วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

ปลัดณรงค์ : คนขี่เสือ

๑๒ มกราคม ๒๕๕๗

แม้ว่าเมื่อวานนี้ (๑๑ มกราคม) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เชิญปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาสอบข้อเท็จจริง ภายหลังจากที่ได้ออกแถลงการณ์ “หนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” รวมถึงนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “คงต้องตั้งกรรมการสอบว่ามีมูลความจริงหรือไม่”

แต่ผมคิดว่า “นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” หรือที่พวกเราเรียกว่า “ปลัดณรงค์” ไม่มีความหวั่นไหวใดๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อช่วงสายของวันนี้ (๑๒ มกราคม) ท่านได้กล่าวต่อหน้าประชาคมสาธารณสุขเกือบ ๓,๐๐๐ คน บริเวณหน้าตึกกระทรวงสาธารณสุขอย่างหนักแน่นว่า

“ขอขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ อย่าห่วงผมเลย ผมจะถูกปลดหรือไม่ ผมตัดสินใจไปแล้วตั้งแต่วันที่เดินออกมา เพราะฉะนั้นใครจะปลดก็ปลด เพราะผมคือนายณรงค์ ผมเพียงแต่หวังว่าไม่ว่าใครจะเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะมานำพวกเรา หากไม่มีธรรมาภิบาล พวกเราไม่ยอมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราต้องทำงานอย่างเต็มกำลัง ตำแหน่งปลัดกระทรวงเป็นตำแหน่งหัวโขน ผมตัดสินใจไปแล้ว ครอบครัวผมเห็นด้วยทั้งหมด ณ วันนี้ครอบครัวสาธารณสุขก็หวังว่าจะเห็นด้วยกับผม ตำแหน่งอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าคิดอะไร หัวใจคืออะไร ขอบคุณทุกคนที่มาในวันนี้ ขอบอกว่าตระกูลสหเมธาพัฒน์ขอบคุณทุกท่านที่นี่”

ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า คำว่า “ข้าราชการ” แปลว่า “ผู้ที่ทำงานของพระราชา” ดังนั้น “ผู้ที่ทำงานของพระราชา” ก็ย่อมหมายถึง “ผู้ที่ทำความยินดีให้เกิดทั่วบ้านทั่วเมือง” เมื่อเราคำนึงถึงความยินดีที่เราได้ทำให้เกิดขึ้นแก่คนทั่วบ้านทั่วเมือง ให้ความยินดีเกิดขึ้นแก่ประชาชน นี้คือความเสียสละความสุขส่วนตัวทุกประการเพื่อให้คนอื่นนอนตาหลับ

“ปลัดณรงค์” กำลังทำหน้าที่ตามความหมายดังกล่าวครับ

ความชัดเจนของเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖ ท่านได้ร่วมประชุมและได้ออกแถลงการณ์ในนามประชาคมสาธารณสุข ฉบับที่ ๓ แสดงจุดยืนให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก รวม ๕ ข้อ ดังนี้
(๑) ขอย้ำจุดยืนที่จะให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
(๒) เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกโดยทันที เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นกลางและยุติธรรม
(๓) เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว จึงยืนยันที่จะไม่ทำงานกับรัฐบาลชุดนี้
(๔) ยืนยันจะทำงานให้บริการดูแลประชาชนบนพื้นฐานจริยธรรมวิชาชีพอย่างเต็มที่ โดยไม่เลือกปฏิบัติ และ
(๕) พร้อมแสดงออกทุกวิถีทางเพื่อยืนยันจุดยืนดังกล่าว และขอเชิญชวนประชาคมทุกกระทรวง ทบวง กรม ออกมาแสดงจุดยืนร่วมกัน

ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของแถลงการณ์นั้นเหมือนตีแสกหน้าไปยังรัฐบาลชุดที่เป็นผู้บังคับบัญชาของท่านอย่างชัดเจน จึงนับเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบอันรุนแรงในชีวิตราชการของท่านเองได้

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมอดคิดถึงนวนิยายเรื่อง “คนขี่เสือ” ที่ประพันธ์โดย “ภวานี ภัฏฏาจารย์” และแปลเป็นภาษาไทยโดย “จิตร ภูมิศักดิ์” ซึ่งผมเคยนำเรื่องย่อมาเล่าไปก่อนหน้านี้ เรื่องราวช่างสอดคล้องกันเสียจริง ๆ ครับ

เมื่อ “กาโล” ต้องยอมปกปิดวรรณะจัณฑาลของตัวเองไว้ไม่ให้สังคมได้รับรู้ เพราะกลัวว่าชีวิตของตนและลูกสาวจะต้องกลับไปพบกับชีวิตที่แร้นแค้นอีกครั้ง แต่สุดท้ายเขาต้องเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะ ด้วยเหตุผลที่ทนรับกับความทุกข์ระทมของลูกสาวไม่ได้ ที่ต้องยอมแต่งงานกับคนที่ตนเลือก ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้รักและเห็นว่าเป็นการปฏิบัติผิดประเพณีที่สืบต่อกันมาในการแต่งงานข้ามวรรณะ

