วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไปดูเขาทำธรรมนูญสุขภาพแบบบ้าน ๆ ที่ตำบลบ้านแก้ง

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
"ระเบิดจากข้างใน" คือหลักการทรงงานสำคัญข้อหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสอนให้กับคนไทยเพื่อเป็นข้อเตือนใจในการทำงานด้านพัฒนาต่าง ๆ ที่หมายถึง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต้องคำนึงถึงความพร้อม และการมีส่วนริเริ่มดำเนินการโดยประชาชนในพื้นที่ มิใช่การริเริ่มจากภายนอก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนของตนก่อน แล้วจึงค่อยขยายการพัฒนาออกมาสู่โลกภายนอก

ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนก็เนื่องจากวันนี้ผมได้มาพบพื้นที่ที่ทำงานตามหลัก "ระเบิดจากข้างใน" ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด

พื้นที่ที่ผมกำลังกล่าวถึง คือ "ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว" ที่คนในตำบลกำลังรวมตัวกันจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลบ้านแก้ง” โดยใช้พลังจากคนในพื้นที่ โดยไม่ร้องขอจากหน่วยงานภายนอก

ผมเดินทางไปที่นั่นด้วยเหตุผลว่า "อยากไปเรียนรู้" ว่าเขากำลังทำอะไรกัน และทำกันอย่างไร

ภายในห้องประชุมของ อบต.บ้านแก้ง คลาคล่ำไปด้วยผู้บริหาร อบต. ผู้นำชุมชนจาก ๑๖ หมู่บ้าน ราว ๓๐ ชีวิต นั่งพูดคุยกันอย่างคึกคัก เพื่อรอเวลาที่จะมาถึง

นายไพโรจน์ เที่ยงธรรม นายก อบต. บ้านแก้ง เจ้าของบุคลิกมาดมั่น พูดจาชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ เป็นผู้กล่าวเปิดเวทีคนแรก บอกเล่าให้คนในเวทีให้เห็นวิสัยทัศน์ของตนว่า อยากทำธรรมนูญสุขภาพตำบล เพราะอยากให้คนบ้านแก้งมีสุขภาพดี ซึ่งได้เห็นผลเชิงประจักษ์แล้ว จากบทเรียนที่บ้านคลองอาราง ที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้าน และเห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะของคนที่นั่น จึงอยากนำมาขยายให้ครอบคลุมทั้งตำบล

นายกไพโรจน์ ได้กล่าวย้ำในช่วงท้ายอย่างหนักแน่นว่า ยินดีที่จะหนุนการทำงานนี้อย่างจริงจัง

ผมทราบจากทีมงานที่ไปด้วยว่า ชาวบ้านคลองอารางเริ่มทำธรรมนูญสุขภาพของหมู่บ้านช่วงต้นปี ๒๕๕๕ มีทั้งหมด ๑๒ หมวด ว่าด้วยเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การสร้างสังคมที่ดี การป้องกันควบคุมและจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมการจัดการระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ เป็นต้น เนื้อหาฟังง่ายไม่ซับซ้อน เช่น ข้อ ๗ ควรรักษาศีลห้าให้ได้ หรือรักษาให้ได้ ๑ - ๒ ข้อเป็นอย่างน้อย. ข้อ ๑๔ เด็ก เยาวชน ควรรักนวลสงวนตัว

ในขั้นตอนการจัดหมวดหมู่ธรรมนูญ ก็อาศัยลูกหลานในชุมชน ช่วยกันจดๆ ทุกถ้อยคำจากบนกระดานมาว่าต้องการสิ่งใดบ้าง จากนั้นคณะกรรมการหมู่บ้านและทีมงานนำมาคัดกรอง เขาต้องการแก้ไขตรงไหน หลายคนช่วยกันคิด และตั้งกติกาขึ้นมา ถามว่าหลังมีข้อตกลงร่วมกัน

ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่พัฒนา พรมเผ่า ผู้ใหญ่บ้านคลองอาราง ได้ยืนยันกับผมว่า ได้เห็นชุมชนเปลี่ยนไปอย่างเป็นรูปธรรมหลังมีธรรมนูญสุขภาพ คือ ทุกคนมีส่วนร่วม มีอะไรหนักเบาให้อภัยกันได้ ทุกคนมีจิตวิญญาณจะช่วยเหลือสังคมไปพร้อมๆ กัน ต่อไปจะทำธรรมนูญตำบล และทำธรรมนูญจังหวัด เป็นนิมิตหมายที่ดี ทำให้ชีวิตยั่งยืนชั่วลูกหลาน

ต่อคำถามที่ว่าแล้วใครเป็นคุมกฎ คำตอบที่ผมได้รับจากผู้ใหญ่พัฒนาก็คือ ชาวบ้านทุกคนครับ เพราะมีส่วนร่วมคิด พอเลิกบุหรี่ เหล้า อบายมุข ก็ทำเศรษฐกิจพอเพียง ทำบัญชีครัวเรือน ให้มีจิตสำนึกว่าทำอย่างไรจะอยู่อย่างพอเพียง ไม่โลภ

ในโอกาสที่ผมได้ไปร่วมเวทีครั้งนี้ด้วย จึงได้บอกเล่าบทเรียนที่เห็นจากพื้นที่อื่นให้ที่ประชุมทราบว่า ธรรมนูญสุขภาพได้ก่อให้เกิดคุณค่าหลายประการ อาทิ เป็นภาพอนาคตที่คนในตำบล มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันขับเคลื่อน โดยคนนอกไม่เกี่ยว เป็นสิ่งกำหนดการทำงานขององค์กร หน่วยงานและผู้คนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นสิ่งยึดโยงให้คนเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นเครื่องมือในการรวมสรรพกำลังคน เงิน (กองทุน) และอื่น ๆ และที่สำคัญก็คือเป็นเครื่องบ่งบอกว่าคนในตำบลมีความรักสามัคคีกัน

เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ผู้เข้าประชุมได้ช่วยกันระดมสมองพิจารณาร่างธรรมนูญฯ ที่มีการยกร่างมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมี ๕ หมวด ประกอบด้วย หมวดการพัฒนาคน หมวดสุขภาพ หมวดเศรษฐกิจชุมชน หมวดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหมวดการบริหารจัดการ

ซึ่งผลที่ออกมา ต้องบอกว่าเป็น “กินได้” จริง ๆ เพราะใช้ถ้อยคำที่ง่าย อ่านแล้วเข้าใจทันที โดยไม่ต้องตีความ

อาหารกลางวันวันนั้น นายก อบต. เป็นเจ้ามือ โดยแกบอกว่าได้ซื้อปลาจากแม่ค้าที่มาขายหน้าตึก อบต. เมื่อสักครู่ เลยขอต้มยำมาเลี้ยงพวกเราทุกคน ซึ่งทุกคนก็อิ่มหนำสำราญกันไปถ้วนหน้า

ผมครุ่นคิดมาตลอดทางหลังจากกล่าวร่ำลาผู้ร่วมเวที ว่า นี่คือทิศทางการพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง เป็นการพัฒนาที่ฐานรากของประเทศไทย ไม่ต้องรอคำสั่งการจากส่วนกลาง เพราะคนในพื้นที่เขาก็คิดเป็น ทำเป็น

และสิ่งที่ผมอยากจะฝากไปยังสังคมวงกว้างว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้อง “ปฏิรูปประเทศไทย” ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง แล้วประเทศไทยเราจะน่าอยู่ที่สุดในโลกอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น