประธาน กบอ. ซึ่งไม่รู้ว่าท่านรู้สึกอย่างไร แต่ผมไม่เห็นท่านเข้ามาในบริเวณห้องประชุม

ในช่วงเที่ยงผมเดินบริเวณรอบ ๆ ห้องประชุม จะมีการตั้งเต้นท์ไว้ ๑๙ เต้นท์ สำหรับการแบ่งกลุ่มรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยในภาคบ่าย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีการจัดเวทีภาคประชาชนคู่ขนาน แสดงการคัดค้านโครงการ โดยมีวิทยากรขึ้นเวทีสลับกันให้เหตุผลที่คัดค้านทั้งในเชิงกฎหมาย กระบวนการ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และนอกเหนือจากการใช้ข้อมูลชี้แจงแล้ว ยังมีการขอพรจากสมเด็จพระเจ้าเสือที่ประดิษฐานท่ายืนในบริเวณนั้นเข้าช่วยด้วย

ในช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มย่อย ๒๐ กลุ่ม ซึ่งต้องบอกว่า ๑๙ กลุ่มที่ตั้งเต้นท์รองห้องประชุมใหญ่ต้องดำเนินการท่ามกลางเสียงจากเวทีคู่ขนาน ผมจึงหลบมาฟังในห้องประชุมใหญ่เมื่อเช้า ซึ่งความคิดเห็นก็เป็นไปในทางเดียวกับเมื่อเช้าที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการ

ผมออกจากห้องประชุมราว ๑๕.๐๐ น. เพื่อเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างขับรถยนต์สมองก็คิดทบทวนสิ่งที่ได้เห็นได้เรียนรู้กับงานวันนี้
ต้องบอกว่า นอกจากการได้เห็นทัศนะของคนพิจิตรต่อโครงการนี้แล้ว ยังได้รู้ว่ามีกระบวนการเตรียมคนเข้าเวทีเพื่อปรึกษาหารือกันก่อนเวทีนี้ จนความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้มีน้ำหนักอย่างมากที่รัฐบาลต้องรับฟัง

นอกจากนั้นยังได้เห็นการออกแบบกระบวนการที่ไม่เอื้อต่อการรับฟังความเห็นที่มีคนนับพันที่มีความแตกต่างในอาชีพ วัย และประสบการณ์ในระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง ข้อมูลนำเข้าที่นำเสนอด้วยวีดิทัศน์ก็แสนยาว ยากต่อความเข้าใจ เอกสารที่แจกก็ขาดข้อมูลสำคัญ ยากต่อการตัดสินใจ บรรยากาศก็ไม่เหมาะสมกับเป้าหมายที่วางไว้
ที่สำคัญสิ่งที่ได้เห็นก็คือคนพิจิตรก็กำลังอินกับบรรยากาศทางการเมือง และทันสมัยกับการใช้นกหวีดในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

สุดท้ายต้องยอมรับว่า งานนี้ทำให้ผมรักคนพิจิตรขึ้นเยอะเลย เพราะได้แสดงความพร้อมและความเข้มแข็งของเครือข่ายอันเป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้ผมเห็น ซึ่งผมขอกราบขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้

นอกจากนั้นผมใคร่ขอบคุณ "ลูกชิ้น ๓ ไม้" ซึ่งเป็นอาหารกลางวันของผมในฐานะผู้เป็นเพียง Walk in สำหรับงานในวันนี้ด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น