ผลตอบแทนที่ “กาโล” ได้รับ ในวันที่เขาประกาศต่อหน้าผู้มีชุมนุมในงานสำคัญทางศาสนาครั้งนั้น กลับเป็นเสียงโห่ร้องและปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีจากทุกคนทุกวรรณะที่มาชุมนุมกันในวันนั้น ที่กล้าประกาศ “ลงจากหลังเสือ” ที่ตนเองกำลังขี่อยู่

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สัก ๑ ปี ภายหลังการเข้ามารับตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงสาธารณสุข” ได้ไม่นาน ต่างมีเสียงประณามขับไล่จากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหลายกลุ่มและบ่อยครั้ง เพราะคิดว่าท่าน “เป็นมือเป็นไม้” ให้กับรัฐมนตรีที่มีแนวนโยบายที่เอื้อต่อทุนนิยมและมีใบสั่งมาจากผู้มีอำนาจ

นโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหลายเรื่องถูกแปลงในขั้นปฏิบัติโดยฝีมือของท่าน อาทิ นโยบายพีโฟว์พี (P4P) นโยบายเมดิคัลฮับ นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นโยบายเขตสุขภาพ เป็นต้น

การดำเนินตามนโยบายดังกล่าวนำมาสู่ความแตกแยกของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เกิดการต่อต้านจากเครือข่ายต่าง ๆ ถึงขั้นเดินขบวนประท้วงหลายครั้งหลายครา

ในครั้งนั้นผมก็คล้อยตามเสียงคัดค้านกับกลุ่มต่อต้านนโยบายเหล่านั้นไปด้วย โดยคิดว่า “ปลัดณรงค์” ก็คงไม่แตกต่างจากข้าราชการคนหนึ่งที่ยึดเก้าอี้ไว้เป็นเป้าหมาย ยอมศิโรราบให้กับฝ่ายการเมือง

แต่มาวันนี้เมื่อได้เห็นแถลงการณ์ในนามประชาคมสาธารณสุขที่ออกมาเช่นนั้น และได้ยินคำพูดของท่านที่ประกาศต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จย่าที่ศักดิ์สิทธิ์เมื่อเช้านี้ ทำให้ความคิดผมเปลี่ยนไป เพราะได้เห็นการกระทำที่บ่งบอกจิตสำนึกของความเป็นข้าราชการต่อประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน โดยมิได้หวั่นเกรงต่อผลกระทบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง ไม่ต่างกับ “กาโล” ที่ตัดสินใจประกาศให้สาธารณะรู้ว่าวรรณะที่แท้จริงของเขาคือวรรณะใด

บทสรุปของ “กาโล” ได้รับการปรบมือชื่นชมจากสังคมรอบด้านอย่างกว้างขวาง และให้อยู่ในฐานะทางสังคมเดิมต่อไป ในขณะที่อนาคตของ “ปลัดณรงค์” ยังไม่รู้ว่าผลสรุปจะออกมาในรูปใด

แม้ยังไม่รู้ว่าหนังเรื่องนี้จะจบอย่างไร แต่ดอกไม้จากผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับและศรัทธาจากสังคมหลายท่าน ที่ส่งผ่านสังคมออนไลน์ไปให้ท่านที่ตัดสินใจเพื่อรักษาเกียรติภูมิของบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ ก็นับเป็นเครื่องการันตรีว่าท่านตัดสินใจถูกแล้ว

สำหรับผมที่เคยเป็นอดีตข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข ก็อดที่จะแสดงความนับถือ ชื่นชมและศรัทธาต่อจิตวิญญาณที่เป็นพื้นฐานของการตัดสินใจของท่านครั้งนี้ ร่วมกับสังคมด้วยคนหนึ่งไม่ได้ เพราะสิ่งที่ท่านได้แสดงออกครั้งนี้นอกจากจะเป็นการรักษาเกียรติภูมิของกระทรวงสาธารณสุขไว้ ยังนับเป็นตัวอย่างในเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรมให้กับข้าราชการของทุกกระทรวงได้เป็นอย่างดี

เพราะหากท่านนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านก็คงเป็นแค่เพียง “ปลัดกระทรวงสาธารณสุข” ตามตำแหน่งที่ท่านได้รับมา อันไร้ซึ่งความรักความศรัทธาจากมวลมหาบุคลากรภายใต้การบังคับบัญชาของท่านอย่างแน่นอน

ณ วันนี้ ชื่อของ "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ได้ถูกสลักไว้ในใจของผมและสังคมไทยอย่างกว้างขวางในฐานะ “ข้าราชการของแผ่นดิน ของในหลวง และดวงใจของประชาชน” เรียบร้อยแล้ว เฉกเช่นเดียวกับที่ผู้คนต่างยกย่องเชิดชู “กาโล” ที่เป้น “คนขี่เสือ” และกล้าก้าวลงจากหลังเสือด้วยจิตใจแน่วแน่ มั่นคง และไม่หวั่นเกรงในสิ่งที่จะตามมาในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น