วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นโยบายอนามัยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย

๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ผมอยากจะกล่าวประเทศไทยเรามีแผนโน้น มีนโยบายนี้เยอะแยะเต็มไปหมด จนบางครั้งคนทำงานก็งงไปกับความมากมายของนโยบายของแผนเหล่านั้นตามไปด้วย
อย่างเช่นวันนี้ ผมได้รับหนังสือเชิญจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัยให้ไปร่วมประชุมปรึกษาหารือ เพื่อวางแผนการประเมิน "นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๓ - ๒๕๕๗" ซึ่งผมไม่รู้ว่าคนไทยมีจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่รู้ว่ามีนโยบายนี้
หากไม่รู้ผมอยากจะบอกว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่สำคัญมากเกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน และเป็นเรื่องของการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ
ผมจำได้ว่าผมมีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนยกร่างนโยบายนี้ด้วยคนหนึ่ง แต่พอลืมไปเพียงแป๊บเดียว จะสิ้นสุดแผนแล้ว วันเวลามันผ่านไปรวดเร็วจริง ๆ ครับ แล้วเราจะไม่แก่ได้อย่างไร เป้าหมายของนโยบายนี้ ก็เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางเพศในกลุ่มวัยรุ่น และเสริมสร้างให้ครอบครัวมีความเข็มแข็ง อบอุ่นและมีคุณภาพ โดยเฉพาะการเกิดทุกรายต้องเป็นที่ปรารถนา ปลอดภัยและมีคุณภาพ
การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้วางยุทธศาสตร์ไว้ ๖ ยุทธศาสตร์ นั่นก็คือ
ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างครอบครัวใหม่และเด็กรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งและมีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยมีพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม
ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพแบบบูรณาการ
ยุทธศาสตร์การพัฒนากฎหมาย กฎและระเบียบเกี่ยวกับงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาและการจัดการองค์ความรู้ เทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ
อ้อ ผมลืมไปว่านโยบายฉบับนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปตั้งแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๓
ที่นี้มาถึงประเด็นที่หารือกันในวันนี้ ก็คือ ทางกรมอนามัยกำลังเตรียมจัดทำนโยบายฉบับที่ ๒ เพื่อจะได้ประกาศใช้ทันในปี ๒๕๕๘ ก็เลยอยากจะทำการประเมินผลนโยบายนี้ คำถามที่ทางผู้จัดขอหารือก็คือ จะประเมินโดยวิธีการใด และจะประเมินกันอย่างไร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้ความเห็นต่อที่ประชุมไป โดยอุปมาอุปมัยไปว่า
หากเราตั้งใจจะเดินทางไปเชียงใหม่ เราก็คงต้องประเมินว่าเราไปถึงเชียงใหม่ไหม เดินทางด้วยวิธีการใด มีปัญหาอุปสรรคในการเดินทางอะไรหรือไม่อย่างไร พบดอกไม้ที่สวยงามบ้างหรือไม่ และที่สำคัญคนเดินทางรวมถึงคนร่วมเดินทางมีความรู้สึกต่อการเดินทางนี้อย่างไร
เรื่องที่ผมยกเล่าในที่ประชุมข้างต้น สามารถนำมาเป็นโจทย์การประเมินนโยบายนี้ได้ ซึ่งก็หมายถึง เมื่อเวลาผ่านไปเราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ยุทธศาสตร์ที่วางไว้เหมาะสมหรือไม่ มีปัจจัยความสำเร็จอะไรบ้าง มีความสำเร็จหรือความภาคภูมิใจอะไรเกิดขึ้นบ้าง และคนทำงานมีความรู้สึกอย่างไรกับการทำงานเรื่องนี้
อีกเรื่องหนึ่งที่มีผมเสนอความเห็นไปก็คือ ควรหานักวิชาการภายนอกมาเป็นผู้ประเมินโดยมีคณะกรรมการกำกับทิศชุดเล็ก ๆ เป็นกลไกทำงานตามชื่อ
ก็ไม่รู้ว่าเขาจะรับความเห็นของผมไปพิจารณาหรือไม่ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ผมต้องมากังวลอะไร
สิ่งที่ผมกังวลก็คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องรีบแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ
ผมเดินทางไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบการหยิบประเด็นปัญหานี้มาพูดคุยกันในวงสมัชชาสุขภาพจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งแสดงว่าเป็นปัญหาร่วมของคนทุกจังหวัดจริง ๆ
เรื่องนี้จึงต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ทุกคนต่างมีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหานี้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายการมีประชากรไทยที่มีคุณภาพในอนาคตนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น